×

นักวิทย์ฯ ถอดรหัสพันธุกรรมที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ ‘โครโมโซมเพศชาย’ ได้แล้ว

โดย Mr.Vop
29.08.2023
  • LOADING...

โครงการถอดรหัสพันธุกรรม​มนุษย์ของ​สมาคม Telomere-to-Telomere (T2T) ร่วมกับทีมนักวิชาการ​นานาชาติ​ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 และประกาศความสำเร็จ​ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม​ 2022 นั้น ยังขาดโครโมโซม​ที่สำคัญ​และถอดรหัส​ยากที่สุด​ไป 1 ตัว นั่นคือโครโมโซม​ Y​ แต่ในที่สุด​ความพยายาม​ก็พาทีมงาน​มาถึงจุดหมาย​ 

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ​2023 ทีมงานร่วมกับเหล่า​นักวิทยาศาสตร์​อีกกว่า 100 ชีวิต​ ได้ประกาศ​ความสำเร็จ​ผ่านการตีพิมพ์​บทความเผยแพร่​ลงในวารสาร Nature​ ถึงการที่สามารถถอดรหัสอันซับซ้อนและมีคู่เบสที่เรียงตัวซ้ำกลับไปกลับมาแบบพาลินโดรม* ของโครโมโซม​ Y ได้จนครบสมบูรณ์​

 

“ก่อน​หน้านี้ทีมงานเราพบปัญหาการเรียงตัวซ้ำของคู่เบสในโครโมโซม​ Y​ จนสับสน แต่ด้วยเทคโนโลยีการหาลำดับและอัลกอริทึมทางชีวสารสนเทศในยุคหลัง ทำให้ความยุ่ง​ยากเหล่านี้หมดไป

 

“เวลานี้เรามีลำดับโครโมโซม Y ครบ 100% แล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะสามารถระบุและสำรวจความแปรผันทางพันธุกรรมมากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อลักษณะและโรคของมนุษย์ ในแบบที่เราไม่สามารถทำได้มาก่อน” ดีแลน เทย์เลอร์ นักพันธุศาสตร์ของ Johns Hopkins หนึ่งในทีมงานกล่าว

 

สิ่งที่ได้จากการถอดรหัส​โครโมโซม​ Y จะช่วยให้เราศึกษาสภาวะและความผิดปกติที่เชื่อมโยงกับโครโมโซมได้ง่ายขึ้น เช่น ความบกพร่อง​ในการผลิตสเปิร์มที่นำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก เคนเนธ วอลช์ ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและอณูพันธุศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ซึ่งอยู่นอกทีมวิจัยให้ความเห็น​

 

“โครโมโซม Y เป็นความลึกลับดำมืดไม่ต่างจาก ‘สสารมืด’ ในจักรวาล​ของของจีโนมเสมอมา” ศาสตราจารย์เคนเนธกล่าวเสริม​ “แต่นับจากนี้​ก็เหมือนเรามีแผนที่นำทางไปสู่หนทางใหม่ๆ ในการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง​กับพันธุกรรม ​เช่น โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ”

 

ยังมีบางสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น อาการสูญเสียโครโมโซม​ Y​ จากเซลล์​เม็ดเลือดแดงในผู้ชายบางคนเมื่ออายุมากขึ้น​ ซึ่งส่งผลต่อความรุนแรงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และยังเพิ่ม​ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ การเปิดเผยลำดับของรหัสพันธุกรรม​ที่พบจากโครโมโซม​ Y อาจทำให้เราพบความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และหาทางแก้ไขได้ในที่สุด ศาสตราจารย์เคนเนธ​ทิ้งท้าย

 

ทีมงานตีพิมพ์ผลงานครั้งนี้ลงในวารสาร Nature ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2023 www.nature.com/articles/s41586-023-06457-y

 

ภาพ: Vchal via ShutterStock

อ้างอิง: 

FYI
  • ร่างกายมนุษย์​เราประกอบขึ้นด้วยสารพันธุกรรม หรือ DNA (Deoxyribonucleic Acid) สำหรับเก็บรหัสเพื่อใช้ในการสร้างโปรตีนต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ที่อยู่​ของ DNA คือภายในนิวเคลียสของเซลล์ โดย DNA จะลักษณะ​เป็นสายยาว 2 สาย ไขว้กันเป็นเกลียว แต่ละสายประกอบด้วยน้ำตาลและเบส 4 ชนิด คือ A, T, G และ C จับคู่กัน เรียกว่าคู่เบส เรียงต่อกันไป สายของ DNA ที่พบในนิวเคลียสนี้จะปะปนอยู่กับโปรตีนบางชนิด โดยจะขดตัวรวมกันอยู่ ลักษณะคล้ายปาท่องโก๋ เรียกว่า ‘โครโมโซม’ ทั้งนี้ ในแต่ละเซลล์ของมนุษย์มีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ หรือ 46 แท่ง ซึ่งชุดของ DNA ทั้งหมดนี้เรียกกันว่า จีโนม (จะประกอบด้วยคู่เบสประมาณ 3.1 พันล้านคู่เบส)​
  • พาลินโดรม คือ คำ วลี จำนวน หรือลำดับ ที่สามารถอ่านจากหลังไปหน้าหรือหน้าไปหลังแล้วมีความหมายเหมือนกัน เช่น CIVIC, TENET, LEVEL, ยาย, นอน หรือจำนวน เช่น 919 และ 1234321​ หรือลำดับคู่เบสในสาย DNA ในบทความ​นี้ เช่น ATGC… CCGGCCTATA… ATATCCGGCC… CGTA
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X