×

ผ่าวิกฤตเมียนมา เทียบศรีลังการุนแรงแค่ไหน เสี่ยงล้มละลายหรือไม่

26.07.2022
  • LOADING...
วิกฤตเมียนมา

หลังธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่มีเงินกู้ต่างประเทศระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นตามที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ว่า เมียนมาอาจเป็นประเทศถัดไปในเอเชียต่อจากศรีลังกาที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ท่ามกลางปัญหาเงินทุนสำรองร่อยหรอที่ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับวิกฤตการเมืองที่กำลังเป็นที่จับตาของนานาชาติจากกรณีการประหารนักกิจกรรม 4 คน ที่อาจเป็นชนวนให้มวลชนออกมาประท้วงครั้งใหญ่จนเกิดความระส่ำระสายเหมือนกับศรีลังกา

 

บทความนี้จะชวนวิเคราะห์ที่มาที่ไปของวิกฤตการณ์ในเมียนมา พร้อมเปรียบเทียบโมเดลปัญหาศรีลังกา และคาดการณ์ว่าเมียนมาจะไปสู่จุดไหน กับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการแห่งศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมียนมามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

  • ดร.ปิติ ให้มองย้อนกลับไปถึงตอนที่เมียนมาเริ่มเปิดประเทศและเปิดเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งเวลานั้นเมียนมาเริ่มมีการปฏิรูปการเมือง โดยเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิก 1 ใน 4 ของรัฐสภา หลังจากที่ปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี เป็นอิสระ จนกระทั่งซูจีได้มาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

 

  • เวลานั้นเศรษฐกิจเมียนมาเริ่มเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศมองว่าเมียนมาเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อดูจากกำลังซื้อของตลาดที่มีประชากร 55 ล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งพลังงาน อัญมณี ป่าไม้ พื้นที่เกษตร ขณะที่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมียนมาก็เป็นจุดเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

 

  • เม็ดเงินลงทุนจึงไหลเข้าเมียนมาอย่างมหาศาลนับแต่นั้น พร้อมๆ กับกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องต่อจากการปฏิรูปการเมือง

 

  • ปี 2015 เส้นทางการปฏิรูปของเมียนมาดูจะไปได้สวย เมื่อ ออง ซาน ซูจี ขึ้นมาเป็นผู้นำเมียนมา (ในทางพฤตินัย) โดยสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพรรค NLD ได้สำเร็จ แม้ว่าเธอจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ตาม แต่ก็ทำให้ประชาชนมีความหวังกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศ

 

  • แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อผลการเลือกตั้ง ‘แลนด์สไลด์’ ที่เป็นชัยชนะของ ออง ซาน ซูจี ในปี 2020 ทำให้เกิดความขัดแย้งในกองทัพที่ยังต้องการควบคุมการเมืองดังเช่นในอดีตอยู่ และเมื่อหาทางออกกับซูจีไม่ได้ จึงนำไปสู่การทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ภายใต้การนำของ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา และต่อมาได้ตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังรัฐประหารคือทหารไม่สามารถควบคุมทุกอย่างให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะคุมข้าราชการบางส่วนไม่ได้ และคุมภาคประชาชนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขัดแย้งกับฐานเสียงของซูจีอีก

 

  • ต่อมาหลังจากซูจีถูกจับดำเนินคดี พรรค NLD ได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ขึ้นมา ขณะที่พลเรือนบางส่วนได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน นอกจากนี้กองกำลังชาติพันธุ์ก็ลุกฮือขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารอีกด้วย ความขัดแย้งครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น

 

  • นอกจากสถานการณ์ในประเทศที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถควบคุมได้แล้ว เมียนมายังเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอกที่ต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาและประเทศคู่ค้าสำคัญจึงทยอยถอนการลงทุน และมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

 

  • นอกจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแล้ว เมียนมายังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิดเหมือนกับทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อของขายไม่ได้ คนไม่มาลงทุน นักท่องเที่ยวไม่เอาเงินตราต่างประเทศเข้ามา จึงทำให้เงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ค่อยๆ ร่อยหรอลง

 

  • อีกปัจจัยคือสงครามในยูเครนที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าที่เมียนมาเคยนำเข้ามีราคาแพงขึ้น รายจ่ายจึงเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศที่ลดน้อยลง

 

  • เมื่อรัฐบาลตระหนักว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถูกดึงไปใช้นำเข้าสินค้าลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการสั่งระงับการชำระหนี้ต่างประเทศในภาคเอกชน และลดการส่งออกเงินตราต่างประเทศออกไป ด้วยเหตุนี้การค้าบางส่วนจึงหยุดชะงักลง

 

  • อย่างไรก็ตาม เมียนมายังแง้มหน้าต่างการค้าไว้ โดยเปิดทางให้ค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลจ๊าดกับเงินหยวนของจีน และจ๊าดกับเงินบาทของไทย

 

เทียบโมเดลปัญหาศรีลังกา เมียนมามีโอกาสล้มเหมือนศรีลังกาหรือไม่?

  • ดร.ปิติ มองว่าปัญหาที่เกิดกับศรีลังกานั้นมีความรุนแรงกว่าเมียนมา เพราะเมียนมาไม่ได้ปกป้องค่าเงินเหมือนที่ศรีลังกาทำ หรือไม่ได้เดินซ้ำรอยไทยในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997

 

  • กรณีของศรีลังกานั้น ชนวนปัญหาเริ่มมาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของตระกูลราชปักษา แต่การบริหารประเทศของมิน อ่อง หล่าย กับ ออง ซาน ซูจีนั้น ไม่ได้แตกต่างกันตามทัศนะของ ดร.ปิติ ส่วนที่มองว่าปัญหาของเมียนมาอาจไม่เลวร้ายเท่าศรีลังกานั้น เป็นเพราะเมียนมายังสามารถส่งออกได้อยู่ โดยเฉพาะการส่งออกพลังงาน

 

  • อย่างไรก็ตาม กรณีการประหารนักกิจกรรม 4 คนในเมียนมา อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายประเทศอาจยกระดับการคว่ำบาตรเมียนมา ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมามากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องจับตาด้วยว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นประท้วงหรือต่อต้านรัฐบาลอย่างไร แล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

 

  • แต่ ดร.ปิติ ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงในเมียนมาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกองทัพเห็นดีด้วยเหมือนเมื่อครั้งที่ซอหม่องเข้ามาแทนที่เนวินในปี 1988 แล้วตานฉ่วยก็มายึดอำนาจต่อจากเขาอีกทีในปี 1992 โดยตราบใดที่กองทัพยังเป็นเนื้อเดียวกับมิน อ่อง หล่าย โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิดขึ้น

 

วิกฤตในเมียนมาอาจเป็นโอกาสของรัสเซียและจีน

  • ในอดีตที่ผ่านมา หากเกิดวิกฤตขึ้น ประเทศที่มีบทบาทเข้ามาช่วยเหลืออยู่เสมอคือจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงตอนที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งด้วย ส่วนวิกฤตในเมียนมารอบนี้ ดร.ปิติ มองว่าเป็นโอกาสสำคัญของรัสเซีย เพราะรัสเซียในเวลานี้ต้องการเพื่อนอย่างมาก หลังจากที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรอย่างหนักจากกรณีรุกรานยูเครน ดังจะเห็นได้จากการไปเยือนรัสเซียของมิน อ่อง หล่าย เมื่อเร็วๆ นี้

 

  • ส่วนนโยบายของจีนนั้นมีหลักการชัดเจนคือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ดร.ปิติ มองว่าจีนเปรียบเหมือนนักธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจนั้นไม่เลือกข้าง ดังนั้นการค้าระหว่างสองประเทศจึงยังดำเนินต่อไป โดยวิกฤตรอบนี้อาจเพิ่มโอกาสให้เมียนมาหันมาให้ความสำคัญกับคู่ค้าอย่างจีนมากขึ้นด้วย

 

  • สำหรับไทยนั้น ดร.ปิติ มองว่าวิกฤตในเมียนมาอาจเป็นโอกาสให้ไทยได้ใช้เงินบาทมากขึ้น เพราะเมียนมาไม่ต้องการซื้อขายโดยส่งเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ซื้อขายด้วยเงินบาทแทน นอกจากนี้ ดร.ปิติ ยังเน้นย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเมียนมา เพราะไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและแรงงานเมียนมาอย่างมหาศาล

 

  • ดร.ปิติ กล่าวว่า อาเซียนมีหลักการสำคัญคือการดำเนินนโยบายที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเมียนมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาเซียนไม่คว่ำบาตรหรือไม่ประณามใดๆ เพราะมองว่าท้ายที่สุดไม่ได้ส่งกระทบต่อเหล่าผู้นำทหาร แต่เป็นประชาชนที่เดือดร้อนแทน

 

  • ส่วนกรณีการประหารนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย 4 คนนั้น หลายฝ่ายตำหนิบทบาทของอาเซียน ซึ่งล่าสุดกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 คน โดยย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความวิตกกังวลและความเศร้าสลดใจต่อชาติสมาชิก พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

วิกฤตในเมียนมาจะไปถึงจุดไหน

  • ดร.ปิติ มองว่าคำถามนี้ตอบได้ยาก เพราะเวลานี้ยังประเมินสถานการณ์ได้ยาก เนื่องจากสิ่งที่เรายังไม่รู้คือมิน อ่อง หล่าย ยังสามารถควบคุมกองทัพได้ดีเพียงใด ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบว่าภายในกองทัพมีนายทหารระดับสูงที่ขัดแย้งกันอยู่หรือไม่ มีความแตกแยกทางความคิดที่อาจนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจมิน อ่อง หล่าย และคืนอำนาจให้ประชาชนหรือไม่

 

  • อีกสิ่งที่น่าจับตาคือดูว่ารัฐบาลเงา (NUG), กลุ่มติดอาวุธภาคประชาชน (PDF) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา สามารถรวมพลังจนมีอำนาจเพียงพอในการขับไล่มิน อ่อง หล่าย หรือไม่ รวมถึงปัจจัยภายนอกที่มาจากการแทรกแซงของโลกตะวันตกก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

  • ดร.ปิติ มองว่าสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ในเวลานี้คือนโยบายของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ สิ่งสำคัญคือการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อย่างการเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด

 

ภาพ: STR / NurPhoto via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising