ปี 2564 นี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศยังไม่คลี่คลาย แต่เศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ทางออกของเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 และโจทย์การพัฒนาระยะยาวจะเปลี่ยนไปอย่างไร THE STANDRAD WEALTH รวบรวมมุมมองจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทีมวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารโลก จากงานสัมมนาหัวข้อ ‘The Thai Economy in 2021: Safeguarding the Recovery’ มาแล้ว
(เรียงจากซ้ายไปขวา)
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.)
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย
แบงก์ชาติมองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากันแบบ K-Shape
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า โควิด-19 ระลอกใหม่นี้แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่ากับการระบาดในครั้งแรก ส่วนหนึ่งเพราะประเทศคู่ค้ายังสามารถทำการค้าได้ และมาตรการควบคุมโรคระบาดยังไม่เข้มงวดเท่ากับช่วงก่อนหน้า
แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวชะลอลงจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ที่ซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบจากรอบก่อนหน้า เช่น แรงงานที่อาจได้ผลรับกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่นี้อยู่ที่ 4.7 ล้านคน
ดังนั้นจากเดิมที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ในกลางปี 2565 แต่อาจจะเลื่อนการฟื้นตัวออกไปเห็นชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 แทน สาเหตุที่การฟื้นตัวอาจชะลอลงเพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวแบบ K-Shape คือผลกระทบไม่เท่ากันในทุกภาคส่วน อย่างภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในเร็ววัน ทำให้โจทย์ใหญ่คือมาตรการเศรษฐกิจ (รวมถึงมาตรการการเงิน) ที่จะออกเพิ่มเติมหลังจากนี้ต้องตรงจุดและตรงคนมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของมาตรการที่อาจจะเกิดขึ้นรอบด้าน
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ความยืดเยื้อ โควิด-19 จะมีรอบใหม่ไหม มาตรการจะเข้มงวดขึ้นไหม?
ประสิทธิผลของการออกแบบเยียวยามาตรการของรัฐทั้งในระยะสั้นและยาว
การเปิดประเทศและการกระจายวัคซีน ซึ่งจะเป็นขาขึ้นเศรษฐกิจไทยที่จะเร็วขึ้นหรือไม่อยู่ที่ส่วนนี้
เมื่อโควิด-19 สร้างแผลลึกต่อเศรษฐกิจไทย ‘คนจนยิ่งจน คนรวยยิ่งรวย’
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเลยกระทบภาคธุรกิจและภาคแรงงาน เช่น การปิดร้านค้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงและกระทบรายได้ในหลายพื้นที่ จากผลกวิเคราะห์ของกรุงศรีพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องปรับตัวมากที่สุดยังกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ
“คนที่มีรายได้น้อย รายได้จะยิ่งน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่ม Unskill Labour หรือธุรกิจที่ซบเซาก็แย่ลง ขณะที่กลุ่มคนที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว เช่นกลุ่ม Skill Labour ธุรกิจที่ยังเติบโตได้ยิ่งเติบโตขึ้น”
ทางแก้ที่ไทยต้องเร่งทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวคือ มาตรการที่จะลดอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งการปรับตัว (ในมิติบุคคล-ธุรกิจ) การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเข้าถึงทุน การเข้าถึงตลาด และการเข้าถึงวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยให้คนสามารถปรับตัวได้ในระยะยาวมากกว่าการใช้เพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น
Photo by Scott Varley / Digital First Media / Torrance Daily Breeze via Getty Images
คลังย้ำชัด ‘วัคซีนความหวังเศรษฐกิจไทย’ พร้อมออกมาตรการเมื่อจำเป็น
พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังเล่าว่า มาตรการระยะยาวของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีการหารือเพิ่มเติมในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งปัจจัยหลักจึงต้องติดตามความคืบหน้าวัคซีนที่จะช่วยให้ไทยก้าวพ้นวิกฤตนี้ได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก่อนที่วัคซีนจะเข้ามาในช่วงพฤษภาคม 2564 นี้ ทางภาครัฐจึงออกมาตรการระยะสั้นเช่น เราชนะ (เม็ดเงิน 210,000 ล้านบาท) คนละครึ่งระยะที่ 2 ฯลฯ เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังต้อรอโควิด-19 คลี่คลาย และการหาแนวทางฟื้นตัวในรูป K-Shape โดยคลังยังมองการพัฒนาระยะยาวหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเติบโตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งอย่างต่อเนื่อง
“ไทยฐานะการคลังเราถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 42% ขณะที่กรอบเพดานอยู่ที่ 60% ซึ่งต้องมองว่าเป็นกรอบที่เราตั้งขึ้นมา ดังนั้นถ้าในอนาคตการลงทุนมีความจำเป็น และการใช้เงินคุ้มค่า เราต้องก็สามารถขยับได้”
แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มที่เชิงโครงสร้าง ‘แรงงาน-กับดักรายได้ปานกลาง’
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องแรงงานที่เป็นปัญหามาก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 อยู่แล้ว เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่าหลายประเทศ
ขณะเดียวกันยังมี ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ที่หลายประเทศยังพยายามที่จะทำให้พ้นกับดักนี้ แต่การจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ได้ต้องเริ่มในหลายด้าน ทั้งการลงทุนในระดับครัวเรือน การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และภาคเอกชนฟื้นตัวในระยะยาว
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาเรื่องแรงงาน ทั้งมิติการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แต่ละบุคคล และวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบจากจำนวนแรงงานที่อาจลดลง ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ หรือการยืดอายุเกษียณออกไป ขณะเดียวกันต้องทบทวบการเพิ่มบทบาทแรงงานผู้หญิงให้มากขึ้นผ่านการสนับสนุนด้านสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับบุตร และอื่นๆ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า