×

ประชาชนประท้วง-องค์กรสิทธิมนุษยชนคัดค้านฮุนเซนเยือนเมียนมา หวั่นรัฐบาลทหารได้รับความชอบธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2022
  • LOADING...
ฮุนเซน

เกิดการชุมนุมประท้วงในหลายเมืองของเมียนมาเมื่อวันศุกร์ (7 มกราคม) หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา เดินทางเยือนประเทศ และเข้าพบพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ โดย ฮุนเซน ถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารในประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  

 

การประท้วงเกิดขึ้นในเมืองวัฒนธรรมและศาสนาของเมียนมาอย่างมัณฑะเลย์ เดปายิน รวมไปถึงเขตตะนาวศรี และโมนยวา โดยคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์แสดงให้เห็นภาพกลุ่มผู้ประท้วงเผารูปผู้นำกัมพูชา พร้อมกับร้องตะโกนว่า “ฮุนเซนอย่ามาเมียนมา เราไม่ต้องการผู้นำเผด็จการฮุนเซน” 

 

การเดินทางเยือนของผู้นำกัมพูชาสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวเมียนมา ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร 

 

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า การพบกันของ ฮุนเซน และ มิน อ่อง หล่าย ถือเป็นการ ‘ดูหมิ่นประชาชนชาวเมียนมาที่คัดค้านการเยือนครั้งนี้อย่างรุนแรง’

 

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านใต้ดินและรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา เรียกร้องให้ฮุนเซนอยู่ห่างๆ “การเข้าพบ มิน อ่อง หล่าย และจับมือที่เปื้อนเลือด จะไม่ได้รับการยอมรับ” โฆษกของ NUG กล่าว

 

ทั้งนี้ นอกจากตำแหน่งผู้นำกัมพูชาแล้ว ฮุนเซน ยังเดินทางเยือนเมียนมาในฐานะที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนปีนี้ โดยอาเซียนถือเป็นผู้นำความพยายามทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา อย่างไรก็ตาม สมาชิกบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย แสดงความไม่พอใจต่อความล้มเหลวของรัฐบาลทหารเมียนมาในการดำเนินการตามแผนสันติภาพของอาเซียน 

 

“สิ่งที่ผมต้องการจะนำเสนอในการพูดคุยหารือนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจาก 5 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องร่วมกัน” ฮุนเซน กล่าวก่อนออกเดินทางจากกัมพูชา

 

เอเมอร์ลินน์ กิล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยระดับภูมิภาคของ Amnesty International กล่าวว่า อาเซียนควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อจัดการกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายมากของประเทศ

 

กองทัพเมียนมาระบุว่า ฮุนเซน จะไม่พบกับออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือน ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 2 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว ในความผิดฐานยุยงต่อต้านทหาร และฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมโควิด-19 โดยคำตัดสินดังกล่าวเป็นคดีแรกจากนับสิบคดีที่เธอถูกตั้งข้อหา ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิด 

 

ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,445 คน และถูกจับกุม ตั้งข้อหา หรือถูกตัดสินจำคุก 8,437 คน จากการที่กองทัพเมียนมาเดินหน้าใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง

 

ภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising