วานนี้ (17 กุมภาพันธ์) พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูต 18 ประเทศ, สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) และสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations: HSI) ร่วมกันประชุมหารือป้องกันการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมทางออนไลน์
พล.ต.อ. ธัชชัย เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแจ้งผลการปฏิบัติภายหลังการประชุมร่วมกันในครั้งแรก โดยมีการดำเนินการตาม 7 มาตรการเข้มของ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการซักถามคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปยังพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อป้องกันการหลอกลวงข้ามแดนไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา
ซึ่งพบว่ามาตรการดังกล่าวเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวสัญชาติต่างๆ จำนวน 58 คน ที่เปลี่ยนใจไม่เดินทางต่อไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลไทย โดยมีการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมันเชื้อเพลิง ในฝั่งเมียวดี พบว่าสามารถกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ มีการปล่อยตัวคนจากเครือข่ายอาชญากรรมกลับมาจำนวนมาก และสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้บางส่วน ซึ่งสถานทูตประเทศต่างๆ ชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น
พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับสถานทูตทุกประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและ IP Address เพื่อสามารถตรวจสอบจุดที่เป็นที่ตั้งของกลุ่มดังกล่าว ซึ่งต้องประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ว่ายังมีคนที่ถูกหลอกจากพื้นที่เมียวดีอีกหรือไม่ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติสร้างแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสถานทูตประเทศต่างๆ ไว้แล้ว เพื่อให้สะดวกในการทำงานร่วมกันต่อไป
ส่วนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือถูกปล่อยตัวกลับมาชุด 260 คน ทั้งหมดกำลังเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อแยกระหว่างผู้เสียหายและกลุ่มมิจฉาชีพ โดยใช้แบบสอบถามและขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ซึ่งจะทราบผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับตัวมา จากนั้นเมื่อคัดแยกผู้เสียหายได้แล้วจะประสานสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศรับตัวกลับทันที โดยจะใช้ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก เป็นจุดส่งตัวกลับ และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประเทศใดไม่มีความประสงค์จะรับตัวประชากรกลับ
ส่วนผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับมาคาดว่าจะมีประมาณ 10,000 คน ซึ่งขณะนี้ทางการไทยอยู่ระหว่างการเจรจาให้ขั้นตอน NRM เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา เนื่องจากเป็นประเทศต้นทางที่เกิดเหตุ ส่วนผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับมาอีกประมาณ 500 คนภายในสัปดาห์นี้ ทางการไทยก็อยู่ระหว่างการเจรจาให้ทำแบบคัดกรอง NRM ที่ฝั่งประเทศเมียนมาเช่นกัน
จเรตำรวจแห่งชาติยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นเพียงตัวกลางในการประสานให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายเท่านั้น โดยผู้ที่ผ่านการคัดกรองและยืนยันว่ามีสถานะเป็นผู้เสียหาย หากมีความประสงค์จะดำเนินคดี ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีที่ประเทศเมียนมา