×

Huawei แซงหน้า Apple ครองบัลลังก์แบรนด์มือถืออันดับ 2 ของโลกสำเร็จได้อย่างไร?

07.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านข้อมูลงานวิจัยชื่อดังอย่างเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช เผยว่า หัวเว่ยสามารถทำยอดขายผลิตภัณฑ์ประจำเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมของปี 2017 แซงหน้าแอปเปิ้ลได้สำเร็จ ตามหลังแค่ซัมซุงเท่านั้น โดยยกความดีความชอบให้กับการใช้เม็ดเงินมหาศาลลงทุนไปกับหน่วยงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการขายและการรุกทำตลาดด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
  • หนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้หัวเว่ยประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมรับมาจากการที่พวกเขามักร่วมมือกับแบรนด์ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างทางลัดในการนำความรู้จากแบรนด์เหล่านั้นมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีคุณภาพมากที่สุด
  • หลายฝ่ายมองว่า สาเหตุที่ยอดขายโทรศัพท์มือถือรวมของแอปเปิ้ลในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมาร่วงลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกำลังรอคอยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของพวกเขาที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้

     ถือเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ได้รับความนิยมติดตลาดและครองใจผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว สำหรับ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) แบรนด์โทรศัพท์มือถือจากประเทศจีน ที่ล่าสุดสามารถขึ้นครองตำแหน่งแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับที่ 2 ของโลกได้สำเร็จ แซงหน้าคู่แข่งอย่างแอปเปิ้ล (Apple) และเป็นรองเพียงแค่ซัมซุง (Samsung) เท่านั้น

 

Photo: SAJJAD/AFP

     บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านข้อมูลงานวิจัยชื่อดังอย่างเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช (Counterpoint Research) เผยว่า หัวเว่ยสามารถทำยอดขายผลิตภัณฑ์ประจำเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมของปี 2017 แซงหน้าแอปเปิ้ลได้สำเร็จ ตามหลังแค่ซัมซุง โดยทีมวิจัยยกความดีความชอบในความสำเร็จครั้งนี้ของหัวเว่ยว่ามาจากการใช้เม็ดเงินมหาศาลลงทุนไปกับหน่วยงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการขายและการรุกทำตลาดด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

 

Photo: Counterpoint Research

 

     ถ้ายังจำกันได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวเว่ยประกาศว่าพวกเขาสามารถแซงหน้าแอปเปิ้ลขึ้นเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ของโลก เนื่องจากช่วงเดือนธันวาคม ปี 2016 อัลเลน หวัง (Allen Wang) ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในอินเดียก็เคยออกมาเคลมว่า พวกเขาทำยอดขายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกในเดือนดังกล่าวแซงหน้าแอปเปิ้ลอยู่ที่ 1.2% (หัวเว่ยมียอดขายทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 13.2% ส่วนแอปเปิ้ลมียอดขายทั่วโลกเฉลี่ย 12%)

     อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว สื่อหลายสำนักยังไม่กล้าฟันธงว่าหัวเว่ยได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 บนบัลลังก์เจ้าแห่งแบรนด์โทรศัพท์มือถือจริง เนื่องจากข้อมูลด้านยอดขายจากการเปิดเผยของแต่ละแบรนด์ไม่ตรงกัน ตรงข้ามกับครั้งนี้ที่บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านข้อมูลงานวิจัยเป็นฝ่ายออกมาเผยข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งดูจะมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

 

Photo: LLUIS GENE/AFP

เคล็ดลับความสำเร็จของ ‘แบรนด์โทรศัพท์ที่ไม่ได้มีดีแค่กล้องไลก้า!’ กับการเพาะบ่มแบรนด์นานกว่า 30 ปีเต็ม

     ร่ายยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าหลายคนก็ยังสงสัยกันอยู่ดีว่าปัจจัยความสำเร็จของหัวเว่ยในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? จริงอยู่ที่ดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โทรศัพท์มือถือของพวกเขาได้รับความนิยม แต่แค่สองอย่างนี้คงไม่พอ

     จากการเปิดเผยข้อมูลรายรับประจำปี 2016 ของหัวเว่ยพบว่า พวกเขามีรายรับตลอดทั้งปีมากถึง 521,574 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท! โดยคิดเป็นกำไรสุทธิ 37,052 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.88 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ากำไรมหาศาลขนาดนี้ ทุกอย่างคงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วยแน่นอน

     ต้องบอกว่าเดิมที ตอนที่ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยขึ้นมาเมื่อปี 1987 พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็นค่ายผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถือตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ แต่เริ่มต้นจากการเป็นค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในประเทศมาก่อน โดยเหรินหวังจะผลิตสวิตช์ชุมสายโทรศัพท์ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างชาติ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และเพื่อตอบรับนโยบายของจีนในช่วงนั้นที่กำลังจะปฏิรูปโครงสร้างโทรคมนาคมให้ทันสมัย

     จนกระทั่งปี 2003 หัวเว่ยก็คิดการใหญ่ หวังตบเท้าเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ แน่นอน เมื่อคิดจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้แล้ว พวกเขาย่อมรู้ช่องโหว่และจุดอ่อนของตัวเองดีว่ายังไม่มีประสบการณ์และความรู้ในการสร้างโทรศัพท์มือถือมากพอ

     เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงสร้าง ‘ทางลัด’ ของตัวเองขึ้นมาด้วยการไปเซ็นสัญญาเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น เมื่อคิดจะผลิตโทรศัพท์เป็นของตัวเองก็ไปจับมือกับ T-Mobile ค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ก่อนที่ 6 ปีต่อมาจะเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ‘IDEOS’ ออกมาได้สำเร็จ

     หลังจากนั้นพวกเขาก็ยังใช้วิธีลัดนี้อยู่เรื่อยๆ เช่น เมื่อคิดจะพัฒนาโทรศัพท์มือถือที่มีฟีเจอร์เด่นด้านกล้องถ่ายรูป ก็ไปจีบแบรนด์ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปไลก้า (Leica) มาเสียเลย จนในที่สุดก็สามารถนำเลนส์ของไลก้ามาติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือรุ่น Huawei P9 ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2016 สร้างความฮือฮาให้กับวงการโทรศัพท์มือถืออย่างท่วมท้น เช่นเดียวกัน เมื่ออยากได้ความรู้เรื่องกระบวนการผลิตและสร้างลำโพง หัวเว่ยก็หันไปจับมือกับ Harman Kardon ผู้พัฒนานวัตกรรมเครื่องเสียงจากสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเปิดตัวแท็บเล็ต MediaPad M3 ที่มาพร้อมกับระบบเครื่องเสียงจาก Harman Kardon

     โดยในระหว่างนี้ยังเริ่มจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในหลายๆ ประเทศขึ้นมาพร้อมๆ กัน กระทั่งเมื่อปี 2016 หัวเว่ยก็มีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองมากถึง 21 แห่งในกว่า 15 ประเทศทั่วโลก

อีกหนึ่งวิธีลัดในการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์โทรศัพท์จากจีนให้ดูน่าเชื่อถือจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือการเซ็นสัญญาใช้พรีเซนเตอร์คนดังในโลกฮอลลีวูดอย่างเฮนรี่ คาวิลล์ และสกาเล็ตต์ โจแฮนส์สัน มาเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์หัวเว่ยดูอินเตอร์และทันสมัย

     ทารัน พาธัค (Tarun Pathak) รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเคาน์เตอร์พอยต์ฯ ได้วิเคราะห์ความสำเร็จของแบรนด์โทรศัพท์มือถือจากจีนรายนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในปัจจุบัน ค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจากประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีนักพัฒนาแอปพลิเคชันและช่องทางในการจัดจำหน่ายไม่แพ้แอปเปิ้ลหรือซัมซุง และพวกเขาก็จะเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเหนือผู้นำส่วนแบ่งในท้องตลาดหน้าเดิมๆ”

     อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยจากเคาน์เตอร์พอยต์ฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า หากหัวเว่ยต้องการถีบตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะต้องทำการบ้านบุกตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียนและทวีปอเมริกาเหนือให้หนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากลูกค้าของแบรนด์​ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในจีน อเมริกาใต้ ยุโรป และตะวันออกกลางมากกว่า

 

Photo: LLUIS GENE/AFP

อันดับ 2 ของหัวเว่ย ‘ภาพลวงตาหรือความเป็นจริง?’

     แม้ว่าในด้านยอดขายรวม หัวเว่ยจะเป็นฝ่ายกำชัยเหนือแอปเปิ้ล แต่หากนำข้อมูลโทรศัพท์มือถือขายดีประจำเดือนกรกฎาคมของเคาน์เตอร์พอยต์ฯ มากางแผ่ดูดีๆ จะพบว่า ‘ไม่มีโทรศัพท์มือถือรุ่นไหนของหัวเว่ยติด 10 อันดับโทรศัพท์มือถือขายดีเลยด้วยซ้ำ!’

 

Photo: Counterpoint Research

 

     จะเห็นได้ว่าแม้ยอดขายรวมทั้งเดือนกรกฎาคมของแอปเปิ้ลจะตกลงจนถูกหัวเว่ยแซง แต่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาก็ยังครองอันดับในชาร์ตโทรศัพท์มือถือขายดีได้ถึง 3 ตำแหน่งอยู่ดี (iPhone 7 อันดับ 1, iPhone 7 Plus อันดับ 2 และ iPhone 6 อันดับ 8)

     พาเวล ไนยา (Pavel Naiya) นักวิเคราะห์อาวุโสประจำบริษัทเคาน์เตอร์พอยต์ฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในกรณีนี้ไว้ว่า “ขณะที่หัวเว่ยขยับขึ้นมารั้งอันดับ 2 ของแบรนด์โทรศัพท์มือถือขายดีระดับโลก แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่าแปลกไม่น้อยที่พวกเขาไม่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาครอง 10 อันดับแรกของโทรศัพท์มือถือขายดีได้เลย พวกเขาควรที่จะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น เหมือนที่ออปโป้ (Oppo) และเสี่ยวมี่ (Xiaomi) เลือกทำ”

     มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือรวมของแอปเปิ้ลตกลงในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม (และอาจจะนับรวมถึงเดือนสิงหาคมด้วย) เป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะรอเสียเงินซื้อ iPhone รุ่นใหม่ ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยเช่ือกันว่าเมื่อ ทิม คุก (Tim Cook) วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่เมื่อไร ยอดขายของพวกเขาก็จะกระเตื้องขึ้นจนกลับมาดีดังเดิมในที่สุด

 

Photo: LLUIS GENE/AFP

     แต่ก็ใช่ว่าหัวเว่ยจะยอมให้แอปเปิ้ลปล่อยของออกมารัวๆ อยู่ฝ่ายเดียว เพราะในวันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ พวกเขาก็เตรียมปล่อยหมัดน็อกออกมาเช่นกัน ด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นเรือธงอย่าง Mate 10 และ Mate 10 Pro ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยทั้ง 2 รุ่นจะมาพร้อมกับชิปเซต Kirin 970 และแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของตัวเอง ซึ่งให้ประสิทธิภาพได้มากกว่า Kirin 960 ถึง 50% ขณะที่ ริชาร์ด ยู (Richard Yu) ซีอีโอของแบรนด์คนปัจจุบันยังบอกอีกด้วยว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นนี้จะทรงพลังมากที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยผลิตมา ซึ่งจะช่วยให้การต่อกรระหว่างหัวเว่ยและแอปเปิ้ลสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

     ดูท่าว่าศึกแห่งศักดิ์ศรีในครั้งนี้ระหว่างหัวเว่ยและแอปเปิ้ลยังอีกยาวไกล ตอนนี้จึงยังเร็วไปนักที่จะรวบรัดตัดสินว่าใครคือผู้ชนะ เช่นเดียวกับซัมซุงที่จะชะล่าใจว่าตัวเองแบเบอร์ครองอันดับหนึ่งในวงการนี้อย่างผูกขาดไม่ได้ เพราะยังมีค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจำนวนไม่น้อยที่หวังจะปาดหน้าแซงโค้งอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะฝั่งผู้ผลิตจากประเทศจีน

     สุดท้ายแล้ว ตัวผู้เขียนเองมีความเห็นไม่ต่างจากเคาน์เตอร์พอยต์ฯ โดยเชื่อว่าส่ิงที่แต่ละแบรนด์ผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถือควรทุ่มให้ความสนใจมากที่สุดในตอนนี้ก็คือการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อท่ีในอนาคตพวกเขาจะสามารถปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เพียบพร้อมไปด้วยนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคออกมาให้มากที่สุดนั่นเอง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X