×

บริหารเงินใน ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ อย่างไร…เมื่อต้องย้ายงาน!

15.12.2020
  • LOADING...
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปี และเป็นช่วงที่ใครหลายๆ คนอาจจะกำลังวางแผนการเที่ยวหลังจากที่ทำงานกันมาอย่างหนักตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะวางแผนเที่ยวแล้ว ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจกำลังวางแผนย้ายที่ทำงานไปที่บริษัทใหม่ หรือเลิกทำงานประจำไปเลยเพื่อหันมาประกอบธุรกิจส่วนตัว รวมถึงบางคนอาจต้องการเกษียณจากงานประจำเนื่องจากเหตุผลที่แตกต่างกันไป

เวลาที่เราจะย้ายงานหรือเลิกทำงานประจำ อะไรๆ ก็เคลียร์เกือบหมดแล้ว แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับมันก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD ก่อนอื่นเลยต้องขอเท้าความสักเล็กน้อย ว่าการลงทุนใน PVD เป็นการออมที่ดีมากประเภทหนึ่ง สามารถเลือกแผนในการลงทุนได้ตามที่แต่ละบริษัทจะให้เลือก โดยเงินลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน แต่ห้ามขายก่อนอายุครบ 55 ปี และถือมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีด้วย

ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิดการย้ายงานหรือเลิกทำงานประจำก่อนเวลาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม มนุษย์เงินเดือนทุกท่านรวมถึงตัวผู้เขียนด้วย มีทางเลือกอยู่หลายทางสำหรับเงิน PVD ที่สะสมไว้ในที่ทำงานเก่า มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. คงเงินไว้ที่เดิม

เวลาที่เราย้ายงานไปที่ใหม่ เราอาจจะเลือกคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ที่เดิมก่อนได้ โดยมีค่าธรรมเนียมที่แต่ละ บลจ. ที่เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนด และการคงเงินไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 90 วันตั้งแต่ลาออกจากงาน ส่วนคงไว้ได้นานขนาดไหนขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละกองทุน วิธีนี้เป็นวิธีที่หลายๆ คนเลือกใช้ เพราะเวลาที่เราย้ายไปที่ทำงานใหม่ เราต้องไปเริ่มงานในฐานะพนักงานทดลองงานก่อน หรืออยู่ในช่วงทดลองงาน (Probation) ดังนั้นเราจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ ต้องรอให้ผ่านช่วงทดลองงานไปก่อนถึงจะเป็นสมาชิกได้

 

2. ย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่
กรณีนี้ทำได้หลังจากที่ผ่านช่วงทดลองงาน และถูกบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำแล้ว วิธีโอนเงินไปจะมี 2 แบบคือ (1) ทางกองทุนจะออกเป็นเช็คแล้วส่งมาให้เรา เราก็เอาไปให้ HR ที่ทำงานใหม่ดำเนินการต่อ (2) ทางกองทุนทำเช็คแล้วส่งไปที่กองทุนที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ใหม่ให้เลย

 

3. โอนไปเข้าซื้อกองทุน RMF สำหรับ PVD
ปัจจุบันวิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง และเป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้ในการย้ายงานครั้งล่าสุด รวมถึงแนะนำให้เพื่อนของผู้เขียนด้วย เมื่อเราลาออกจากงานและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่เก่าแล้ว ไม่จำเป็นต้องคงสภาพไว้เพื่อรอโอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ใหม่ แต่สามารถโอนไปซื้อกองทุน RMF ที่รองรับ PVD ได้เลย แค่ทำเอกสารตามที่ บลจ. ปลายทางกำหนดไว้เท่านั้น ข้อดีของทางเลือกนี้ก็คือ เราสามารถเลือกได้เองว่าจะให้เงินของเราไปอยู่ที่กองทุนที่มีนโยบายลงทุนตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะกองหุ้นทั่วโลก กองหุ้นจีน กองหุ้นไทย กองผสม กองทุนรีทและโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนทองคำ กองตราสารหนี้ หรือแม้แต่กองทุนตลาดเงิน Money Market สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง แล้วหลังจากนั้นเราสามารถบริหารจัดการได้เอง จะสลับกองไปมาก็แล้วแต่เรา ปัจจุบันมีหลาย บลจ. ที่กองทุน RMF มีคุณสมบัติที่มีความสามารถในการรับโอนเงิน PVD เข้ามา เช่น บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ทิสโก้, บลจ.กรุงศรี, บลจ.ทหารไทย, บลจ.กรุงไทย ฯลฯ

 

4. ร้อนเงิน ขายทิ้งเลยดีกว่า
วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ แต่ถ้าใครจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็คงไม่มีทางเลือกมากเท่าไร แต่จำไว้ว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่จะโดนภาษีหนักหน่วงพอสมควร โดยเงิน PVD ของเรานั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน (1) เงินที่เราส่งเข้ากองทุนทุกเดือน (2) ส่วนกำไรของเงินที่เราส่ง (3) เงินส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ (4) ส่วนกำไรของเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ

ถ้าเราขาย PVD ออกไปก่อนที่อายุจะถึง 55 ปีตามที่กฎหมายกำหนด เราจะต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินในส่วนที่ 2-4 และจะต้องถูกเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับในปีที่ผ่านๆ มาคืนด้วย จะมีเพียงเงินส่วนที่เราส่งเข้ากองทุนเท่านั้นที่จะไม่โดนภาษี สรุป ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยจะคุ้มสักเท่าไร

จะเห็นได้ว่าทางเลือกของเรามีอยู่หลายทางเหมือนกัน แต่ละทางก็มีสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบที่ต่างกัน สำหรับคนที่มีความรู้ในด้านการลงทุน และต้องการเอาเงินบางส่วนมาบริหารเอง ก็อาจเลือกวิธีโอนไปที่กองทุน RMF ที่สามารถรองรับ PVD ได้ แต่ถ้าเราไม่อยากรับผิดชอบอะไรเพิ่มขึ้น และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้ว ก็อาจเลือกวิธีโอนเงินจาก PVD ที่เดิมมาไว้ที่ใหม่

แต่วิธีที่ไม่แนะนำเลยคือขายทิ้ง เพราะจะโดนภาษีเยอะพอสมควร บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเงินของเรา เราจะทำอะไรกับมันก็ได้ ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียว มันเป็นเงินของเราก็จริง แต่ถ้ายังไม่ถึงกำหนดตามที่ข้อบังคับกำหนดก็ไม่ควรขาย เพราะทำให้เราต้องโดนภาษี รวมถึงโดนเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืนด้วย สิ่งที่คิดกับข้อบังคับมันอาจไม่ตรงกัน เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างสูง

จะวางแผนย้ายงานทั้งที อย่างไรก็อย่าลืมวางแผนสำหรับเงิน PVD ที่เราสะสมไว้กันด้วยนะครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising