สวี่เจียอิ้น (Xu Jiayin) ในภาษาจีนกลาง หรือ ฮุยคายัน (Hui Ka Yan) ในภาษากวางตุ้ง ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน เคยเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในเอเชียมาก่อน แต่เวลานี้เขากำลังถูกสอบสวนจากกรณีต้องสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญา ในขณะที่บริษัทของเขากำลังสั่นคลอนเนื่องจากเป็นหนี้สูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์
ชายวัย 64 ปี เกิดมาในครอบครัวยากจน ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาณาจักรธุรกิจอันกว้างใหญ่ เขาเคยมีทรัพย์สินมากถึงราว 4.25 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อครั้งติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ในปี 2017
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Evergrande ยื่นล้มละลายอาจไม่ใช่ปัญหาใหม่ แล้วอะไรคือความอันตรายต่อเศรษฐกิจจีนเวลานี้
- เศรษฐกิจจีนเหมือนระเบิดเวลา? การเติบโตชะลอตัว อสังหาวิกฤต รัฐบาลจะปลดชนวนอย่างไร?
สวี่เจียอิ้น คือใคร?
สวี่เจียอิ้น เกิดเมื่อปี 1958 ในชนบทของจีน วัยเด็กของเขาได้รับอิทธิพลจากนโยบายก้าวกระโดด หรือ Great Leap Forward ของเหมาเจ๋อตง เพื่อสร้างจีนจากประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในประเทศไปนับล้าน
สวี่ได้รับการเลี้ยงดูจากยายของเขาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน หลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดขณะที่เขาอายุได้เพียง 8 เดือน
หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในปี 1982 เขาได้ทำงานเป็นช่างเหล็กอยู่สิบปี ก่อนเปลี่ยนงานไปเป็นพนักงานขายของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ของจีน ซึ่งที่นั่นเองที่เขาได้ก่อตั้งบริษัทเอเวอร์แกรนด์ขึ้นในปี 1996 พร้อมนำพาบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของจีนกำลังเฟื่องฟู
“เขาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ใครก็สามารถรวยได้ หากคุณฉลาดพอ และทำงานหนักมากพอ” อลิเซีย การ์เซีย เอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Natixis วาณิชธนกิจสัญชาติฝรั่งเศส กล่าว
ในปี 2008 สวี่ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานานกว่าสามทศวรรษ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของที่ประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำธุรกิจแถวหน้าของประเทศ
ภาพถ่ายของสวี่ในการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเห็นเขาคาดเข็มขัดแบรนด์หรูของฝรั่งเศสอย่าง Hermès ที่มีหัวเข็มขัดเป็นรูปตัว H สีทอง ได้กลายเป็นกระแสไวรัลบนโซเชียลมีเดียในปี 2012 และทำให้เขาได้รับฉายาว่า ‘Belt Brother’
เอเวอร์แกรนด์โตระเบิด
เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถระดมทุนได้ 9 พันล้านดอลลาร์ในการจดทะเบียนที่ตลาดหุ้นฮ่องกงในปี 2009
การเติบโตดังกล่าวถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีการ ‘Maximum Leverage’ ของสวี่ หรือการลงทุนโดยใช้วิธีกู้ยืมเงินจำนวนมาก
“เอเวอร์แกรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว และยิ่งเร็วขึ้นอีกหลังจากที่เขาได้ผูกมิตรกับกลุ่มนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รวยและทรงอิทธิพลที่สุดในฮ่องกง และบริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง” แจ็กสัน ชาน จากแพลตฟอร์มวิจัยตลาดการเงิน Bondsupermart กล่าว
“เขาได้รับการสนับสนุนมากมายจากเพื่อนกลุ่มนี้ เมื่อพวกเขาซื้อหุ้นและหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จำนวนมากเพื่อช่วยให้บริษัทเติบโต”
โมเดลธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์คือการกู้ยืมเงินจำนวนมาก จากนั้นจึงเร่งขายอพาร์ตเมนต์ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเอเวอร์แกรนด์มีโครงการมากกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมืองของจีน ตามข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์ของกลุ่มบริษัท
อาณาจักรธุรกิจของสวี่ขยายตัวไปไกลกว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยครอบคลุมธุรกิจเช่น การบริหารความมั่งคั่ง การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสโมสรฟุตบอลชั้นนำของจีนอย่างกว่างโจว เอฟซี อีกด้วย
จากรุ่งสู่ร่วง
ในปี 2020 ปักกิ่งได้ออกกฎใหม่เพื่อควบคุมภาระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่
มาตรการใหม่ทำให้เอเวอร์แกรนด์เสนอขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมด้วยส่วนลดจำนวนมาก ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อไม่ให้ธุรกิจล้ม แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันบริษัทกำลังดิ้นรนเพื่อชำระหนี้
วิกฤตครั้งนี้ทำให้มูลค่าบริษัทตามราคาตลาดหายไปถึง 99% และทรัพย์สินของสวี่ดิ่งลงเหลือ 3.2 พันล้านดอลลาร์
เอเวอร์แกรนด์ระงับการซื้อขายหุ้นในฮ่องกง ในขณะที่สวี่กลายเป็นมหาเศรษฐีชาวจีนคนล่าสุดที่ถูกทางการจีนสอบสวน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การที่ชนชั้นสูงที่ร่ำรวยของจีนถูกทางการตรวจสอบนั้นมีความเชื่อมโยงกับนโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
“สวี่เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวยมหาศาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากวิถีชีวิตอันหรูหราฟู่ฟ่าของเขา เช่น การบินไปรอบโลกด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว” เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการจีนที่แมนส์ฟิลด์เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยมอนแทนา กล่าวกับ BBC
เอเวอร์แกรนด์ล้ม สำคัญอย่างไร?
“สีแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความมั่งคั่งมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแสดงต่อสาธารณะเช่นสวี่นั้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม” โรเบิร์ตส์กล่าว
แม้ว่ายังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการสอบสวนสวี่ แต่บทความแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน ระบุว่า ผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
“การจำกัดความสูญเสียของผู้ซื้อบ้านควรเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดรองลงมาในการจัดการกับวิกฤตเอเวอร์แกรนด์” หูสื่อจวิน อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ระบุ
“เราควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามกฎหมาย รายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่อง และพิจารณาว่าจะช่วยลูกค้าของบริษัทอย่างไรให้ได้มากที่สุด” เขากล่าวเสริม
ภาพ: VCG / VCG via Getty Images
อ้างอิง: