×

‘Howard Marks’ กูรูการลงทุนโลก ฟันธงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นชัดครึ่งปีหลัง ด้าน KKP ชู ‘5 ปัจจัย’ ต้องจับตาในปีนี้

21.01.2021
  • LOADING...
‘Howard Marks’ กูรูการลงทุนโลก ฟันธงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นชัดครึ่งปีหลัง ด้าน KKP ชู ‘5 ปัจจัย’ ต้องจับตาในปีนี้

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดงานสัมมนา The Year Ahead 2021 ‘Navigating the Path to Recovery’ ซึ่งเป็นงานสัมมนาแฟลกชิปประจำปีที่นำเสนอเนื้อหาที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจและการลงทุนในแต่ละปี 

 

โดยวันที่ 21 มกราคม 2564 เป็นรอบสัมนาในหัวข้อ ‘Global Macro Outlook’ ที่ได้รับเกียรติจาก Howard Marks ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานร่วมของ Oaktree Capital Management ซึ่งบริหารเงินลงทุนราว 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท เสวนาทางเศรษฐกิจกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

 

Howard Marks มีความคิดเห็นส่วนตัวในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2021นี้ แม้ว่าขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกาเองจะยังมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ตาม เนื่องจากตัวเขารวมถึงชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในวัคซีนที่กำลังทยอยแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยน่าจะครอบคลุมประชากร 2 ใน 3 ของอเมริกาได้ราวไตรมาสที่ 2 และ 3 ปีนี้

 

อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลที่เพิ่งประกาศออกมา ก็ทำให้ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2021 ที่ระดับ 4-5% เป็นตัวเลขที่คาดหวังได้ โดยประเมินว่าเราจะได้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญในครึ่งหลังปี 2021 โดยเฉพาะในไตรมาส 4 

 

Howard Marks กล่าวว่า ในการฟื้นตัวของภาคธุรกิจลักษณะ K-Shape จะมีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และธุรกิจที่ยังต้องเผชิญกับความเสียหายจากโควิด-19 อยู่ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะมีพฤติกรรม Search for Yield  

 

“สำหรับปรากฏการณ์ Disconnection หรือการขาดความเชื่อมโยงกันว่าระหว่างเศรษฐกิจจริงและการลงทุน ส่วนตัวและ Oaktree มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นหลังจาก Crisis อยู่แล้ว โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำทำให้นักลงทุนต้องแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนแทนการพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝาก เราจึงได้เห็นเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากสะพัดในทุกสินทรัพย์ แม้ว่าในเศษฐกิจจริงยังไม่ฟื้นตัว แต่นักลงทุนล้วนซื้อขายสินทรัพย์บนความคาดหวังในอนาคต” 

 

จึงแนะนำให้นักลงทุนจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Alocation) ให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ เนื่องจากภาพรวมการลงทุนในตลาดโลกจากนี้ไปก็น่าจะมีความผันผวน ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังถูกตรึงไว้ในระดับต่ำ เงินลงทุนจะวิ่งหาสินทรัพย์ที่ถูกคาดหวังว่าจะสร้างผลตอบแทนที่สูงเป็นปกติ 

 

Howard Marks ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน ขณะที่เหตุการณ์ที่น่าจับตามองคือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ Fed เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะหยุดลงเมื่อไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2020 ที่ผ่านมาล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาด แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่ก็ติดตามต่อเนื่องในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีน และศักยภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทั้งนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ 

 

สำหรับปี 2021 มี 5 ปัจจัยที่ต้องจับตามองในกระแสเศรษฐกิจโลก ดังนี้

 

1. From Virus to Aaccines 

  • เกียรตินาคินภัทรเห็นสอดคล้องกับ Howard Marks โดยเชื่อว่าเมื่อสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนในวงกว้าง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นชัดขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ขนาด GDP ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีจะใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะกลับเข้าสู่เทรนด์เดิมได้ใน 1-2 ปี 

 

2. From Trump to Biden

  • การเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีของโจ ไบเดน รวมถึงการได้ครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา (ส.ส. และ ส.ว.) หรือ Blue Wave น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหากแผนงานต่างๆ ที่ โจ ไบเดน ประกาศไว้เริ่มต้นขึ้น ก็จะได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจน

 

3. Low Rates for Longer, But for How Long?

  • เกียรตินาคินภัทรประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป อย่างไรก็ตาม มองความเสี่ยงที่สำคัญในอนาคตคือธนาคารกลาง (Fed) อาจจะยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะคล้ายกับปรากฏการณ์ QE Taper Tantrum ในอดีต ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อระยะยาว และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 
  • โดยช่วงที่ผ่านมา Fed ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แบ่งเป็นเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Treasury Securities) 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และซื้อ Mortage Securities ราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  
  • อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์ QE Taper Tantrum จะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หากอ้างอิงจากถ้อยแถลงของ Fed ที่ยืนยันคงนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป

 

4. Accelerating Tech Adoption

  • เกียรตินาคินภัทรมองกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงผสมผสานกัน ในส่วนของโอกาสนั้นเชื่อว่ากลุ่มนี้ยังคงได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาด ส่วนด้านความเสี่ยงก็คือราคาสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ของกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงแล้ว 

 

5. Thailand’s Structural Challenges

  • สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2021 ประเมินว่ายังคงเผชิญกับผลกระทบจากโควิด -19 และความเสี่ยงของภาคประชาชนที่ยังไม่เกิด Herd Immunity ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างเด่นชัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคกรท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ในเบื้องต้นเกียรตินาคินภัทรประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยน่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ฟื้นตัวไม่มาก ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ 2 ล้านคน จากฐานเดิมที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวราว 40 ล้านคน 
  • นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยเองยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายมิติ ซึ่งต้องจับตาการตอบรับของรัฐบาลและการดำเนินนโยบายต่อไป 
  • ทั้งนี้จึงแนะนำให้จัดสินทรัพย์การลงทุนด้วยการลงทุนในต่างประเทศไว้ด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising