×

รัสเซียใช้อำนาจเผด็จการทางเทคโนโลยีอย่างไร ในการรับมือวิกฤตโควิด-19

โดย Master Peace
30.03.2020
  • LOADING...

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้อนุมัติมาตรการสำคัญเพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอำนาจเผด็จการ ด้วยการสร้างอธิปไตยบนระบบอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัฐบาลเครมลินสามารถตั้งไฟร์วอลล์ (Firewall) บนระบบอินเทอร์เน็ตของตัวเองให้แยกจากทั่วโลก เพื่อรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย พร้อมทั้งกลั่นกรองและจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง



วิกฤตแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกตอนนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลรัสเซียจะทดสอบอำนาจและเทคโนโลยีใหม่นี้ ซึ่งสร้างความกังวลต่อนักเคลื่อนไหวผู้สนับสนุนสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการแสดงออก ที่มองว่ารัฐบาลกำลังสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ในการเฝ้าระวังประชาชน



หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ถูกจับตามองว่ารัฐบาลรัสเซียจะใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือระบบจดจำและวิเคราะห์ใบหน้า ที่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีถูกคัดค้านจากกลุ่มสนับสนุนสิทธิส่วนบุคคล ถึงขั้นมีการฟ้องร้องว่าเป็นการสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างผิดกฎหมาย



แต่การระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 กลับยิ่งทำให้เทคโนโลยีจดจำใบหน้านี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ประชาชน และทำให้รัฐบาลรัสเซียสามารถประชาสัมพันธ์ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไม่คาดคิด



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจในกรุงมอสโกเปิดเผยว่า ได้จับกุมและลงโทษปรับประชาชนราว 200 คน ที่ละเมิดคำสั่งกักตัวที่พัก โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าพร้อมกับกล้องวงจรปิดอีกกว่า 170,000 ตัวที่ติดตั้งอยู่ทั่วเมือง สื่อท้องถิ่นของรัสเซีย รายงานว่า ผู้ถูกจับกุมบางคนนั้นออกมาจากบ้านได้ไม่ถึงครึ่งนาที ก่อนจะถูกระบบจดจำใบหน้าตรวจจับได้



“เราต้องการให้มีกล้องมากกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่มีมุมบอดหรือบริเวณริมถนนที่ไม่มีกล้องตรวจจับหลงเหลืออยู่” โอเล็ก บารานอฟ ผู้บัญชาการตำรวจกรุงมอสโกกล่าว ในขณะที่ทางการท้องถิ่นกรุงมอสโกกำลังติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มอีกกว่า 9,000 ตัว



ระบบจดจำใบหน้ายังถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียของผู้ที่ต้องสงสัยติดโควิด-19 โดย เซอร์เกย์ ซาเบียนนิน นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก ระบุชัดเจนในเว็บไซต์ของทางการถึงวิธีที่เจ้าหน้าที่เทศบาลใช้เทคโนโลยีนี้ติดตามตัวหญิงชาวจีนคนหนึ่งที่เดินทางจากปักกิ่งมามอสโกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มตั้งแต่ตรวจหาพิกัดรถแท็กซี่ที่รับหญิงรายนี้จากสนามบิน ตรวจสอบเพื่อนคนหนึ่งที่หญิงรายนี้ออกมาพบนอกอพาร์ตเมนต์โดยละเมิดคำสั่งกักตัว และเก็บข้อมูลของผู้ที่อาศัยอยู่นอพาร์ตเมนต์เดียวกับเธอทั้งหมดกว่า 600 คน



จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงใช้เทคโนโลยีระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์เพื่อแกะรอยผู้ที่เป็นพาหะของโควิด-19 ซึ่งนักระบาดวิทยามองว่าการแกะรอยและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการตรวจหาและระบุพิกัดการแพร่ระบาด



ด้านนายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิซูสติน ยังสั่งการไปยังกระทรวงการสื่อสารให้ใช้ระบบแกะรอยบุคคลเป้าหมาย โดยอ้างอิงข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ที่ได้จากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และให้เริ่มใช้งานภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากระบบแกะรอยนี้จะไม่ถูกปกปิด และจะถูกส่งเป็นข้อความ SMS ไปยังบุคคลที่มีการติดต่อกับผู้ที่เป็นพาหะของโควิด-19 รวมถึงแจ้งไปยังทางการท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อดำเนินการกักตัวบุคคลเหล่านี้



อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้มาตรการเหล่านี้เป็นที่พูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนชาวรัสเซียไม่มากนัก ขณะที่รัสเซียก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีสอดแนมประชาชน เพื่อช่วยในการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19



ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งอิสราเอล เกาหลีใต้ ที่ใช้ข้อมูลบัตรเครดิตและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์จากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงกล้องวงจรปิด เพื่อเฝ้าระวังและกักตัวบุคคลต้องสงสัย ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) อย่างอิตาลี เยอรมนี และออสเตรีย ก็ใช้ข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ในการเฝ้าดูว่าประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำในการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing มากน้อยแค่ไหน



เช่นเดียวกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็กำลังมองหาช่องทางการใช้ข้อมูลจากบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีรายใหญ่ต่างๆ เพื่อจุดมุ่งหมายในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X