×

หัวเว่ยเปิดแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ โต้ปมขโมยเทคโนโลยี ยันไม่เคยละเมิดสิทธิบัตร

โดย THE STANDARD TEAM
04.09.2019
  • LOADING...
หัวเว่ยเปิดแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ

ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และหัวเว่ยยังคงลุกลามต่อเนื่อง กรณีล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน ‘หัวเว่ย’ กรณีกล้องถ่ายรูปพาโนรามา EnVizion 360 ของพวกเขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรงานออกแบบและขโมยเทคโนโลยีของนักประดิษฐ์ชาวโปรตุเกส รุย เปโดร โอลิวิเอรา 

 

จุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เมื่อโอลิวิเอราได้พบกับตัวแทนจากบริษัทย่อยหัวเว่ยและนำเสนอดีไซน์กล้องกับตัวแทนของหัวเว่ยในระหว่างการประชุม โดยอ้างว่าดีไซน์ดังกล่าวกำลังรอการอนุมัติสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ ซึ่งสุดท้ายหัวเว่ยก็ไม่ได้นำไปใช้ 

 

ต่อมาในปี 2560 หัวเว่ยเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้องพาโนรามาที่ออกแบบและพัฒนาโดยพนักงานของหัวเว่ย ซึ่งไม่เคยทราบถึงข้อมูลงานดีไซน์ของโอลิวิเอรามาก่อน (เลนส์กล้องหัวเว่ยขยายไม่ได้ทั้งสองด้าน ออกแบบเพื่อถ่ายภาพพาโนรามา ต่างจากกล้องเลนส์เดี่ยวที่ขยายได้ของโอลิวิเอรา)

 

โดยตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2561 ถึงมีนาคม 2562 โอลิวิเอราได้เริ่มส่งอีเมลถึงหัวเว่ย อ้างว่า EnVizion 360 ละเมิดสิทธิบัตรสหรัฐฯ ของเขา พร้อมข้อความที่ส่อไปในเชิงการข่มขู่ว่าหากหัวเว่ยไม่จ่ายเงินให้กับเขาก็จะนำเรื่องนี้ไปบอกสื่อมวลชน และกดดันหัวเว่ยผ่านช่องทางที่อาศัยการเมือง

 

ด้วยเหตุนี้ นอกเหนือจากหัวเว่ยจะปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าบริษัทละเมิดสิทธิบัตรแล้ว พวกเขาจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐฯ ตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อประกาศการไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ทางหัวเว่ยระบุว่าโอลิวิเอราปฏิเสธที่จะรับเรื่องร้องเรียนและไม่ปรากฏตัวตามหมายนัดศาล ส่งผลให้กระบวนการในศาลล่าช้า 

 

หัวเว่ยกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางการเมืองและการทูตเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลประเทศอื่นๆ ให้แบนอุปกรณ์จากหัวเว่ย นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังใช้ทุกวิถีทางที่มี รวมถึงอำนาจการบริหารและอำนาจศาล ตลอดจนวิธีที่ไม่ซื่อตรงมากมายขัดขวางการดำเนินธุรกิจที่ราบรื่นของหัวเว่ยและพันธมิตร การกระทำที่ไม่ซื่อตรงเหล่านั้น ได้แก่

 

1. ออกคำสั่งให้ผู้มีอำนาจทางกฎหมายข่มขู่ คุกคาม บีบบังคับ หลอกลวง และปลุกปั่นพนักงานและอดีตพนักงานของหัวเว่ยให้ทรยศบริษัทและทำงานให้สหรัฐฯ 

 

2. ค้น กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือจับกุมพนักงานหัวเว่ยและพันธมิตรของบริษัท

 

3. พยายามล่อให้เกิดการกระทำผิดหรือแสร้งว่าเป็นพนักงานหัวเว่ยเพื่อทำการปลอมแปลงทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่โจมตีหัวเว่ย ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

 

4. เริ่มโจมตีในโลกไซเบอร์เพื่อแทรกซึมเข้ามาในอินทราเน็ตและระบบสารสนเทศภายในของหัวเว่ย

 

5. ส่งเจ้าหน้าที่เอฟบีไอไปที่บ้านของพนักงานหัวเว่ย และกดดันให้พวกเขาเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท

 

6. ดำเนินการประสานงานและคบคิดกับบริษัทที่ทำงานร่วมกับหัวเว่ยหรือบริษัทที่มีข้อขัดแย้งทางธุรกิจกับหัวเว่ยเพื่อตั้งข้อกล่าวหาต่อหัวเว่ย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่พิสูจน์ไม่ได้

 

7. เริ่มการสืบสวนโดยอิงจากรายงานสื่ออันเป็นเท็จ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อโจมตีบริษัท

 

8. ขุดคดีเก่าๆ ที่ได้รับการพิพากษาไปแล้ว และเลือกที่จะสอบสวนคดีอาชญากรรมหรือยื่นฟ้องหัวเว่ยในคดีอาญา โดยอาศัยคำกล่าวอ้างเรื่องการขโมยเทคโนโลยี

 

9. ขัดขวางการดำเนินธุรกิจและการสื่อสารทางเทคนิคที่เคยเป็นปกติเรียบร้อย โดยใช้วิธีข่มขู่ การปฏิเสธวีซ่า และการยับยั้งการจัดส่งผลิตภัณฑ์ และวิธีอื่นๆ

 

“ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเพียงข้อเดียวก็คือหัวเว่ยไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยีหลักชิ้นใดที่ละเมิดสิทธิตามที่บริษัทถูกกล่าวหา และที่ผ่านมาก็ไม่มีคำกล่าวหาใดจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ เราขอประณามการพยายามใส่ร้ายป้ายสีโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อลดความน่าเชื่อถือและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของหัวเว่ย

 

“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการวิจัยและพัฒนา เรามีพนักงานที่ขยันขันแข็งกว่า 180,000 คนทั่วโลก ได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากลูกค้า ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรมากมาย กลุ่มคนเหล่านี้ทำให้บริษัทของเราประสบความสำเร็จ และไม่มีบริษัทใดในโลกที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผ่านเส้นทางที่อาศัยการโจรกรรม”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X