เกือบ 40 ปีที่กุมอำนาจ ทั้งประเทศอยู่ในมือของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศกัมพูชา จากเด็กหนุ่มจากครอบครัวยากจน ผู้เคยจับปืนร่วมขบวนการเขมรแดง สู่ผู้หักหลังอุดมการณ์และพรรคพวกที่เคยร่วมรบกันมา ไปเข้ากับกองทัพเวียดนามเพื่อโค่นล้มระบอบเขมรแดง
‘การหักหลัง’ ในครั้งนั้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนข้าง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการไต่เต้าขึ้นสู่ ‘อำนาจ’ ที่กุมทั้งประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด
นับตั้งแต่ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1985 เขาก็ไม่เคยปล่อยตำแหน่งและอำนาจในการควบคุมประเทศนี้หลุดมืออีกเลย แม้จะแพ้การเลือกตั้งในปี 1993 แต่ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้ใช้วิธีการข่มขู่คู่แข่งว่า หากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ถูกกันออกจากอำนาจอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองอีกครั้ง จึงทำให้เกิดการร่วมรัฐบาล กลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองโลก เมื่อ 1 ประเทศ มีนายกฯ 2 คนในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้ แล้วค่อยๆ ยึดทุกอย่างด้วยวิธีที่อาจดูนิ่มนวล แต่แท้จริงคือการใช้ความรุนแรง ที่เรียกว่าการ ‘รัฐประหารนิ่ม’
ภายใต้การปกครองของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น เขาบงการทุกอย่างในกัมพูชาให้เป็นดั่งใจ ผู้เห็นต่างไม่มีเสียงในประเทศ ทั้งยุบพรรคฝ่ายค้าน ปิดสื่ออิสระ คุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือแค่พูดความจริงเกี่ยวกับเขาและประเทศ
แม้ในปี 2023 ‘สมเด็จฮุน เซน’ จะประกาศวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และส่งไม้ต่อให้ลูกชาย ‘ฮุน มาเนต’ ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ แต่อำนาจเบื้องหลังก็ยังคงอยู่ในมือ ทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค และประธานวุฒิสภา ที่มีอำนาจในการปลดนายกฯ ได้
การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จึงไม่ใช่การเปิดประตูสู่ยุคใหม่ แต่เป็นการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือด จากชายผู้เคยลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการในอดีต สู่คนที่กลายเป็นเผด็จการเสียเอง
‘สมเด็จฮุน เซน’ เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่จังหวัดกำปงจาม เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 6 คน เขาเติบโตขึ้นในครอบครัวชาวนาที่ยากลำบาก เรียนหนังสือในวัดตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุ 13 ปี เขาต้องจากครอบครัวเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนสงฆ์ที่กรุงพนมเปญ
เมื่อ ‘สมเด็จฮุน เซน’ อายุราว 18 ปี ได้เข้าร่วมกับกองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา (CPK) หรือเขมรแดง โดยการนำของ พล พต (Pol Pot) เพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐประหารของนายพลลอน นอล (Lon Nol) ในปี 1970
บทบาทของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ในขบวนการเขมรแดงนั้นเริ่มไต่เต้าจากการเป็นนายทหารยศเล็กๆ จนได้ เป็นสมาชิกของสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (CPK Youth League) แต่เขากล่าวเสมอว่า ตนเองเป็นแค่ทหารยศเล็กๆ ไม่ได้มีตำแหน่งที่ใหญ่โตขณะเป็นสมาชิกพรรค แม้ข้อมูลหลายแหล่งจะระบุว่าเขาเป็นผู้บัญชาการในเขตตะวันออก
จนในวันที่ 17 เมษายน ปี 1975 ขบวนการเขมรแดงได้เข้ายึดกรุงพนมเปญ และสั่งให้อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากพื้นที่เพื่อสร้างสังคมใหม่
‘สมเด็จฮุน เซน’ กล่าวว่า เขาถูกสะเก็ดระเบิดก่อนวันที่เขมรแดงเข้ายึดพื้นที่ ทำให้ตาข้างซ้ายบอดและหมดสติไปราวหนึ่งสัปดาห์ และปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งอพยพประชาชนทั้งสิ้น
ต่อมาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีเดียวกันนั้น เขมรแดงได้เข้าปราบปรามหมู่บ้านของชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง ในขณะที่ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารในสังกัดตนเข้าร่วม เพราะทหารส่วนมากป่วยเป็นไข้ป่า
แต่พยานในเหตุการณ์รวมถึงอดีตทหารในกองกำลังกล่าวว่า ทหารได้ใช้ปืนครกขนาด 60 และ 82 มม. และกราดยิงชาวบ้านด้วยปืนไรเฟล และระเบิด RPG ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตหลายร้อยคน
อ้างอิง:
ต่อมา ‘สมเด็จฮุน เซน’ เริ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคโดยเฉพาะการสังหารผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่ ‘พล พต’ เริ่มสั่งการกวาดล้างสมาชิกเขมรแดงในเขตตะวันออกที่มองว่าไม่ภักดีหรือถูกสงสัยว่าเป็นสายลับของเวียดนาม ‘สมเด็จฮุน เซน’ จึงตัดสินใจหนีข้ามชายแดนไปประเทศเวียดนามในวันที่ 20 มิถุนายน 1977
เขาได้รวมตัวกับอดีตสมาชิกกลุ่มเขมรแดง และชาวกัมพูชาที่หลบหนีจากการกวาดล้างของ ‘พล พต’ และก่อตั้งแนวร่วมกู้ชาติกัมพูชา (Kampuchean United Front for National Salvation) ที่ต้องการปรับรูปแบบการปกครองประเทศที่ไม่รุนแรงเท่าระบอบเขมรแดง และได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามที่ไม่พอใจการขับไล่ชาวเวียดนามออกจากกัมพูชา
วันที่ 7 มกราคม 1979 กลุ่มแนวร่วมดังกล่าวได้บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญและโค่นล้มระบอบเขมรแดงได้สำเร็จ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คือ สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (PRK) ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และต่อมาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 33 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 1985
รัฐบาลภายใต้การนำของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ กำจัดฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามกับนโยบายของ PRK ที่รวมตัวกันเป็น รัฐบาลผสมแห่งกัมพูชาประชาธิปไตย (Coalition Government of Democratic Kampuchea) หรือ CGDK ประกอบไปด้วย กลุ่มเขมรแดง, พรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) นำโดยพระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร (KPNLF)
กัมพูชาภายใต้การปกครองของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ จึงมีนักโทษทางการเมืองกว่า 5,000 คน ทั้งชาวบ้านธรรมดา เกษตรกร หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ถูกจับกุมโดยใช้หลักฐานเท็จหรือการทรมานเพื่อบีบบังคับให้สารภาพ
อ้างอิง:
องค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องเข้ามาจัดการความไม่สงบทางการเมือง โดยจัดทำข้อตกลงสันติภาพปารีส (Agreements on a Comprehensive Political Settlement of the Cambodia Conflict) ในวันที่ 23 ตุลาคม 1991
มีการลงนามจาก 4 ฝ่ายของกัมพูชา ได้แก่ พรรครัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน, พรรคฟุนซินเปก, ขบวนการเขมรแดง, แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร (KPNLF) และการลงนามจากอีก 18 ประเทศนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 19 ประเทศ
นอกจากนี้ยังก่อตั้ง องค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) และจัดการเลือกตั้งให้กับกัมพูชาในปี 1993 ‘สมเด็จฮุน เซน’ เปลี่ยนชื่อพรรครัฐบาลของตนเป็น พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)
แต่ในขณะที่มีพรรคอื่นๆ ก่อตั้งขึ้น เขาก็ได้ตั้งหน่วยลับหลายกลุ่ม เพื่อคุกคามพรรคฝ่ายตรงข้าม มีรายงานจาก UNTAC และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า มีการคุกคามและสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งฝ่ายนานาชาติแสดงความกังวลว่าอาจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐหรือผู้มีอำนาจในรัฐบาลขณะนั้น
ภายหลังผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคฟุนซินเปก ซึ่งมีสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ได้คะแนนนำที่ 58 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรค CPP ของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้คะแนน 51 ที่นั่ง ‘สมเด็จฮุน เซน’ กลับไม่ยอมรับผล แสดงท่าทีแข็งกร้าว ขู่ใช้กำลัง และเสนอให้มีการปกครองแยกในเขตตะวันออก หากพรรค CPP ถูกกันออกจากอำนาจ
เนื่องจากอำนาจในการควบคุมกองทัพและตำรวจอยู่ในมือ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ทางออกที่สามารถประนีประนอมเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง คือการจัดตั้งรัฐบาลแบบผสม คือมีนายกรัฐมนตรี 2 คน ทั้งสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จฮุน เซน
อ้างอิง:
- https://www.refworld.org/reference/countryrep/hrw/1997/en/40385
- https://treaties.un.org/Pages/showDetails.aspx?objid=08000002800bb744&clang=_en
ภายหลังจากการได้ความช่วยเหลือและความร่วมมือจากนานาชาติ ในปี 1997 บรรยากาศทางการเมืองในกัมพูชากลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ความขัดแย้งระหว่างพรรค CPP กับพรรคฟุนซินเปก เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ประชาชนกว่า 200 คน นำโดย ‘สม รังสี’ อดีตรัฐมนตรีการคลังที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 1994 เพราะวิพากษ์วิจารณ์การทุจริต ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่บริเวณสวนสาธารณะตรงข้ามพระราชวังหลวง แต่กลับเกิดเหตุการณ์ขว้างปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย และผู้บาดเจ็บอีกประมาณ 150 ราย โดยมีพลเมืองชาวอเมริกันได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ และ FBI ต้องเข้ามาสอบสวน
รายงานของ FBI และองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า กองพล 70 ซึ่งเป็นหน่วยทหารพิเศษเพื่อรักษาความปลอดภัยส่วนตัวของ ‘สมเด็จฮุน เซน อาจมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนี และข่มขู่ผู้เห็นเหตุการณ์
แม้จะมีรายงานที่เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานของรัฐกัมพูชา แต่การสอบสวนไม่ได้มีความคืบหน้าต่อ และไม่มีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการต่อบุคคลใด จนเจ้าหน้าที่ FBI ถูกเรียกตัวกลับสหรัฐฯ
อ้างอิง:
- https://www.hrw.org/news/2012/05/31/10000-days-hun-sen
- https://www.hrw.org/report/2015/01/12/30-years-hun-sen/violence-repression-and-corruption-cambodia
ต่อมา ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้ใช้แนวทางเชิงยุทธศาสตร์ ในการรัฐประหารสมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ โดยสั่งกองกำลังทหารในสังกัดให้โจมตี ปลดประจำการกำลังทหารของสมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ และ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคฟุนซินเปก บางคนถูกจับกุม บางรายถูกสังหารหรือสูญหาย โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม
ในเช้าวันที่ 5 กองกำลังของ ‘สมเด็จฮุน เซน’ พยายามจะปลดอาวุธของพรรคฟุนซินเปก รองเสนาธิการของพรรคจึงสั่งให้กองกำลังทหารฝ่ายตนต่อต้านจึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงทั่วกรุงพนมเปญ
จากนั้นในเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม รถถังของกองกำลัง CPP ก็เข้าล้อมรอบบ้านของสมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ และผู้นำบางคนในพรรคฟุนซินเปก สมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ จึงต้องลี้ภัยออกจากประเทศ
ภายในเย็นวันนั้น สมเด็จฮุน เซน และพรรค CPP สามารถเข้าควบคุมพื้นที่หลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สนามบิน สถานีโทรทัศน์ และฐานทัพตังกาเซียง และประกาศใช้กฎอัยการศึก พร้อมกล่าวหาว่าสมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ลักลอบนำอาวุธเข้าประเทศและรวบรวมกองกำลังโดยอดีตผู้ร่วมขบวนการเขมรแดง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง
นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน ยังเรียกร้องให้ฝ่ายพรรคฟุนซินเปกที่ยอมให้ความร่วมมือ เสนอบุคคลอื่นขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งแทน แต่ในทางกระบวนการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญนั้น สมเด็จกรมเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ไม่เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและประณามต่อเหตุการณ์รัฐประหารนี้
อ้างอิง:
- https://www.hrw.org/reports/1997/cambodia/Cambodia-02.htm#P121_22515
- https://www.hrw.org/reports/1997/cambodia/Cambodia.htm
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 1998 โดยผลการเลือกตั้งนั้น พรรค CPP ได้ 64 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฟุนซินเปกได้ 43 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้สังเกตการณ์จาก UN รายงานว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการทุจริตและใช้ความรุนแรง คุกคามผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นธรรมและขาดความเป็นประชาธิปไตย
ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองหรือผู้เรียกร้องประชาธิปไตยถูกข่มขู่ คุกคาม หรือถูกปราบปรามอย่างรุนแรง
นอกจากการปราบปรามผู้เห็นต่างแล้ว สื่อมวลชนภายในประเทศยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยในปี 2017 ‘สมเด็จฮุน เซน’ ได้สั่งปิดเว็บไซต์ข่าว The Cambodia Daily โดยอ้างเรื่องภาษีย้อนหลัง รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินงานของ Voice of Democracy (VOD) สื่ออิสระในกัมพูชา โดยอ้างว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
นอกจากนี้ รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้เปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมถึงคาสิโน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้สำหรับฟอกเงินและฉ้อโกง โดยเฉพาะบริษัท Huione ในกัมพูชา ซึ่งกล่าวว่าให้บริการและสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ ในการกระทำผิดทางไซเบอร์ แต่บริษัทได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และรายงานยังระบุว่าองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีดาวเทียม Starlink เพื่อหลบเลี่ยงการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการจับกุม
แม้ในปัจจุบัน ‘สมเด็จฮุน เซน’ จะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศให้กับ ฮุน มาเนต ลูกชายของเขาตั้งแต่ปี 2023 แต่อำนาจทางการเมืองในกัมพูชายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค CPP
ขณะที่ตัวเขาเองก็ยังดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและหัวหน้าพรรค ซึ่งทำให้การเปลี่ยนผู้นำครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจภายในตระกูล มากกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบอบการเมือง
แม้จะขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการ เขาก็ถูกวิพากษ์อย่างหนักในเวลาต่อมาว่า ได้รวมศูนย์อำนาจอย่างยาวนาน จนกลายเป็นผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและนักวิเคราะห์หลายฝ่าย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของผู้นำประเทศที่เคยหลบหนีออกจากขบวนการเขมรแดง และล้มล้างระบอบนี้ด้วยข้ออ้างในการโค่นล้มอำนาจเผด็จการและการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่กลับลงหลักปักฐานในอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี จนกลายเป็นเผด็จการแบบที่ตนเคยต่อต้านเสียเอง
อ้างอิง:
- https://www.hrw.org/news/2012/05/31/10000-days-hun-sen
- https://www.hrw.org/news/2023/02/14/cambodia-hun-sen-extinguishes-media-freedom
- https://www.business-humanrights.org/en/latest-news/southeast-asia-un-report-analyses-evolution-of-scam-centres-underground-banking-illicit-online-marketplaces-incl-links-with-businesses-incl-cos-non-responses
- https://www.unodc.org/roseap/uploads/documents/Publications/2025/Inflection_Point_2025.pdf
อ้างอิงภาพ:
- Samdech Hun Sen of Cambodia / Facebook
- Southeast Asia Globe
- DAVID VAN DER VEEN
- กระทรวงสารสนเทศ ประเทศกัมพูชา