×

รู้จัก 1+8+N ยุทธศาสตร์สร้างอีโคซิสเต็ม และหมากที่ Huawei เตรียมไว้แก้เกมตะวันตก

โดย THE STANDARD TEAM
21.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • Huawei ถูกสหรัฐฯ แบน ไม่ใช่แค่เหตุผลด้านการเมืองว่ามีความเกี่ยวโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่เพราะ Huawei มีเทคโนโลยี 5G ที่ล้ำหน้ากว่าเจ้าอื่นด้วย
  • ส่วนที่กระทบมากที่สุดและ Huawei ต้องปรับตัวเยอะที่สุดไม่ใช่เรื่อง 5G แต่เป็นธุรกิจคอนซูมเมอร์อย่างสมาร์ทโฟน
  • ยุทธศาสตร์ 1+8+N จึงเป็นยุทธศาสตร์และแนวทางในธุรกิจฝั่งคอนซูมเมอร์ที่ Huawei จะเดินไปในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่เน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก

สหรัฐฯ เริ่มดำเนินนโยบายระหว่างประเทศแบบแข็งกร้าวต่อจีนค่อนข้างชัดเจนในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะสงครามการค้า ก่อนจะมาถึงจุดไคลแมกซ์จากคำสั่งประธานาธิบดีที่ห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งในทางปฏิบัติพุ่งเป้าไปที่ Huawei โดยเฉพาะ

 

คำสั่งแบนของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ ทุกบริษัทไม่สามารถทำธุรกิจใดๆ กับ Huawei ได้ นอกจากจะได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เป็นกรณีไป ก่อนที่ปีนี้สหรัฐฯ จะคุมเข้มมากขึ้นด้วยการขยายขอบเขตไปยังบริษัทนอกสหรัฐฯ ที่จะขายสินค้าให้ Huawei ก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน เพราะเห็นว่า Huawei ยังคงสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบางอย่างของสหรัฐฯ ได้อยู่

 

ผลิตภัณฑ์หรือบริการของ Huawei มีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือบริการคลาวด์ที่เพิ่งเริ่ม, โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์ฝั่งคอนซูมเมอร์อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งส่วนสุดท้ายนี้เองที่ Huawei ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐฯ และตะวันตกอย่าง Android, ระบบ Google Mobile Service ไปจนถึงเทคโนโลยีการพัฒนาชิปเซตภายใน 

 

หนึ่งในทางรอดของ Huawei ในฝั่งผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์คือการพัฒนาเทคโนโลยีและอีโคซิสเต็มขึ้นมาเองภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘1+8+N’ ซึ่งถึงแม้จะยังเป็นแค่ไอเดียกว้างๆ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน แต่ก็น่าสนใจว่าในท้ายที่สุดแล้ว Huawei จะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร

 

 

ภัยคุกคามในรูปของ 5G

คงยากจะปฏิเสธว่าการแบน Huawei เกิดจากเหตุผลด้านการเมืองเป็นหลัก แต่เหตุผลทางการเมืองอย่างเดียวอาจจะไม่มีน้ำหนักมากพอให้รัฐบาลสหรัฐฯ มองเป็นภัยคุกคาม หาก Huawei ไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่าง 5G 

 

Huawei เริ่มลงทุนพัฒนา R&D ด้าน 5G มาตั้งแต่ราวปี 2009 รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาและกำหนดมาตรฐาน 5G มาตั้งแต่ต้น (แม้มาตรฐานตอนนี้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม) ทำให้ตอนนี้ Huawei มีสิทธิบัตร 5G เยอะที่สุดในกลุ่มบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีโครงข่าย

 

Statista บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาด ออกรายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยชี้ว่า Huawei ยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดที่ 3,147 ใบ (แต่เพิ่งได้รับอนุญาตให้จดราวๆ 1,200-1,300 ใบ) ส่วน Samsung อยู่ที่ 2,795 ใบ, ZTE 2,561 ใบ และ LG 2,300 ใบ 

 

ภาพ: Statista

 

 

จำนวนสิทธิบัตรอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่บอกอะไรได้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า Huawei ยื่นจดสิทธิบัตรส่วนใหญ่ในจีน (ที่อาจจะให้จดง่ายกว่าตะวันตก) ขณะที่ Samsung หรือ LG ยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยก็พอจะสะท้อนความเอาจริงเอาจังด้าน 5G ของ Huawei ได้ระดับหนึ่ง

 

นอกจากเรื่องสิทธิบัตรและการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน Huawei ก็มีซัพพลายเชนของฮาร์ดแวร์ 5G ตั้งแต่ชิป 5G อุปกรณ์สัญญาณ อุปกรณ์โครงข่าย ไปจนถึงอุปกรณ์ปลายทางอย่างสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทดีไวซ์ เรียกได้ว่า Huawei มีอีโคซิสเต็มของ 5G ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

 

เมื่อ Huawei ครองอีโคซิสเต็ม 5G ขนาดนี้ ประกอบกับตัวผู้ก่อตั้งและซีอีโออย่าง เหรินเจิ้งเฟย เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ Huawei จะสามารถขยายตลาดออกไปทั่วโลกได้ขนาดนี้โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ทำให้สหรัฐฯ มองว่า Huawei มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนไม่มากก็น้อย และมีโอกาสที่อุปกรณ์โครงข่ายของ Huawei จะมีการติดตั้ง Backdoor หรือซอฟต์แวร์พิเศษที่ทำให้ Huawei สามารถเข้าถึงข้อมูลตามคำขอของรัฐบาลจีน 

 

นอกจากนี้จีนยังมีกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ หรือ National Intelligence Law ที่ออกเมื่อปี 2017 โดยมาตราที่ 7 ที่ระบุชัดเจนว่าบริษัทหรือประชาชนจะต้องสนับสนุนหรือให้ความร่วมมือในกิจการด้านหน่วยข่าวกรองด้วยแล้ว ยิ่งไม่แปลกใจหากตะวันตกจะกลัวว่ารัฐบาลจีนจะขอข้อมูลจากอุปกรณ์ 5G ของ Huawei ที่ลูกค้าตะวันตกใช้งาน

 

 

ธุรกิจฝั่งคอนซูมเมอร์ปรับตัวหนักสุด กับทางออกด้วยยุทธศาสตร์ 1+8+N

แม้ธุรกิจอุปกรณ์โทรคมนาคมจะเป็นเป้าหมายหลัก แต่ผลกระทบจนส่งผลให้ Huawei ต้องปรับตัวขนานใหญ่คือ ‘ธุรกิจคอนซูมเมอร์’ อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพราะ Huawei พึ่งพาซอฟต์แวร์อย่าง Android และอีโคซิสเต็มของ Google เป็นหลัก เมื่อ Google ถูกแบนไม่ให้ทำธุรกิจด้วย Huawei จึงไม่มีสิทธิ์จะใช้งานผลิตภัณฑ์ใดๆ ของ Google ได้เลย

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจโมเดลการทำธุรกิจผ่าน Android ของ Google ก่อน โดย Android ที่เป็นระบบปฏิบัติการนั้น Google เปิดเป็นโครงการโอเพนซอร์ส (Open-source) ในชื่อ Android Open Source Project (AOSP) ที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถนำโค้ดไปใช้งานและปรับแต่งได้อิสระ แต่จะไม่สามารถใช้เครื่องหมายการค้า ‘Android’ ในการทำตลาดได้ 

 

ทำให้การหาเงินของ Google อยู่ที่การเซ็นสัญญาและคิดค่าไลเซนส์กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ต้องการทำการตลาดด้วยชื่อ ‘Android’ พร้อมกับผูกบริการของตัวเองที่ค่อนข้างเข้มแข็งเข้าไปด้วย เช่น Google Search, Gmail, Google Maps, YouTube, Chrome, คลังแอปฯ Google Play Store และ Google Play Services ที่เป็นบริการเบื้องหลังแอปฯ ส่วนใหญ่บน Android 

 

ทั้งหมดนี้ถูกมัดรวมกันเรียกว่า Google Mobile Service (GMS) 

 

ดังนั้น Huawei จะยังคงสามารถนำ AOSP มาพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกเรียกว่า EMUI บนสมาร์ทโฟนของตัวเองได้เหมือนเดิม แต่ส่วนที่จะไม่ได้คือชุด GMS ในสมาร์ทโฟนและการใช้ชื่อ Android ในการทำตลาด

 

เมื่อไม่มี GMS เท่ากับว่าสมาร์ทโฟน Huawei จะไม่มีแอปฯ อย่าง Google Search, Gmail, YouTube, Google Maps, Google Play Store ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาระดับหนึ่งแล้วในแง่การดึงลูกค้านอกจีนมาใช้งาน เพราะไม่มีแอปฯ สำคัญๆ ให้ใช้ แต่ส่วนที่เป็นปัญหาหนักที่สุดคือ ‘Google Play Services’

 

 

เพราะ Google Play Services คือบริการของ Google ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การพัฒนาแอปฯ ตัวหนึ่งๆ ให้สามารถใช้งานบน Android ได้อย่างราบรื่น และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาแอปฯ ทำงานง่ายขึ้น เช่น 

 

  • Google Sign-in สำหรับนักพัฒนาที่ต้องการให้แอปฯ ใช้แอ็กเคานต์ Google ในการล็อกอิน
  • Google Mobile Ads สำหรับการแสดงโฆษณา สร้างรายได้ผ่านแอปฯ
  • Google Maps สำหรับแอปฯ ที่ต้องการแสดงหรือใช้งานแผนที่ภายในแอปฯ
  • Firebase Analytics สำหรับเก็บข้อมูลการใช้งานแอปฯ เพื่อการปรับปรุง
  • Firebase Cloud Messaging สำหรับแอปฯ ที่ต้องการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่าน Push Notification
  • และอื่นๆ อีกมากมาย 
  •  

 

แม้จะไม่มี Google Play Services การเขียนแอปฯ สำหรับ Android ยังคงเป็นไปได้ แต่ก็ถือว่าสร้างความวุ่นวายให้ไม่น้อย และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นักพัฒนาแอปฯ Android ไม่อยากพัฒนาแอปฯ ให้ Huawei ที่ไม่มี GMS ด้วย (Huawei จึงพยายามใช้เงินเพื่อดึงให้นักพัฒนามาเขียนแอปฯ ลงอีโคซิสเต็มของตัวเอง)

 

เมื่อไม่มี GMS ทาง Huawei จึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวตายตัวแทนขึ้นมาในชื่อ ‘Huawei Mobile Services’ (HMS) ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันมาเป็นแกนกลาง ภายใต้ยุทธศาสตร์ฮาร์ดแวร์ 1+8+N ที่เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีตะวันตก

 

 

เลข 1 ในที่นี้หมายถึงสมาร์ทโฟนที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ เพราะ Huawei มองว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดและถูกใช้งานเยอะที่สุด

 

เลข 8 คืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ได้แก่ พีซี, แท็บเล็ต, นาฬิกา, หูฟัง, แว่นอัจฉริยะ, ลำโพงอัจฉริยะ, ทีวี/หน้าจออัจฉริยะ และรถยนต์

 

ขณะที่ตัว N สื่อถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (IoT) ซึ่งมีได้มากมายนับไม่ถ้วน (Endless) และอุปกรณ์ทั้งหมดภายใต้อีโคซิสเต็มของ Huawei จะสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารหากันได้ทั้งหมด

 

อันที่จริง Huawei ยังมี HarmonyOS อีกตัวที่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ทั้งหมดภายใต้ยุทธศาสตร์ 1+8+N ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เพียงแต่การพัฒนา HarmonyOS น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก และ Huawei ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดออกมามากนัก

 

หากมองในภาพรวมที่ Huawei เองก็ครองฝั่งฮาร์ดแวร์อยู่แล้วทั้งหมด ตั้งแต่ชิปเซต, สมาร์ทดีไวซ์, เทคโนโลยีโครงข่ายและการสื่อสาร ไปจนถึงเทคโนโลยีคลาวด์ ยุทธศาสตร์ 1+8+N จึงเหมือนเข้ามาเติมเต็มและทำให้ฮาร์ดแวร์ทั้งหมดของ Huawei ทำงานประสานกันด้วยซอฟต์แวร์และอีโคซิสเต็มของตัวเองทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญที่ยังคงรอ Huawei พิสูจน์คือการดึงนักพัฒนาแอปฯ และลูกค้าทั่วไปที่เคยชินกับอีโคซิสเต็มที่มี Google ให้มาใช้งานแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้ ซึ่งประเด็นนี้เหมือนไข่กับไก่ คือนักพัฒนาก็ไม่อยากเสียเวลาและเสียทรัพยากรมาพัฒนาแอปฯ เพราะไม่มีคนใช้งาน ฝั่งคนใช้ก็ไม่อยากใช้ เพราะไม่มีแอปฯ สำคัญและจำเป็นให้ใช้

 

น่าติดตามว่าการแก้เกมของ Huawei จะทันท่วงทีแค่ไหนและประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะในตลาดโลกนอกจีนที่บริการและอีโคซิสเต็มส่วนใหญ่พึ่งของสหรัฐฯ กันเสียมากกว่า

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X