“ฉันรักเธอ”
สามคำเล็กๆ ที่นำมาเรียงต่อกัน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมเอ่ยออกไปยากนักหนา
แม้เราจะได้ยินคำว่า ‘รัก’ บ่อยๆ ไม่ว่าจะจากเพลง หนัง หรือบางครั้งเราก็ใช้กันออกบ่อย เช่นเวลาบอกรักศิลปินที่ชื่นชอบ (“I love you, LANY!”) แต่ไฉนเมื่อต้องเอ่ยต่อหน้าคนที่เราอยากจะบอกรักจริงๆ หลายคนถึงกับตัวแข็งไปไม่เป็น หรือเปลี่ยนเรื่องเสียอย่างนั้น เราตั้งข้อสงสัยและหาคำตอบมาให้ดังนี้
เพราะทุกวันนี้มันซับซ้อน
นักจิตวิทยาได้ตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์สมัยนี้ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบเดิม แบบที่สามารถช่วยแนะนำได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือมีแนวทางที่แน่นอน นั่นคือการพบกัน ออกเดต ตัดสินใจคุยกัน เรียนรู้ที่จะเชื่อใจกัน ตกหลุมรักกัน พูดคำนั้นสามคำ จากนั้นก็ตกลงแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน หรือเลิกกัน และกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ปัจจุบันนี้รูปแบบความสัมพันธ์มันก็ไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบนี้เสมอไป
ปัจจุบันความคลุมเครือคือสิ่งที่หลายๆ คนเผชิญอยู่ ผู้คนชักไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์ที่กำลังดำเนินอยู่นั้นคืออะไร การออกไปเดตกับใครสักคน มีการพูดคุยกัน แต่คุณกลับไม่ต้องการผูกมัด หรือตั้งใจหาชื่อเรียกไม่ระบุความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ในกรณีนี้นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า ‘ความคลุมเครือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง’ หรือก็คือการที่เราไม่ทำให้ความสัมพันธ์ชัดเจน นั่นแปลว่าเราจะไม่โดนปฏิเสธ และความคลุมเครือเป็นเสมือนเกราะป้องกัน
ความไม่แน่นอนแม้จะทำให้คนรู้สึกอ่อนแอ แต่ก็เป็นการให้อำนาจคนคนนั้นด้วย ทั้งนี้ตามทฤษฎีการจับคู่ (Matting Theory) แล้ว บุคคลที่เป็นฝ่ายแสดงอาการสองจิตสองใจ หรือลังเลในความสัมพันธ์ คนคนนั้นจะเป็นคนที่มีอำนาจในความสัมพันธ์มากที่สุด เพราะอีกฝ่ายจะต้องเป็นคนที่ยอมเออออทำตามความต้องการของคนคนนั้น
เมื่อคนใดคนหนึ่งพุดขึ้นมาว่า “ฉันรักเธอ” แสดงว่าเขาหรือเธอเลือกสถานะในความสัมพันธ์แล้ว และจะไม่สามารถกลับคำพูดได้ ซึ่งการพูดคำว่ารักนี้ สำหรับบางคนมันรู้สึกเหมือนกระโดดลงจากที่สูง หรือกำลังโป๊ต่อหน้าคนในที่สาธารณะเลยก็ว่าได้
Photo: HBO
เพราะกลัวการเลิกรา
เราสามารถบอก ‘รัก’ ได้กับคนทุกช่วงอายุ พูดกับเพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง แล้ว ‘ฉันรักเธอ’ แบบคลาสสิกที่ต้องใช้บอกคนรักล่ะ?
นักจิตวิทยาทำการวิจัย และพบว่าความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่มักพังทลายลงเพราะปัญหาครอบครัว เนื่องจากเห็นพ่อแม่หย่าร้างกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการจะพบเจอความเจ็บปวดแบบนั้น แถมเมื่อเลิกรากันไปยังต้องมาจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกแย่ๆ ของตัวเองอีก หรือเรียกง่ายๆ ว่ารักษาอาการ ‘เฮิร์ต’”
หนึ่งในวิธีป้องกันตัวเองจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์นี้ คู่รักไม่น้อยเลือกที่จะอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ใช้วิธีต่างๆ เพื่อศึกษาดูใจคนที่ใช่ และป้องกันความเจ็บปวดจากการเลิกรา บ้างยังมีการทำสัญญาข้อตกลงร่วมกันก่อนแต่งงานด้วย เช่นการใช้จ่าย การทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งคู่จะมีได้เวลาส่วนตัว และไม่ผูกมัดกันเกินไป ดังนั้นในบางกรณี คำว่า ‘ฉันรักเธอ’ จึงรู้สึกเหมือนกับพันธะผูกมัด ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคนที่มองหา
Photo: Universal Pictures
เพราะกลัวพลาดสิ่งที่ดีที่สุดไป
มีทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคเรียกว่า ‘Choice Overload’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีตัวเลือกเยอะเกินไป ทำให้ต้องพินิจพิเคราะห์เพื่อเลือกคนที่ใช่ที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่บางครั้งเรามีตัวเลือกให้เลือกมากมายจนอาจปวดหัว เลือกพี่เสียดายน้องจนไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวจะพลาดตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าไป
นั่นทำให้ตัดสินใจช้า ไม่ยอมเลือกสักที แถมยังไม่อยากบอก ‘รัก’ เกินหนึ่งคนได้อีก นักจิตวิทยากล่าวว่า ไม่มีการตัดสินใจไหนที่ลงทุนไปแล้วจะไม่เกิดผลเสีย ถ้าหากบอกว่ารักใครออกไป ก็เท่ากับว่าได้ทำให้ความรักของเรามันเป็นจริงขึ้นมา แต่การที่ไม่กล้าบอกรักในลักษณะแบบนี้ ก็คงเหมือนกับการไม่สามารถเลือกจุดดำน้ำที่ดีที่สุดได้ก็เลยเลือกไม่ดำซะเลยดีกว่านั่นเอง
Photo: Netflix
เพราะกลัวคำว่ารัก
คนที่ชอบพูดพร่ำเพรื่อว่า “ฉันรักเธอ” หรือบอกรักกับทุกคน รู้ไหม คุณกำลังทำให้บางคนหวาดกลัว เพราะการพูดคำว่ารักอาจไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความรักเสมอไป แต่เป็นการกระทำต่างหากที่สำคัญ
คนไม่น้อยพูดว่ารัก แต่กลับแสดงพฤติกรรมตรงข้าม จนทำให้ฝั่งตรงข้ามเกิดอาการฝังใจ และตระหนักกับตัวเองเสมอว่า ‘จงระวังคนเหล่านั้นเอาไว้’ เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากได้ยินคำที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด หวาดกลัว หรือรู้สึกไร้ค่า ดังนั้นคำว่า ‘รัก’ สำหรับคนประเภทนี้เป็นเสมือนการตัดสินใจไม่ดำน้ำเพราะกลัวน้ำนั่นเอง
คำแนะนำสำหรับคนที่กลัวคำว่า ‘รัก’
ถ้าคุณปอดทุกครั้งที่จะเอ่ยคำนั้นออกไป นักจิตวิทยาแนะนำให้ใช้วิธีการพูดบำบัด โดยบอกใครสักคนว่าคุณรักเขา โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากเขา การพูดเช่นนี้ช่วยฝึกตัวตน อารมณ์ และความรู้สึกได้เบื้องต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรใช้ฟุ่มเฟือย เพราะคำว่า ‘รัก’ แท้จริงก็มีลิมิตเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรพูด เพื่อให้ใครมาเล่นจ้ำจี้กับคุณ หรือพูดเพียงเพราะหวงก้างใคร และอยากเก็บเขาเอาไว้ และก่อนพูดจงมั่นใจว่าเมื่อใดที่พูดออกไป นั่นเป็นสิ่งที่คุณรู้สึก และหมายถึงเช่นนั้นจริงๆ
Photo: 20th Century Fox
หากใจยังไม่กล้าพอ ลองวิธีการเหล่านี้ดู
-
- เมื่ออยากสารภาพรัก ลองหยิบปากกามาเขียนข้อดีของการได้บอกรักกับคนคนนั้นที่คุณอยากเปิดใจด้วย คิดและเขียนเผื่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณพลาดโอกาสบอกรักกับเขา และถ้าข้อดีมีเยอะกว่าข้อเสีย จงอย่าพลาดโอกาส พกใจมั่นๆ พร้อมลุยได้เลย!
-
- เขียนทุกสิ่งที่คุณกลัวว่าจะเกิดขึ้นหากเอ่ยปากออกไป ไล่ดูทีละข้อที่เขียนไว้ แล้วถามตัวเองว่าประโยชน์ที่ได้จากความกลัวเหล่านี้คืออะไร? นักจิตวิทยาเสริมว่า ทุกอย่างมีข้อดีและเสีย ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงถือว่าได้เรียนรู้ประสบการณ์ทั้งสองด้านเอาไว้เป็นวิทยาทาน
- เขียนข้อดีเมื่อเธอหรือเขาได้ยินคุณบอกรัก และข้อเสียถ้าคนคนนั้นไม่รู้ว่าคุณรักเขาเปรียบเทียบกัน ซึ่งหากเห็นประโยชน์มากกว่าข้อเสีย คุณก็จะมีแรงฮึดไปบอกเอ่ยคำว่า ‘รัก’ กับเขาแล้ว
Photo: Universal Pictures
วิธีการบอกรักในแบบอื่นๆ
- กล่าว ‘ขอบคุณ’ คำง่ายๆ ที่พูดกี่ครั้งก็ได้ แต่ช่างทรงพลัง และสื่อถึงอะไรหลายๆ อย่าง
- รอยยิ้ม รอยยิ้มที่มาจากใจถือเป็นพลังวิเศษ หลายๆ ครั้งเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากกว่าคำพูด
- การให้ของขวัญ การให้ของขวัญก็นับว่าเป็นการแสดงถึงความรักเช่นกัน ลองหาว่าสิ่งที่มีค่ากับกับเขาที่สุดคืออะไร ทุกๆ คนต้องการได้รับความรัก และความชื่นชมในสิ่งที่เป็น ถ้าของขวัญชิ้นนั้นสามารถบอกคุณค่าของตัวเขาได้ ของขวัญชิ้นนั้นจะน่าจดจำไปตลอดกาล
หลายคนกลัวการถูกปฏิเสธจนไม่กล้าบอกรัก แต่รู้ไหมว่า ทุกครั้งที่คุณใส่ใจใครสักคนมากๆ และคอยบอกเขาว่าเราแคร์เขาแค่ไหน เรากำลังเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง และวลีที่ว่า ‘ฉันรักเธอ’ นอกจากจะหมายถึงเรารักเขาแล้ว ก็ยังหมายถึงว่าเรารัก และชื่นชมตัวเองเช่นเดียวกัน
สำหรับมนุษย์แล้ว ทุกคนล้วนต้องการความรัก หรือมีคนเห็นคุณค่าในแบบที่เราเป็น ดังนั้นการที่ได้บอกใครสักคนว่าคุณรักเขา นั่นเป็นของขวัญพิเศษชิ้นหนึ่งที่คนคนหนึ่งจะสามารถมอบให้อีกคนได้ วง Big Ass บอกเอาไว้ว่า “อยากรักก็ต้องเสี่ยง” แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าได้ลองเปิดใจและซื่อสัตย์กับตัวเอง ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ให้เราเรียนรู้ และเดินหน้าต่อไปนะ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: