×

ภาพลวง GDP: อ่าน GDP อย่างไรไม่ให้หลงประเด็น

21.11.2020
  • LOADING...
ภาพลวง GDP: อ่าน GDP อย่างไรไม่ให้หลงประเด็น

เพิ่งจะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทยออกมาติดลบที่ 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ในระดับที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในตลาด (-8.8%) รวมถึง KKP Research เอง (-8.4%) คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 12.2% เห็นตัวเลขที่ติดลบน้อยลงและดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้มาก หลายคนคงมีคำถามว่าแล้วมีความหมายอย่างไร แปลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีหรือยังแย่กันแน่

 

มิติหนึ่งที่พอจะเห็นภาพชัดคือเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศที่เศรษฐกิจในไตรมาส 3 กลับมาเป็นบวกเทียบกับปีก่อนแล้ว เช่น เวียดนามที่กลับมาโต 0.4% หรือสหรัฐอเมริกาที่แม้จะยังหดตัวที่ 2.9% แต่ก็มีทิศทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 เรียกได้ว่า GDP ในหลายประเทศแทบจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤตแล้วก็ได้ เศรษฐกิจไทยดูจะยังต้องเดินทางอีกยาวไกลกว่าจะถึงจุดนั้น เพราะสัดส่วนการพึ่งพานักท่องเที่ยวที่สูงมาก

 

GDP ไตรมาส 3 บอกอะไรเราบ้าง 
สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ที่เพิ่งออกมา มีข้อสังเกตที่น่าสนใจและสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

 

1. การเติบโตของ GDP ที่ดีกว่าคาดเกิดจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นติดลบเหลือเพียง 0.6% จากตัวเลขไตรมาสก่อนที่ติดลบ 6.8% โดยหากดูเฉพาะการใช้จ่ายของคนไทยในประเทศ (ไม่รวมการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศ) การบริโภคจะขยายตัวถึง 3.8% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก หมายความว่าการบริโภคของคนไทยด้วยกันเองเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะแล้วเมื่อเทียบกับปีก่อน คำอธิบายที่เป็นไปได้คือตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อน Pent Up Demand หรือความต้องการซื้อที่อั้นสะสมมาจากช่วงปิดเมือง

 

เมื่อดูตัวเลขการบริโภคของเฉพาะคนไทยในประเทศก็ค่อนข้างน่าแปลกใจที่เติบโตได้ดีท่ามกลางภาวะที่รายได้ถูกกระทบอย่างหนักในปัจจุบัน เมื่อดูในรายละเอียดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเกิดจากกลุ่มสินค้าไม่คงทนและบริการด้วย ซึ่งก็น่าจะหมายถึงการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการทดแทนการออกไปเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้สวนทางกับตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ยังแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเองในไตรมาส 3 ยังต่ำกว่าปีก่อนอยู่มาก คิดเป็นรายได้เพียง 44% ของการท่องเที่ยวปีก่อนเท่านั้น เราจึงยังไม่เห็นภาพชัดนักว่าการฟื้นตัวในภาวะที่รายได้หายไปเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

2. การอุปโภคบริโภคภาครัฐ (+3.4%) และการลงทุนภาครัฐ (+18.5%) เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 3 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นแรงส่งสำคัญต่อตัวเลข GDP และเป็นแรงส่งให้ภาคการก่อสร้างกลับมาขยายตัวได้ดี โดยขยายตัว 10.5% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวกว่า 10.7% ยังเป็นตัวฉุด GDP ต่อเนื่อง

 

3. ภาคธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงยังคงหดตัวอย่างหนักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถกลับมาเที่ยวในไทยได้ ที่ถูกกระทบมากสุดคือภัตตาคารและโรงแรม (-39.5%) และการขนส่งและโกดัง (-23.6%) ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสัดส่วนใหญ่คือภาคบริการบางประเภท เช่น สันทนาการ (+3.1%) และภาคการผลิต (หดตัว 5.8% เทียบกับหดตัว 14.2% ในไตรมาส 2) เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

 

ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP จะปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในไตรมาส 3 และเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในแง่ของ ‘ตัวเลข’ ไปแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไป ตัวเลข GDP ที่ดีกว่า (หรือแย่กว่า) ตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ในหลายๆ ครั้งก็อาจไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงได้ดีนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

นักเศรษฐศาสตร์แทบไม่เคยคาดการณ์ GDP ถูก
ตัวเลข GDP เป็นหนึ่งในตัวเลขเศรษฐกิจที่มีคนสนใจติดตามมากที่สุด เพราะเป็นตัวเลขที่สรุปภาพรวมทั้งหมดของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ หรือคือรายได้รวมที่คนทั้งประเทศสร้างได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ และเป็นตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ตามสถาบันวิจัยต่างแข่งขันกันเพื่อประมาณการตัวเลขนี้ให้ถูกต้องให้ได้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน หรือแม้แต่การทำนโยบายเศรษฐกิจในภาครัฐก็ตั้งเป้าหมายไว้กับตัวเลข GDP เป็นหลัก แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั้งนักเศรษฐศาสตร์ไทยและโลกแทบไม่เคยคาดการณ์ GDP ได้ถูกต้องเลย 

 

เมื่อเทียบการคาดการณ์ GDP ของ IMF กับตัวเลข GDP จริง IMF มีแนวโน้มประเมิน GDP สูงเกินไป และปรับประมาณการลงหลายครั้งเมื่อมีการประกาศตัวเลขจริง

 

 

สำหรับกรณีของไทย การคาดการณ์ GDP ให้ตรงตามตัวเลขที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ทำได้ยาก และแม้คาดการณ์ได้ถูกต้องก็อาจไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจได้เต็มที่ ทำให้ในหลายครั้งการแข่งขันกันประมาณการตัวเลข GDP ออกมาให้ถูกต้องอาจมีประโยชน์ในแง่ของความหมายทางเศรษฐกิจจริงๆ น้อยกว่าต้นทุนด้านเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์จากทุกสำนักทุ่มเทลงไปเพื่อประมาณการตัวเลขนี้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับนักลงทุนและคนทำธุรกิจ ตัวเลข GDP ก็อาจจะไม่ได้ให้ภาพเศรษฐกิจที่ครบถ้วนและตรงประเด็นมากอย่างที่คิด สาเหตุมีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง

 

ประเด็นแรกคือ GDP ถูกวัดจากหลายวิธีและมีค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติสูง กระทบต่อการประเมินภาพเศรษฐกิจ ขออธิบายอย่างง่ายๆ เพื่อที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเลข GDP โดยปกติแล้วการวัด GDP จะวัดจากสองวิธีคือ วัดจากฝั่งการบริโภค และวัดจากฝั่งการผลิต โดยตัวเลข GDP ที่ใช้ประกาศเป็นทางการจะเป็น GDP จากฝั่งการผลิต หรือก็คือมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ประเทศผลิตได้ หากสินค้าที่ผลิตมาแล้วขายไม่ได้ (ผลิตมากกว่าบริโภค) จะทำให้ GDP ในฝั่งการผลิตมากกว่าฝั่งการบริโภค และถูกนับไปเป็นสินค้าคงคลัง (Inventory) ซึ่งจะถูกนับเป็น GDP เช่นกัน 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อนับ GDP ฝั่งการบริโภครวมกับสินค้าคงคลังแล้ว GDP ก็อาจยังไม่เท่ากับการผลิตได้อยู่ดี ส่วนต่างนั้นขอเรียกรวมๆ ว่าเป็นค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ เกิดจากสองเหตุผลคือความคลาดเคลื่อนจากการวัดตัวเลข GDP ในสองวิธีที่วัดได้ไม่เท่ากัน และการคำนวณ GDP แบบ Chain Volume Measure (CVM) (ไม่ได้อธิบายรายละเอียดไว้ในที่นี้) ที่ทำให้แต่ละองค์ประกอบของ GDP ไม่สามารถบวกกันได้ 

 

เปรียบเทียบการเติบโตของ GDP ฝั่งการผลิตที่สภาพัฒน์ประกาศ และ GDP จากการรวมองค์ประกอบจากฝั่งการใช้จ่าย
พบว่าการเติบโตมีความแตกต่างกันมากตั้งแต่ -3.1% ไปจนถึง +1.2% นับตั้งแต่ปี 1993

 

 

ที่น่ากังวลคือในกรณีของไทย ตัวเลข GDP ในแต่ละไตรมาสสามารถเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติ ซึ่งอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ในขนาดใหญ่มากตั้งแต่ -3.1% ไปจนถึง 1.2% ยกตัวอย่างเช่น ในไตรมาส 3/18 ที่ตัวเลข GDP ที่ประกาศเติบโตได้ 3.2% แต่ความจริงแล้วเกิดจากค่าคลาดเคลื่อนถึง 0.8% ซึ่งเมื่อหักเลขส่วนนี้ออกไป การเติบโตที่เกิดขึ้นจริงจะเหลือเพียง 2.4% เท่านั้น หมายความว่าเลข GDP ที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราอธิบายได้ 

 

แม้ว่าค่าความคลาดเคลื่อนอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ เช่นกันในขนาดที่มากน้อยต่างกันไป แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดี ค่าความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP มากนัก แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำเพียง 2-3% เท่านั้น ค่าความคลาดเคลื่อนเพียง 1% ก็คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการเติบโตทั้งหมดของ GDP ไทยแล้ว

 

ประเด็นที่สอง เมื่อตัดส่วนของค่าความคลาดเคลื่อนออกไป การเติบโตของ GDP ไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนใหญ่มาก หากดูการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด (2017-2019) ของไทยจะพบว่า GDP เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7% อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจนัก เนื่องจากในระยะ 3 ปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังที่โดยปกติแล้วมีสัดส่วนเล็กและปรับตัวขึ้นลงอยู่ตลอดตามภาวะเศรษฐกิจจนแทบไม่ส่งผลต่อ GDP กลับกลายเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไทยติดต่อกันยาวนานถึงกว่า 10 ไตรมาส ส่งผลให้ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5% หมายถึงเรามีการผลิตที่มากกว่าอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง หากหักตัวเลขส่วนนี้ที่เกิดจากสินค้าคงคลัง การเติบโตเฉลี่ยของ GDP ไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะเหลือเพียง 2.2% เท่านั้น (เปรียบเทียบกับกรณีของสหรัฐอเมริกาที่การเติบโตของ GDP เฉลี่ยจากสินค้าคงคลังอยู่ในระดับใกล้ 0)

 

ขอใช้ตัวอย่างเดิมคือในไตรมาส 3/18 ที่สินค้าคงคลังเติบโตขึ้นเยอะมาก การเปลี่ยนแปลงของเฉพาะการใช้จ่ายจริงๆ ของคนจะเปลี่ยนเป็น ‘ติดลบ 3.7%’ จากตัวเลข GDP ที่เราเห็นตอนแรกสุดคือ 3.2% เปลี่ยนจากหน้ามือไปเป็นหลังมือ เรียกได้ว่าความแตกต่างของการประมาณการ GDP ในระดับทศนิยมที่เรามักสนใจกันแทบจะไม่มีความหมายเลย เพราะสามารถเกิดจากสิ่งที่อธิบายได้ยากอย่างค่าความคลาดเคลื่อนและสินค้าคงคลัง

 

ประเด็นสุดท้าย ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ที่สูงในไทยทำให้ท้ายที่สุดแล้วเลข GDP ไม่สะท้อนคุณภาพชีวิตจริงๆ ของคน เพราะการเติบโตของ GDP เป็นการเติบโตของรายได้รวมในประเทศ แต่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนแต่ละกลุ่มได้ประโยชน์เท่ากัน ซึ่งในกรณีของประเทศไทย เราเห็นชัดว่าการเติบโตของรายได้มักกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูง (จากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และกระจุกตัวอยู่ในบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้น (เศรษฐกิจไทยมีรายได้ประมาณ 10% อยู่ในภาคเกษตร 30% อยู่ในภาคการผลิต และ 60% อยู่ในภาคบริการ) การใช้ตัวเลขเพียงตัวเดียวจึงไม่สามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มได้

 

แล้วเราควรอ่านตัวเลข GDP อย่างไร
คำถามที่เกิดตามมาคือแล้วการติดตามตัวเลข GDP ยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่ในการบอกทิศทางเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าคงยังมีประโยชน์อยู่ แต่จากปัญหาของ GDP ที่บอกมา มีข้อแนะนำอยู่ 3 อย่างหากต้องการใช้ตัวเลข GDP ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

 

1. ไม่ดูเฉพาะตัวเลขการเติบโตของ GDP รวมแต่ดูการเติบโตในระดับองค์ประกอบของ GDP ในฝั่งการบริโภค แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักคือ

1.1 หากต้องการเข้าใจเศรษฐกิจในประเทศ ควรจะดูภาวะการบริโภคและการลงทุน

1.2 หากต้องการเข้าใจเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ควรดูตัวเลขการส่งออกซึ่งสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจโลก

1.3 การนำเข้าซึ่งส่งผลลบต่อ GDP (การนำเข้าที่ลดลงหมายถึงรายได้ที่สร้างได้ถูกเก็บไว้ในประเทศมากขึ้น) ทำให้หลายครั้งเศรษฐกิจที่เติบโตอาจเกิดจากการนำเข้าที่ลดลงได้

1.4 ตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นการสะท้อนแรงส่งจากนโยบายเศรษฐกิจ การพิจารณาแยกเป็นส่วนๆ ในลักษณะนี้จะทำให้เข้าใจภาพเศรษฐกิจมากกว่าการดูตัวเลข GDP รวมที่มีข้อมูลทั้งสินค้าคงคลังและความคลาดเคลื่อนปนกันอยู่

 

2. ตัวเลขการเติบโตของ GDP สูงไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจดีเสมอไป แม้ว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP เทียบกับปีก่อนจะเป็นสิ่งที่คนในตลาดการเงินติดตามกันมาก แต่หลายครั้งอาจไม่ได้หมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดี เพราะตัวเลขนี้ขึ้นอยู่กับฐาน (GDP ปีก่อน) ที่นำมาใช้คำนวณ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และปิดเมืองในปี 2020 เศรษฐกิจมีการหดตัวลงไปรุนแรงมาก จะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ในไตรมาส 2-4 ปีหน้าสูงขึ้นมากโดยปริยายจากตัวฐานที่ต่ำลงไปกว่าปกติในปีนี้ แต่แท้จริงแล้วเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้นการอ่านตัวเลข GDP จึงควรดูระดับของ GDP ควบคู่ไปกับการดูเฉพาะอัตราการเติบโต

 

3. ภาพการเติบโตของ GDP อาจไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของทุกคนในประเทศ จะมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากและกลุ่มคนที่เสียประโยชน์อยู่เสมอจากการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะในมุมของระดับรายได้ พื้นที่ และกลุ่มธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น GDP ที่เริ่มฟื้นตัวในไทยไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวที่ยังแย่อยู่อย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูง เช่น ภูเก็ต กระบี่

 

ในมุมของการลงทุนและการทำธุรกิจ การอ่านผลแบบเฉพาะเจาะจงนี้เป็นประโยชน์มากกว่าการพิจารณาเฉพาะเลข GDP รวมอย่างเดียว เพราะแต่ละธุรกิจต่างพึ่งพากำลังซื้อหลักจากคนละแหล่งกัน เช่น การค้าปลีกและค้าส่งที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศ โรงแรมและภัตตาคารที่พึ่งพานักท่องเที่ยว หรือการผลิตรถยนต์ที่พึ่งพาการส่งออก ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์และกำหนดทั้งการลงทุนและทิศทางธุรกิจทำได้ดียิ่งขึ้นด้วย

 

จากข้อมูลหลายๆ อย่างก็สะท้อนภาพให้เห็นว่าการติดตามภาวะเศรษฐกิจผ่านการดูเฉพาะตัวเลข GDP และการคาดการณ์ GDP เป็นหลักอาจไม่ได้มีความสำคัญมากเท่ากับน้ำหนักที่นักลงทุนให้ไปกับตัว GDP หลายๆ ครั้งการดูตัวเลข GDP เป็นรายไตรมาสก็อาจจะเบนความสนใจเราไปจากทิศทางระยะยาวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับกรณีของตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 นี้ที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว และดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวและอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพอีกมาก ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีอยู่สูง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ธุรกิจจะมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ การเลิกจ้างงานในระยะข้างหน้า รวมถึงการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ในช่วงสั้นๆ นี้เราคงต้องหวังพึ่งนโยบายภาครัฐเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

 

*ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising