×

จัดแผนธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในปี 2564

11.03.2021
  • LOADING...

ปีที่ผ่านมาทุกบริษัทคงผ่านปัญหามาหลายเรื่อง ทั้งการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการดิสรัปชัน (Disruption) ในเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของการทำธุรกิจ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมในรูปแบบ New Normal รวมทั้งการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ 2563 ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากข้อตกลงทางการค้าระดับทวิภาคี (Free Trade Area: FTA) ที่มีอยู่แล้ว 13 ฉบับ 

 

จึงเป็นคำถามที่ผู้บริหารควรจะต้องพิจารณาว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีเรื่องใดที่ควรปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง แผนธุรกิจที่มีอยู่ในขณะนี้ควรนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ หากใครไม่เคยจัดทำแผนธุรกิจมาก่อนไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ท่านควรจะต้องมองกลับมาว่า หากมีแผนธุรกิจที่เหมาะสม จะช่วยทำให้ธุรกิจของท่านมีศักยภาพในการแข่งขันหรือประสบความสำเร็จมากขึ้นหรือไม่

 

การจัดทำแผนธุรกิจที่บริษัทส่วนใหญ่จัดทำ คือ วิธีการให้นโยบายจากบนลงล่าง (Top-down Approach) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้บริหารระดับสูงให้กรอบแนวคิดแก่ผู้บริหารระดับถัดลงมาและพนักงาน สำหรับนำไปจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารระดับถัดลงมาและพนักงานจึงมีข้อจำกัดในการเสนอความคิด สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ผู้บริหารลองพิจารณาอีกวิธีหนึ่ง คือ ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจในองค์กรมีส่วนร่วมในการระดมความคิด เสนอไอเดีย และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางความคิด มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ทำให้ได้มาซึ่งแผนธุรกิจที่เกิดจากการมีส่วนร่วม เพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางร่วมกัน 

 

ผู้เขียนขอแนะนำหัวข้อหลักที่ควรพิจารณาในการจัดทำแผนธุรกิจ ดังนี้

 

1. วิสัยทัศน์องค์กร (Vision)

วิสัยทัศน์ คือ เป้าหมายที่องค์กรได้วางไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบรรลุสู่เป้าหมายตามที่องค์กรได้วางไว้ หากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นมีสาเหตุมาจากการดิสรัปชัน และพฤติกรรมในรูปแบบ New Normal รวมทั้งมีโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดจากการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า บริษัทอาจจะต้องพิจารณาทบทวนวิสัยทัศน์และพันธกิจ เพื่อความสอดคล้องกับโอกาสและสถานการณ์ การกำหนดหรือทบทวนวิสัยทัศน์ต้องพิจารณาถึงเป้าหมายที่ใช้ศักยภาพความพยายามที่ต้องเอื้อมหรือออกแรงเพื่อให้ได้มา ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วและมีความเป็นไปได้ รวมทั้งกำหนดกรอบเวลาก็จะเป็นสิ่งดี วิสัยทัศน์องค์กรมีหลายรูปแบบ เช่น เพื่อเติบโต (Growth), เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดหรือรักษาเสถียรภาพ (Sustainability), หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) เป็นต้น 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ มีหลายองค์กรบอกว่าวิสัยทัศน์องค์กร คือ การจะขึ้นเป็นที่หนึ่งในภูมิภาค แต่ปัจจุบันองค์กรนั้นยังไม่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำในลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมในประเทศได้ การวางวิสัยทัศน์องค์กรต้องพิจารณาจากความเป็นไปได้ โดยใช้ศักยภาพที่องค์กรมีอยู่หรือสามารถพัฒนาได้เป็นพื้นฐาน เช่น บริษัทจะก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในส่วนแบ่งตลาดสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศภายในปี 2567 

 

2. กลยุทธ์การตลาดและรูปแบบธุรกิจ (Market & Business Model)

สิ่งที่จำเป็นสำหรับการจัดทำแผนธุรกิจ คือ การศึกษาตลาดที่องค์กรกำลังดำเนินธุรกิจอยู่ หรือตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการขยายธุรกิจ รวมถึงเรื่องขนาดตลาด แนวโน้มการเติบโตของตลาด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการศึกษาตลาดและกฎระเบียบภายใต้ RCEP และ FTA ในแต่ละประเทศจะทำให้เรามั่นใจในการลงทุน และเข้าใจช่องทางการเข้าสู่ตลาดที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท 

 

รวมทั้งเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจ เช่น บริษัทควรจะให้ความสำคัญเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ว่าจะเป็นไปในรูปแบบออฟไลน์ โดยมีการตั้งร้านค้า จัดหาผู้กระจายสินค้าแบบดั้งเดิม หรือควรจะส่งเสริมการจัดจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ตามพฤติกรรมของลูกค้าในยุค New Normal ทั้งนี้ การศึกษาโอกาสและรูปแบบตลาดควรจะต้องถูกพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ในการจัดทำแผนธุรกิจ หากเข้าใจตลาดก็สามารถวางกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจ ซึ่งจะบอกว่าบริษัทควรมุ่งในธุรกิจประเภทใด สัดส่วนรายได้ในแต่ละกลุ่มย่อยเป็นอย่างไร 

 

3. ศึกษาการแข่งขันและปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Competitive Landscape and Key Success Factors)

จากการศึกษาตลาด หากพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจ แน่นอนว่าต้องมีคู่แข่งขันที่อยู่ในตลาดดังกล่าว ยกเว้นแต่ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีในตลาด แต่ก็อาจมีสินค้าทดแทนได้ การศึกษาการแข่งขันและคู่แข่งเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อดูสภาวะความรุนแรงของการแข่งขันและกลยุทธ์ของคู่แข่งรายสำคัญ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า ‘รู้เขา รู้เรา’ ซึ่งบริษัทจะสามารถวิเคราะห์ว่าควรที่จะวางกลยุทธ์ในรูปแบบใดเพื่อครองส่วนแบ่งตลาด และยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวัง การศึกษาตลาดและคู่แข่งจะทำให้เห็นว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จและความเสี่ยงที่บริษัทควรจะต้องวางกลยุทธ์เพื่อรองรับนั้นมีอะไรบ้าง 

 

4. ผลิตภัณฑ์และการวางตำแหน่ง (Product and Proposition)

การประเมินผลิตภัณฑ์หรือบริการว่ามีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จากประสบการณ์ที่พบมา มีหลายบริษัทมองว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการที่องค์กรตนมีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการและตอบโจทย์แล้ว ทำให้การวางตำแหน่งสินค้าหรือบริการนั้นไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการในตลาด ดังนั้น การศึกษาความต้องการ พฤติกรรม และความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการ เป็นสิ่งที่จำเป็นในทางกลยุทธ์ที่มองความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือเรียกว่า Customer Centric Approach โดยผู้บริหารควรจะต้องใช้ข้อมูลที่เก็บจากการที่ลูกค้ามาซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการ หรือทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง โดยข้อมูลที่ได้มาหรือเก็บไว้ควรจะใช้เทคโนโลยีด้าน Big Data หรือ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ เพื่อวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ถูกต้อง รวมทั้งเป็นเครื่องมือด้านการตลาด ตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบันจะพบว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Supermarket, Hypermarket, Convenience Store) ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จและสร้างความแตกต่าง

 

5. แผนธุรกิจด้านการเงินและการวิเคราะห์ผลตอบแทน

การจัดทำแผนธุรกิจที่ดีควรต้องมีการจัดทำแผนด้านการเงินและประมาณการทางการเงินในอนาคตสำหรับระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อกำหนดเป้าหมาย รายได้ และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในรูปกำไร ขาดทุน และเงินปันผล แผนธุรกิจด้านการเงินยังสะท้อนถึงเงินลงทุนที่จำเป็นเพื่อสร้างหรือกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าในรูปเงินทุนหมุนเวียน และเงินลงทุนในโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ นอกจากนี้ แผนด้านการเงินควรที่จะสามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใดมีกำไรมากน้อยเท่าไร ทำให้ทางผู้บริหารสามารถลำดับความสำคัญของแต่ละผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อวางกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์องค์กร แผนการเงินที่ดีต้องมีตัววัดประสิทธิภาพการดำเนินงาน KPI (Key Performance Indicator) เพื่อวัดความสามารถในแต่ละด้านของบริษัท และท้ายสุด แผนทางการเงินยังสื่อถึงมูลค่ากิจการได้อีกด้วย 

 

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจัดทำแผนธุรกิจในปี 2564 นั้นต้องมีองค์ประกอบหลักอย่างไรบ้างที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะนำข้อมูลจากบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ท่านกำลังดำเนินอยู่ หรือเป็นโครงการใหม่ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านพร้อมกัน และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในปีฉลูนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X