×

Huawei จับมือกระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศความร่วมมือแบ่งปันความรู้ IoT กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ย้ำใส่ใจความเป็นส่วนตัวผู้ใช้เสมอ

07.08.2019
  • LOADING...
Huawei จับมือกระทรวงดิจิทัลฯ

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้ร่วมกันจัดงาน Thailand IoT Industry Summit 2019 เพื่อแบ่งปันข้อมูลความรู้ นวัตกรรมด้าน IoT (Internet of Things) กรอบการทำงานต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การใช้งานจริงกับภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการ

 

นอกจากภายในงานจะมีเซกชันเสวนาความรู้ด้าน IoT ต่างๆ ที่น่าสนใจแล้ว หัวเว่ยยังได้เผยแพร่รายงานสมุดปกขาวด้านอุตสาหกรรม IoT ของประเทศไทย รวมถึงเปิดตัวแพลตฟอร์ม IoT บนคลาวด์สาธารณะอย่าง OceanConntect ที่จะช่วยให้พาร์ตเนอร์ผู้พัฒนาระบบสามารถพัฒนา IoT และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

 

เอเบล เติ้ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2562 นี้ถือเป็นปีที่ 20 แล้วที่หัวเว่ยได้เข้ามาดำเนินกิจการในไทยอย่างเต็มรูปแบบ (โครงสร้างขั้นพื้นฐานโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์กลุ่มบริการต่างๆ) ขณะที่ IoT ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ของ Big Data และ AI ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็ให้ความสำคัญในด้านนี้เช่นกัน 

 

ส่วนในอนาคตต่อจากนี้ IoT จะมีบทบาทคล้าย ‘Key Driver’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้ความร่วมมือด้าน IoT กับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการโครงข่ายในไทย เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานจริง พร้อมนำกรณีการใช้งานจริงที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

 

ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ภาพรวมของงานความร่วมมือด้าน IoT ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับหัวเว่ยในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของทางกระทรวงฯ ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี IoT ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างมากในการทรานส์ฟอร์มประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว เช่นเดียวกันกับประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานด้านต่างๆ ทั้งระบบอัตโนมัติ สมาร์ทซิตี้ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

 

“IoT จะเป็นหนึ่งใน Core Technology ที่เราให้ความสำคัญ นอกเหนือจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับ Big Data เพื่อนำมาปรับปรุงกับระบบราชการ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่ตอนนี้เริ่มตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานจริง และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยแล้ว”

 

เมื่อถามถึงประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลในบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาแสดงความกังวลใจ เอเบล เติ้งให้ข้อมูลว่า หัวเว่ยเข้าใจประเด็นความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่หลายฝ่ายกังวลเป็นอย่างดี ซึ่งการดำเนินการในประเทศไทยนั้น หัวเว่ยจะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่รัฐบาลไทยเป็นผู้กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยจะวางตัวเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยเองก็ได้รับการยอมรับจากผู้ให้บริการ Operator ทั่วโลก

 

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ข้อมูลเสริมในประเด็นนี้ว่า ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะจัดทำ Sandbox เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทดลองใช้งานเทคโนโลยีของทางหัวเว่ยจริง ควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลจะดำเนินการออกฎหมายด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X