วันพุธที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศจีน หัวเว่ย บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้ออกมาเรียกร้องให้ศาลสหรัฐฯ พิจารณาคำสั่งแบนห้ามทำธุรกิจกับบริษัทของตนตามพระราชบัญญัติการอนุมัติการกลาโหมแห่งชาติ (2019 NDAA) มาตรา 899 เนื่องจากเป็นการกระทำที่มิชอบและผิดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ถูกต้อง
พ.ร.บ. การอนุมัติการกลาโหมแห่งชาติฉบับ 2019 มาตรา 899 ว่าด้วย ‘ข้อห้ามด้านโทรคมนาคมและอุปกรณ์ในกลุ่มกล้องวงจรปิด’ มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามมิให้หน่วยงานรัฐบาลจัดหา ใช้งาน หรือต่อสัญญาการใช้ระบบและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตขึ้นโดย ‘หัวเว่ย’ และ ZTE เด็ดขาด รวมถึงห้ามดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทเอกชนที่ใช้ระบบโทรคมนาคมจากผู้ให้บริการ 2 รายดังกล่าว
พร้อมให้เหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของโครงสร้างภายในรัฐบาลสหรัฐฯ โดยบอกว่า การใช้กล้องวงจรปิดและอุปกรณ์โทรคมนาคมใดๆ ก็ตามที่ผลิตโดยบริษัท Hytera Communications Corporation, Hangzhou Hikvision Digital Technology Company และ Dahua Technology Company หรือบริษัทใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้ถือเป็นข้อห้าม เพราะข้อมูลทั้งหมดอาจจะตกอยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐบาลจีน
ดร.ซ่งหลิวปิง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายประจำบริษัทหัวเว่ย กล่าวว่า การแบนหัวเว่ยโดยใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ไม่ได้ช่วยให้ระบบเน็ตเวิร์กปลอดภัยและมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะยกประเด็นนี้มาเบี่ยงเบนความสนใจจากความท้าทายที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายจะต้องเผชิญ
“นักการเมืองในสหรัฐฯ กำลังใช้ความมั่นคงและความแข็งแกร่งของประเทศมาไล่บีบบริษัทเอกชน เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ธรรมดา และไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทั้งยังไม่มีหลักฐานในการระบุว่าหัวเว่ยคือภัยคุกคามด้านความมั่นคง ไม่มีทั้งปืน ระเบิดควัน มีแต่การกล่าวหากันเท่านั้น”
ซ่งยังกล่าวถึงประเด็นที่หัวเว่ยถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำห้ามไม่ให้บริษัทในประเทศดำเนินธุรกิจด้วยว่า ถือเป็นการกระทำที่อันตราย และในอนาคตบริษัทในประเทศอื่นๆ ก็อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับหัวเว่ยได้เช่นกัน “เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นต้นแบบความอันตรายรูปแบบหนึ่ง วันนี้โทรคมนาคมและหัวเว่ยได้รับผลกระทบ แต่ใครจะไปทราบว่าพรุ่งนี้ อุตสาหกรรมของคุณ บริษัท และลูกค้าของคุณอาจจะได้รับผลกระทบก็ได้
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยกว่า 3 พันล้านรายใน 170 ประเทศทั่วโลก
“อำนาจตุลาการเป็นหน้าด่านสุดท้ายสำหรับความยุติธรรม หัวเว่ยมั่นใจในความเป็นอิสระจากรัฐ ความเที่ยงตรงของระบบตุลาการสหรัฐฯ และหวังว่าความผิดพลาดในพระราชบัญญัติการอนุมัติการกลาโหมแห่งชาติที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไขให้ถูกต้องได้ในท้ายที่สุด”
ทั้งน้ี ศาลจะนัดรับคำร้องของหัวเว่ยในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้
ภาพ: หัวเว่ย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: