×

HSBC ประเทศไทย ออกนโยบายให้พนักงาน LGBTQIA+ ลาเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 126 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติเท่าเทียมกันทุกเพศ

12.07.2023
  • LOADING...
HSBC

HSBC ประเทศไทย เปิดให้พนักงาน LGBTQIA+ สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 126 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ เท่าเทียมกับสวัสดิการของพนักงานหญิงและชายที่เป็นผู้ดูแลหลักในการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอด ตอกย้ำจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานทุกเพศ

 

จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร HSBC ประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรใหม่ของธนาคาร ที่เพิ่มสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ดูแลหลัก ไม่ว่าจะเพศสภาพใดหรือสถานะใด ให้สามารถลาได้สูงสุดถึง 126 วัน หรือกว่า 4 เดือน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ เพื่อให้พนักงานทุกคนรวมถึงพนักงานหญิงที่คลอดบุตร พนักงานชายที่เป็นผู้ดูแลหลักในการเลี้ยงดูบุตรกรณีมารดามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ตลอดจนกลุ่มพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ที่รับอุปการะบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายที่อายุไม่เกิน 7 ปี สามารถมีเวลาเพียงพอในการดูแลบุตรที่เป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม 

 

“สุขภาวะที่ดี (Well-Being) และความสุขในการทำงานของพนักงานทุกคนเป็นสิ่งที่ธนาคาร HSBC ประเทศไทย ให้ความสำคัญสูงสุด เราจึงประกาศนโยบายสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ ที่มากกว่าสิทธิวันลาในการคลอดบุตรตามกฎหมายที่ระบุไว้สูงสุดที่ 98 วัน โดยระบุการรับค่าจ้างในช่วงที่ลาเพียง 45 วัน เพราะเราเชื่อว่าบิดามารดาไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็ควรได้ใช้เวลาดูแลบุตรที่เพิ่งถือกำเนิดและบุตรบุญธรรมที่รับเข้ามาในครอบครัวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว” กัมบาระบุ

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก สำหรับการเลี้ยงดูบุตรไม่ว่าจะเพศหญิง เพศชาย หรือเพศที่หลากหลาย ให้สามารถลาเพื่อช่วยดูแลบุตรหลังคลอดและบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 30 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติอีกด้วย 

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็น Pride Month ของทั่วโลก ธนาคารยังได้เปิดตัว ‘HSBC Pride Employee Resource Group (ERG)’ อันเป็นเครือข่ายพนักงานเพื่อขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความหลากหลายในองค์กร ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้พนักงานและลูกค้าในทุกเพศสภาพและผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising