คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าการตัดสินใจขึ้นบัญชีดำแบน Huawei โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ห้ามไม่ให้บริษัทในประเทศสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจด้วยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะยังคงส่งผลรุนแรงและสั่นคลอนโลกทั้งใบได้ถึงขนาดนี้
โดยเฉพาะบรรดาผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนแบรนด์ Huawei ทั้งหลายที่ต่างก็เกิดความรู้สึกเดียวกันคือ ‘ไม่ปลอดภัย’ กลัวว่าวันดีคืนดีจู่ๆ โทรศัพท์มือถือของตัวเองจะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google Gmail, YouTube หรือ Play Store ไม่ได้
THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 2 เดือนที่แล้ว ทั้งในประเด็นผลกระทบ แผนการของ Huawei ไทยต่อจากนี้ และการเดินหน้าทำธุรกิจเพื่อช่วยคลี่คลายความกังวลใจของใครหลายคน
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 ที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) Huawei มีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์มือถือไทยเป็นอันดับ 2 ที่ 20% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว +5% ส่วนเซกเมนต์มือถือเรือธง (แฟลกชิป) Huawei ประกาศตัวว่าพวกเขาคือเบอร์หนึ่งของตลาด โดย P30 ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ มียอดจองล่วงหน้ามากกว่า P20 มากถึง 2.5 เท่า นับเป็นผลตอบรับที่เหนือความคาดหมายพอสมควร
อิงมาร์บอกว่า ความมุ่งมั่นหลักของ Huawei ที่มีต่อตลาดประเทศไทยยังคงมองถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ดังนั้นขอให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้เลยว่าแบรนด์ Huawei จะยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีแล้ว หลักฐานคือ
- ยอดขายในไทยเริ่มกลับมาเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดันแคมเปญโปรโมชันต่างๆ โดยเฉพาะ Grand Sale ที่เปลี่ยนมาเริ่มต้นช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2562 จากเดิมธันวาคม
- ครึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบลงทุนด้านการทำตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40% เมื่อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นที่ราวๆ 20-30%
- ปัจจุบันมีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่าย 7 ราย (Synnex, Jaymart, BaNANA (Com7), TG FONE, CSC, AIS และ True) ที่ร่วมแคมเปญสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค คืนเงินเต็มจำนวน 100% ถ้าสมาร์ทโฟนที่ซื้อไปใช้แอนดรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ Google ไม่ได้ภายใน 2 ปี (ให้เหตุผลการจำกัดกรอบเวลา 2 ปีว่าเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายในไทย)
ประเด็นที่หลายคนกังวลที่สุดคือ สมาร์ทโฟน Huawei จะยังใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google ได้ต่อไปหรือไม่ อิงมาร์ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของ Huawei ทั้งที่จำหน่ายไปแล้วและเตรียมจะเปิดตัว จะยังใช้งานระบบปฏิบัติการและระบบนิเวศของแอนดรอยด์และ Google ได้ตามปกติ
หนึ่งในเหตุที่ทำให้ Huawei และอิงมาร์เชื่อเช่นนั้น เพราะปัจจุบัน Huawei ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนและพัฒนาแอนดรอยด์เป็นอย่างมาก เช่น การมีส่วนร่วมพัฒนา Linux Kernel บนแอนดรอยด์ที่ 1.5% เปรียบเทียบกับฝั่ง Google อัตราดังกล่าวอยู่ที่ราว 3.0% นอกจากนี้แอนดรอยด์ก็เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Source) ที่ใครก็สามารถกระโดดเข้ามาร่วมพัฒนาได้อยู่แล้ว
แต่แน่นอนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อิงมาร์เปรยว่า Huawei ก็มีไพ่สำรองหรือแพลนบีในมือเสมอ แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มาก เพราะแอนดรอยด์ยังเป็น ‘First Priorities’ ที่ Huawei จะยังให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ส่วนปัญหาชิ้นส่วนชิปที่หลายคนกังวล Huawei ยืนยันว่าสามารถผลิตได้ด้วยตัวเองแล้ว
“ผมเชื่อว่าปัญหานี้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น Huawei ยังอยู่ในสถาการณ์ที่ดี ทุกคนยังมุ่งมั่นขยันขันแข็งเพื่อเดินหน้าทำให้ยอดขายกลับมาปกติ ทั้งหมดกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดี ธุรกิจของ Huawei จะไม่ได้รับผลกระทบ”
ขณะที่ข่าวคราวการลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหารไทยนั้น อิงมาร์บอกว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงานที่มีการโยกย้ายงานเป็นธรรมดา แถมบุคลากรไทยที่สำคัญคนอื่นๆ ก็ยังทำงานกับ Huawei ตามเดิม ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ภาพของ Huawei ในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้ที่น่าจะชัดมากขึ้นคือ กลยุทธ์การผลักดันเทคโนโลยีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 5G ที่ ณ วันนี้ Huawei ตั้งงบลงทุนด้านการทดสอบในไทยแล้ว 160 ล้านบาท แถมยังมีการทดสอบใช้งานสัญญาณผ่าน Mate 20 X 5G กับ AIS และ True ไปแล้ว และเร็วๆ นี้เราน่าจะได้เห็นความคืบหน้ากัน
นับเป็นสถานการณ์ที่ ‘เหนื่อยหน่อย’ สำหรับค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีนรายนี้ โดยเฉพาะการต้องรับมือกับปัญหาที่ถาโถมรอบด้าน แม้ครึ่งปีหลังสำหรับ Huawei จะยังไม่ง่าย แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเริ่มพลิกเกมสร้างความมั่นใจจากผู้บริโภคให้ได้อีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า