×

ห้วยขวางโมเดล ทุนจีนใหม่ครองเมือง

20.02.2023
  • LOADING...
ห้วยขวางโมเดล

การไหลบ่าเข้ามาทำธุรกิจของชาวจีนในไทย ถูกยกขึ้นมาเป็นวาระระดับชาติ เมื่อผู้ประกอบการในไทยต่างบ่นระงมว่า มีนายทุนจีนเข้าไปเช่าตึกเปิดธุรกิจค้าขายแข่งกับคนไทย บางรายมีแค่วีซ่าท่องเที่ยวแต่ก็สามารถเปิดร้านได้ แถมยังขายของตัดราคา และกอบโกยผลกำไรกลับประเทศตนเองได้เต็มไม้เต็มมือ เพราะไม่ต้องจ่ายภาษีเหมือนผู้ประกอบการชาวไทย 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นเคยกระจุกตัวอยู่ที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง ก่อนจะขยายไปย่านการค้าต่างๆ ที่สำคัญของไทยอย่าง สำเพ็ง, เยาวราช, เสือป่า, ปากคลองตลาด และประตูน้ำ 

 

ในเวลานี้ภาครัฐจึงถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรอยู่ ถึงปล่อยให้มีชาวจีนเข้ามาเปิดธุรกิจอย่างผิดกฎหมายได้ต่อเนื่องหลายปี และนานวันยิ่งดูหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ 

 

กระแสการเข้ามาของทุนจีนเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไหน เกิดผลกระทบอะไรบ้างแก่ชาวไทย และทำไมทุนจีน ไม่ว่าจะสีใด ถึงน่ากลัวไม่ต่างกัน

 

  • ‘ห้วยขวาง’ บ้านหลังใหม่ของชาวจีน

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่าห้วยขวางจะกลายเป็นย่านที่เนืองแน่นไปด้วยชาวจีน จนถึงขั้นได้รับสมญานามใหม่ว่า ‘New Chinatown’ ตึกแถวตลอดแนวถนนฝั่งประชาราษฎร์บำเพ็ญที่มีความยาวเพียง 700 เมตร เต็มไปด้วยกิจการของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, ร้านค้าทั่วไป, ร้านนวด, ร้านด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 

 

คลื่นการเข้ามาของชาวจีนรุ่นใหม่ เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อประมาณปี 2556 ผ่านนักศึกษาและครูสอนภาษาชาวจีนที่นิยมเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณห้วยขวางเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทำเลใกล้สถานทูตจีน และรายล้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ ได้สะดวก 

 

ในงานวิจัยการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่: กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า ในปี 2559 บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญมีชาวจีนรุ่นใหม่อาศัยอยู่ประมาณ 7,000 คน ส่วนใหญ่อายุประมาณ 25-40 ปี หรือเป็นกลุ่มคนจีนที่เกิดหลังปี 1980 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นคนมีการศึกษาสูง โดยมักเข้ามาศึกษาต่อในไทย ไม่ก็เข้ามาทำงานสอนภาษาจีน หรือบางคนเป็นนักท่องเที่ยว แต่เล็งเห็นช่องทางการทำธุรกิจในไทย จึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่ชั่วคราว

 

ย่านบริเวณถนนรัชดาภิเษก, พระรามเก้า, ห้วยขวาง และสุทธิสาร จึงกลายเป็นแหล่งชุมชนของชาวจีนรุ่นใหม่ อาคารที่พักหลายแห่งขณะนี้มีชาวจีนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก มีร้านอาหารจีนที่เปิดบริการต้อนรับชาวจีนโดยเฉพาะ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ชาวจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาพักอาศัยในไทยไม่ได้มาหวังปักหลักถาวรเหมือนชาวจีนรุ่นก่อน ชาวจีนรุ่นใหม่นี้เข้ามาไทยด้วยเงินก้อนหนึ่ง และหวังกอบโกยกำไรกลับยังประเทศของตน 

 

งานวิจัยยังค้นพบด้วยว่า ชาวจีนที่จัดตั้งเปิดธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่ศึกษาข้อมูล และหาเครือข่ายความสัมพันธ์กับชาวไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อจดทะเบียนบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แม้จะเป็นกิจการร้านอาหาร แต่ชาวจีนมักจะจัดตั้งขึ้นในรูปแบบบริษัท เพราะสามารถต่อยอดไปสู่การขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ได้ และถ้าได้รับใบอนุญาตทำงาน ก็จะสามารถทำเรื่องขอวีซ่าประเภท Non-Immigrant เพื่ออยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้น 

 

ส่วนเงื่อนไขการจดทะเบียนบริษัทระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาตินั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า เพียงมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาท ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินไม่มากสำหรับชาวจีนรุ่นใหม่ที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย 

 

ในส่วนของการกำหนดหุ้นส่วน ตามกฎหมายระบุด้วยว่าชาวไทยต้องถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 51% ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่ที่มาตั้งบริษัทในไทย จะใช้วิธีการแบ่งหุ้นเป็นชาวไทย 2-4 คน ถือไม่เกินไม่ 30% และชาวจีนถือหุ้น 49% เพียงคนเดียว ในวิธีการนี้ชาวจีนจะเป็นเจ้าของบริษัทสัญชาติไทยได้อย่างไม่ยุ่งยาก แต่บางกรณีชาวไทยที่ถือหุ้นอาจจะเป็นเพียงแค่ตัวแทนอำพราง หรือนอมินีเท่านั้น ซึ่งนั่นก็แปลว่าธุรกิจนั้นเป็นของชาวจีน 100%

 

แน่นอนว่าธุรกิจบางแห่งบริเวณชุมชนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญที่ดำเนินการโดยชาวจีนไม่ได้มีการจดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้องเสมอไป และหลายกรณีชาวไทยที่ถือหุ้นอาจจะเป็นเพียงแค่ตัวแทนอำพราง หรือนอมินี 

 

บางครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องขอตรวจสอบเอกสารยืนยันการประกอบธุรกิจ จะมีชาวไทยมาแสดงตนว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยบางคนประกอบอาชีพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ช่างทำรองเท้า ช่างทำกุญแจ และอาชีพอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงการจ้างคนไทยมาเป็นนอมินีเท่านั้น แลกกับการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้ 

 

การเข้ามาของชาวจีนสร้างผลกระทบต่อคนไทยที่อยู่ดั้งเดิมในพื้นที่นั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัญหาเรื่องขายสินค้าราคาถูกกว่า หรือหนุนให้ราคาเช่าและซื้ออาคารพาณิชย์ในย่านห้วยขวางดีดตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

 

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับผู้จัดการออนไลน์ว่า การเข้ามาทำธุรกิจของคนจีนที่มากขึ้น ส่งผลให้อาคารพาณิชย์บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญราคาสูงจนแทบซื้อขายกันไม่ไหว เพราะคนจีนเข้ามากว้านซื้อและขายต่อคนจีนด้วยกันในราคาสูง บางห้องประกาศขายราคาไม่ต่ำกว่า 16.5 ล้านบาท 

 

ด้านราคาค่าเช่าเองก็แพงขึ้นไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้ค่าเช่าพื้นที่ชั้น 1 ของตึกแถวริมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญอาจจะอยู่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน แต่ช่วงก่อนโควิดราคาขึ้นไปถึง 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาที่สูงขนาดนี้ ธุรกิจของคนไทยก็ย่อมอยู่ลำบาก ร้านค้าของคนไทยทยอยล้มหายตายจาก กลายเป็นร้านอาหารจีน ร้านขายสินค้าจีน หรือธุรกิจอื่นๆ ของคนจีนที่เข้ามาทดแทน จนเรียกได้ว่าตึกแถวกว่าครึ่งหนึ่งในพื้นที่สองฝั่งของถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นของคนจีนไปแล้ว

 

  • จีนใหม่ปะทะจีนเก่า

 

รูปแบบห้วยขวางโมเดลเริ่มกระจายไปสู่เยาวราช-สำเพ็ง ย่านชุมชนชาวจีนดั้งเดิมที่ตอนนี้กำลังถูกชาวจีนใหม่เข้าไปเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง หลัง ‘อาม่งหม่าล่า หม้อไฟ สาขาเยาวราช’ ที่ระบายความในใจว่า ทุกวันนี้ร้านอาหารและร้านนวดในย่านเยาวราช-สำเพ็ง ไม่ใช่ของคนไทยเชื้อสายจีนอีกแล้ว แต่เป็นร้านคนจีนแท้ๆ ที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวก็สามารถเปิดร้านได้ 

 

เจ้าของร้านค้าในสำเพ็งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันว่า คนจีนทยอยเข้ามาทำมาหากินแถวสำเพ็งตั้งแต่ 10 ปีก่อน จนปัจจุบันร้านค้าในสำเพ็งเกินครึ่งเป็นร้านค้าที่ลงทุนโดยชาวจีน

 

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร เขต 1 (พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์) ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้บนเฟซบุ๊ก พร้อมให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าจากการสอบถามผู้ประกอบการโซนสำเพ็ง-เยาวราชที่อยู่มามากกว่า 10-20 ปี ช่วงโควิดพวกเขาพบเห็นผู้ประกอบการชาวจีนหน้าใหม่เข้ามาเยอะ โดยเฉพาะช่วงเปิดร้านใหม่จะเห็นคนจีนเข้ามายืนคุมการจัดร้านเอง แต่ถ้าดูด้วยตาเปล่าอาจจะแยกค่อนข้างยากว่าร้านไหนเป็นของคนไทยหรือคนจีน ซึ่งจากตัวเลขประมาณการของหลายแหล่งข่าว สัดส่วนโดยประมาณที่ชาวจีนเข้ามาเปิดร้านค้าย่านสำเพ็ง-เยาวราชน่าจะอยู่ที่ 30-50%  

 

ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ชาวจีนนิยมทำมักจะเป็นร้านขายสินค้ากิฟต์ช็อป หน้ากากอนามัย รองเท้า และร้านอาหาร ที่ระยะหลังชาวจีนเข้ามาเปิดเยอะขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่คนไทยต้องอาศัยคนกลางในการนำเข้าสินค้ามาจากจีน จึงเสียเปรียบชาวจีนที่ได้สินค้ามาในราคาถูกกว่า เพราะสามารถไปรับสินค้าจากโรงงานได้โดยตรง ปัญหาการตัดราคาจึงเกิดขึ้นตาม 

 

อีกทั้งชาวจีนยังได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าระหว่างไทย-จีนที่ยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าบางประเภท แถมรัฐบาลจีนยังมีนโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีการบริโภค (CT) ให้ผู้ประกอบการจีนที่ส่งออกสินค้า โดยมีอัตราการคืนตั้งแต่ 6-16% รวมถึงมีการสนับสนุนค่าขนส่งบางส่วนให้ด้วย ตรงข้ามกับผู้ค้าชาวไทย ที่เมื่อนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จะต้องเสียทั้งภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ที่ได้จากการขาย

 

จึงเห็นได้ว่าต้นทุนของผู้ค้าชาวไทยมีมากกว่าร้านค้าจีนตั้งแต่เริ่ม และเจ้าของร้านชาวไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายอดขายตกลง บางรายลดลง 30% และบางรายอาจลดลงไป 50% เลยทีเดียว

 

มิหนำซ้ำการเข้ามาของชาวจีนยังทำให้ค่าเช่าในโซนเยาวราช-สำเพ็งพุ่งสูงขึ้นไม่ต่างกับห้วยขวาง เดิมค่าเช่าอยู่ที่ 70,000-100,000 บาท กลายเป็น 300,000-500,000 บาท ซึ่งการที่ผู้ประกอบการชาวไทยยังคงอยู่ได้นั้น เพราะบางรายทำสัญญาเช่าระยะยาว เมื่อยังไม่ครบสัญญาจึงได้ราคาค่าเช่าที่ถูกอยู่ แต่เมื่อหมดสัญญาก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะไม่ต่อสัญญาอีก 

 

และอีกเรื่องที่ชวนตั้งข้อสังเกตคือ ด้วยค่าเช่าสูงขนาดนี้ แต่บางร้านเปิดร้านเวลา 10.00-15.00 น. และขายของในราคาแค่ 10-20 บาทนั้น ผู้ประกอบการชาวจีนสามารถค้าขายได้ทุนคืนจริงหรือ หรือเป็นเพียงแค่การเปิดร้านบังหน้าเพื่อใช้ฟอกเงินธุรกิจผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันประเทศจีนมีการคุมเข้มและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายอย่างจริงจัง คนจีนบางกลุ่มจึงอาจเล็งเห็น และใช้โอกาสตรงนี้ก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกมุมจาก สมชัย กวางทองพานิชย์ เจ้าของร้านขายเชือกย่านสำเพ็ง และนักประวัติศาสตร์ชุมชนเยาวราช กลับมองว่า ยังไม่ได้เห็นการเข้ามาของทุนจีนในเยาวราชมากนัก ที่สังเกตได้ชัดคือธุรกิจร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้น ส่วนย่านสำเพ็งยอมรับว่าเห็นชาวจีนเข้ามาเปิดร้าน แต่คงไม่มากถึงขั้น 50%  

 

ด้านราคาเช่าอาคารพาณิชย์ในสำเพ็ง-เยาวราชที่พุ่งสูงถึง 500,000 บาทต่อเดือนนั้น สมชัยบอกว่า แต่เดิมราคาเช่าอาคารพาณิชย์ในย่านสำเพ็ง-เยาวราชสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะสำเพ็งที่เมื่อก่อนคนมาเดินสำเพ็ง คือคนที่ตั้งใจมาซื้อของจริงๆ จึงทำให้ราคาเช่าค่อนข้างสูง เพราะโอกาสขายได้ค่อนข้างมาก แต่ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การซื้อ-ขายต่างๆ ย้ายไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ร้านค้าในสำเพ็งซบเซาลงเพราะเหตุนี้ด้วย ไม่ใช่เพราะทุนจีนมาค้าขายแข่งอย่างเดียว

 

สมชัยยังเสริมว่า จีนอาจไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนย่านสำเพ็ง-เยาวราชในรูปของการเปิดร้านค้า แต่มาในลักษณะสินค้า ไม่ว่าจะหน้ากากอนามัย กระบอกน้ำสเตนเลส และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือในย่านเสือป่า ล้วนเป็นการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาของชาวจีนทั้งสิ้น แม้แต่การขายส่งสินค้าในช่วงกลางคืนของตลาดสำเพ็งก็ได้รับอิทธิพลจากชาวจีนที่เข้ามาขาย

 

“ในช่วงนี้คนมักพูดว่าจีนเทาน่ากลัว แต่ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน แขก หากเป็นสีเทาน่ากลัวไม่ต่างกัน ในแง่ของความเป็นจีน คนจีนน่ากลัวในแง่ของความสามารถ วิธีคิดถ้าเทียบง่ายๆ ก็คือ เรากำลังคิดว่าเราจะล้มเหลวเพราะอะไร เขาจะคิดว่าเขาจะสำเร็จได้เพราะอะไร ตรงนี้ผมว่าบ้านเราขาดค่อนข้างมาก และผมคิดว่าเราอย่าไปมัวแต่กลัว สิ่งสำคัญคือเราต้องศึกษาการทำงานของเขา สิ่งที่เกิดขึ้นกับที่นี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราที่เดียว เขาทำอย่างนี้กับทุกที่” สมชัยกล่าว

 

สุดท้ายสมชัยมองว่า กฎหมายย่อมคือกฎหมาย ทุนจีนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายจึงควรทำให้ถูกต้องไม่ว่ากรณีไหน เพราะถ้าธุรกิจผิดกฎหมายได้รับการสนับสนุน ก็ถือเป็นการเอาเปรียบคนในพื้นที่

 

ขณะที่ถ้าเราดูการลงพื้นที่ของปราเมศ เขาพบว่าชาวจีนที่มาประกอบธุรกิจในย่านสำเพ็ง-เยาวราชดำเนินธุรกิจโดยใช้นอมินีคนไทยที่ไม่ได้เข้าร่วมลงทุนด้วย และบางครั้งเจ้าของชื่ออาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าชื่อตัวเองถูกนำมาใช้จดจัดตั้งบริษัท 

 

ที่สำคัญ การเข้ามาทำธุรกิจอย่างผิดกฎหมายของชาวจีนนั้นสร้างผลกระทบต่อรายได้ของรัฐมากกว่าที่คิด ปราเมศยกตัวอย่าง กรณีการจับกุมบริษัททัวร์แห่งหนึ่งที่มีการหลบเลี่ยงภาษีมูลค่า 7 พันล้านบาท หรือการเข้าจับกุม 4 บริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจโดยใช้นอมินีหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 40 ล้านบาท และนี่เป็นเพียงแค่รายย่อยไม่กี่หลายเท่านั้น ถ้าหากในภาพใหญ่ ประเทศไทยอาจเสียผลประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านเลย 

 

“ผมว่าจุดนี้เป็นปัญหาหลักระดับชาติที่เราต้องไปลงมือแก้ปัญหาโดยด่วน ตัวบทกฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่หน่วยงานภาครัฐเขามีการรับผลประโยชน์หรือเปล่า ทำให้ปล่อยปละละเลยการค้าที่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น เรื่องลิขสิทธิ์ก็ดี หรือว่าเรื่องนอมินี ถ้าเราไปเดินสำเพ็งเยาวราช ผมเอาแค่เดิน 20 ก้าว ก็เจอไม่ต่ำกว่าสิบร้านแล้วที่มีนอมินีมาถือบริษัทเป็นตัวแทนของทุนต่างชาติ ตรงนี้เราควรจะปรับปรุงในเรื่องของระบบการจัดการนะครับ” ปราเมศกล่าว

 

นอกจากสำเพ็ง-เยาวราช ย่านอื่นๆ ก็เผชิญการรุกเข้าไปของทุนจีนไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะพื้นที่บริเวณปากคลองตลาด ที่มีรายงานว่าชาวจีนเข้าไปเปิดร้านขายดอกไม้แข่งกับร้านคนไทย และวาเลนไทน์ที่ผ่านมาดอกกุหลาบจากจีนก็ได้รับความนิยมอย่างมาก หรือย่านประตูน้ำก็เคยมีผู้ประกอบการชาวไทยออกมาพูดว่ายอดขายตกเพราะชาวจีนมาตั้งร้านแข่ง

 

สอดคล้องข้อมูลในงานวิจัยการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ ที่ระบุว่าย่านไหนสินค้าประเภทใดขายดีชาวจีนก็จะชักชวนกันไปสำรวจ และหาวิธีติดต่อเพื่อได้พื้นที่สำหรับขายสินค้า จนส่งผลให้ปัจจุบันย่านการค้าที่สำคัญในกรุงเทพฯ ต่างมีชาวจีนเข้าไปทำธุรกิจแทบทั้งสิ้น

 

  • เหล้าใหม่ในขวดเก่า 

 

ปัญหากลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยใช้นอมินีบังหน้าไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายสิบปีที่ผ่านมาเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่ ต่างก็มีการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ให้เห็นอยู่ทั่วไป 

 

โดยแหล่งข่าวคนหนึ่งจากเกาะสมุยให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบันกิจการบนเกาะทั้งที่พัก ร้านอาหาร และบาร์ กลายเป็นกิจการของชาวต่างชาติ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซียไปแล้ว ประมาณ 50% และอีก 50% เป็นของคนไทย โดยธุรกิจที่พัก ชาวต่างชาติจะไม่ลงทุนสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ แต่จะซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี และจ้างทนายความทำเรื่องขออนุญาตก่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ก่อนจะสร้างเป็นพูลวิลล่าสุดหรู ราคาคืนละ 50,000-200,000 บาท ซึ่งการขออนุญาตทำเป็นบ้านพักอาศัยนั้น ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนการทำธุรกิจโรงแรม และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นก็ทราบปัญหาเหล่านี้ดี แต่กลับแทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นนัก

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงว่า การตรวจสอบนิติบุคคลเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ แต่หากเป็นกรณีการตรวจสอบการประกอบกิจการของบุคคลธรรมดาเป็นสิ่งที่ทำยาก เพราะการจะตรวจสอบนั้นต้องมีการแจ้งเบาะแสมาก่อนว่า ธุรกิจดังกล่าวมีการเปิดโดยใช้นอมินีคนไทย แต่แท้จริงเป็นคนต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการ 

 

ในกรณีนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินการทันที 

 

โดยตั้งแต่ปี 2558-2565 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ส่งหนังสือให้ผู้ถือหุ้นชี้แจงข้อเท็จจริง 500-600 ราย และดำเนินคดีไปแล้ว 66 ราย

 

สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล กำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยที่ร่วมลงทุนกับคนต่างชาติ สำหรับแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้ และภายหลังจดทะเบียน ให้จัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปี เพื่อดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป 

 

แต่คงต้องจับตากันต่อไปว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยได้หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่า

 

  • ทำไมทุนจีนจึงกระทบกว่าชาติอื่น? 

 

วันนี้ทุนจีนได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะนับวันการเข้ามาของพวกเขาไม่เพียงแค่มาแย่งคนไทยทำมาหากิน แต่เริ่มมีการขยายตัวของทุนจีนสีเทา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ยาเสพติด และเครือข่ายค้ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ข้อตกลงทางการค้าและความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายเปิดทางให้ทุนจีนหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในประเทศคู่ค้าได้อย่างง่ายดาย และหลายครั้งก็ทิ้งความเสียหายหรือบาดแผลให้แก่ประเทศนั้นๆ เหมือนเช่นประเทศในแถบแอฟริกา

 

จีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุดในทวีปแอฟริกาติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 10 ปี โดย McKinsey บริษัทผู้ให้คำปรึกษาชั้นนำระดับโลก ค้นพบว่าปัจจุบันในทวีปแอฟริกามีบริษัทที่จีนเป็นเจ้าของมากกว่า 10,000 แห่ง และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานชาวแอฟริกันหลายล้านคน แต่รายงานจาก International Forum For Rights And Security พบว่ามีกรณีละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น ลูกจ้างชาวแอฟริกันต้องทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย และเมื่อได้รับบาดเจ็บก็ไม่ได้ค่าชดเชยหรือความช่วยเหลือใดๆ

 

หลายคนยังทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง ต้องถูกกดขี่ และทำร้ายร่างกายเป็นประจำ  

 

ในปี 2021 ศาลได้ตัดสินให้นายจ้างชาวจีนจ่ายเงินค่าชดเชยให้พนักงานเสิร์ฟชาวเคนยาเป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังมีคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นนายจ้างชาวจีนทำร้ายร่างกายลูกจ้างคนดังกล่าว และหัวเราะระหว่างที่เขาขอร้องให้ยกโทษให้ ศาลยังสืบพบด้วยว่าขณะที่ทำงานในร้านอาหารแห่งนี้ ลูกจ้างต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย และกักขังหน่วงเหนี่ยว  

 

การปฏิบัติที่เลวร้ายของนายจ้างชาวจีน ทำให้ลูกจ้างชาวแอฟริกันมีสภาพการทำงานเหมือนตกเป็นทาสในประเทศตนเอง และแม้จะมีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้น แต่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นก็ต้องทำเป็นมองไม่เห็น เพราะจีนคือคู่ค้าคนสำคัญ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ประเทศ

 

นอกจากแอฟริกา ยังมีกรณีประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง ‘กัมพูชา’ ที่การหลั่งไหลเข้ามาของทุนจีนพลิกโฉม ‘สีหนุวิลล์’ เมืองชายฝั่งทะเลแสนสงบ ให้เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โครงสร้างพื้นฐานชำรุดเสียหาย ธุรกิจคาสิโนเต็มเมือง และปัญหาอาชญากรรม โดยที่คนในท้องถิ่นแทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดเลยจากการเข้ามาของทุนจีน

 

ซ้ำร้ายเมื่อทางการสั่งปราบปรามการพนันออนไลน์ และเกิดการแพร่ระบาดของโควิดตามมา สีหนุวิลล์สิ้นสภาพเมืองที่ควรรุ่งเรือง กลายเป็นเมืองที่ถูกจีนทอดทิ้ง โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จมีแทบทุกหัวมุมถนน และถูกใช้เป็นถิ่นฐานของแก๊งฉ้อโกงออนไลน์หรือ Cyber Scam 

 

เมื่อย้อนกลับมามองไทย วันนี้ทุนจีนสามารถแทรกซึมตัวเองเข้าไปได้แทบทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ร้านค้าออนไลน์ ร้านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยก็มีทุนจีนเข้าไปแล้วเหมือนกัน ซึ่งเราคงต้องหวังพึ่งพารัฐให้หันมาควบคุมกระแสทุนจีนอย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมตกไปสู่ประชาชนคนไทย และถ้าไม่ควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย ทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X