×

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโลกและหุ้นกลุ่มพลังงานโลกอย่างไร?

09.03.2022
  • LOADING...
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโลกและหุ้นกลุ่มพลังงานโลกอย่างไร?

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 8 มีนาคม ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และน้ำมันดิบเบรนต์ได้ทะยานขึ้นแตะระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 

 

SCB CIO มองความผันผวนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจะยังคงอยู่กับตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะความเสี่ยง 3 ประการที่มีนัยจากวิกฤตพลังงานโลกในรอบนี้ที่นักลงทุนยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 

 

  1. ภาวะเงินเฟ้อสูงที่มาจากราคาพลังงาน 
  2. การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานโลกที่ถูกสั่นคลอน
    3. ภาวะตลาดหมีในตลาดหุ้นโลก และนัยต่อการลงทุนในหุ้นบริษัทด้านพลังงานทั้งพลังงานฟอสซิลและพลังงานทางเลือก รวมถึงบริษัทด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงานและเทคโนโลยีพลังงาน 

 

ความเสี่ยงที่ 1: ภาวะเงินเฟ้อสูงโดยเฉพาะจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากเป็นเวลานาน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน กรณีราคาพลังงาน รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญทั้งในตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโลก สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดความเสี่ยงที่ชัดเจนต่อเส้นทางการไหลเวียนของพลังงานโลก และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกใน 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. กลุ่มพลังงาน (Oil & Gas) 
  2. กลุ่มโลหะอุตสาหกรรม (Palladium, Vanadium, Titanium, Platinum, Nickel, Aluminum) 
  3. กลุ่มโลหะมีค่า (Diamond, Gold)  
  4. กลุ่มเกษตร (Potash, Barley, Wheat) 

 

ทั้งยังมีกำลังการผลิตที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมมากมาย มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกจะมีนัยสำคัญและสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลลบต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะในยุโรปที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางอย่าง Fed และ ECB อาจต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในช่วงที่สงครามเริ่มผ่อนคลายลงในระยะข้างหน้า

 

ความเสี่ยงที่ 2: การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานโลกที่ถูกสั่นคลอน รวมถึงสภาวะทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้นและค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตาม เหล่านี้กำลังส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าวิกฤตการขาดแคลนพลังงานและสงครามส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเกินพื้นฐาน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากอุปทานพลังงานทั่วโลกเดิมตึงตัวอยู่แล้วจากการลงทุนต่ำในกลุ่มบริษัทพลังงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับอุปสงค์การใช้พลังงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด หมายความว่าสินค้าคงคลังน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังมีแนวโน้มอยู่ในภาวะขาดดุลต่อ โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นสัดส่วนราว 85% ของ Energy Mix ทั่วโลก พลังงานน้ำและนิวเคลียร์คิดเป็น 11% 

 

ในขณะที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ดังนั้นมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซียจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโลก โดยเฉพาะในยุโรป สังเกตได้จากการที่คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปในปีนี้มีแนวโน้มถูกปรับลดลงต่อเนื่อง

 

ความเสี่ยง 3: ภาวะตลาดหมีในตลาดหุ้นโลกและนัยต่อการลงทุนในหุ้นในกลุ่มพลังงาน ความเสี่ยงนี้ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของนักลงทุนในวงกว้างต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนด้วยว่า การเจรจาและสงครามจะจบเมื่อไรและอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนและผู้ร่วมตลาดมองวิกฤตนี้ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าสมัยวิกฤตไครเมียในช่วงปี 2014 ส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดหุ้นโลก และเงินลงทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรและทองคำเนื่องจากนักลงทุนมองหาที่หลบภัย 

 

แล้วความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงานอย่างไร ? 

SCB CIO เชื่อว่าผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและนัยต่อหุ้นกลุ่มพลังงานมีทั้งด้านลบและด้านบวก หุ้นพลังงานที่ได้รับความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์จะได้รับผลลบมาก สังเกตได้จากการที่ Valuation และราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานทางเลือกและหุ้นการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานปัจจุบันได้ปรับลดลงมากจากจุดสูงสุดในปี 2021 ซึ่งนักลงทุนสามารถดูได้จาก ETF หุ้นโลกในกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น ICLN, PBD, QCLN, SMOG, PBW, FAN, TAN ฯลฯ ที่ปรับลงมาโดยเฉลี่ย ในขณะที่หุ้นพลังงานฟอสซิลส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาก ตัวอย่าง ETF เช่น XLE, OIH 

 

อะไรคือผลกระทบระยะยาวของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนต่อหุ้นพลังงานโลก? 

รัสเซียเป็นผู้จัดหาน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของโลก มีความสามารถในการใช้ทุนพลังงานทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยุโรปยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงของตน เรามองว่าเมื่อราคาพลังงานเดิมในหมวดฟอสซิลสูงขึ้น ความน่าสนใจต่อหุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก/หมุนเวียนจะลดลงช่วงสั้น (นักลงทุนไปเก็งกำไรบนหุ้นน้ำมันและโภคภัณฑ์ก่อน) แต่ความสนใจจะกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ในยูเครนจะช่วยสร้างบทเรียนให้กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกในการลดการพึ่งพาพลังงานเดิมจากรัสเซีย และมุ่งสู่การเปลี่ยนระบบพลังงานใหม่ไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานและการพึ่งพาพลังงานไม่สามารถเปลี่ยนได้เร็วในระยะสั้น และคาดการณ์รายได้สำหรับบริษัทในกลุ่ม Renewable & Energy Transition จะยังคงถูกกดดันจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เด่นชัดกว่าในช่วงสั้น โดยมองห่วงโซ่อุปทานยังคงได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลาสำหรับโครงการใหม่สำหรับหุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก ทำให้หุ้นในกลุ่ม Old Energy และหุ้นน้ำมันยังคงได้ประโยชน์สูงในปีนี้จากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่น่าจะส่งผลกระทบต่อหุ้นพลังงานโลกต่อเนื่องทั้งปี 

 

กล่าวอย่างสั้น ผลต่อตลาดน้ำมันทั่วโลก หากมีการคว่ำบาตรรัสเซียในการส่งออกน้ำมัน อุปทานน้ำมันโลกจะตึงตัวมากขึ้นไปอีก และราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะมีแนวโน้มยืนเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ และหากเกิดการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียโดยตรงจะส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ราว 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะยิ่งทำให้การขาดดุลในตลาดน้ำมันโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลต่อตลาดก๊าซทั่วโลก ยังมองอุปทานตึงตัวมากเว้นแต่อุปสงค์จะลดลง เนื่องจากโครงการก๊าซใหม่ที่สำคัญจะไม่มีผลกระทบต่ออุปทานไปจนถึงปี 2024 โดยในยุโรป ก๊าซของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 35% ของการนำเข้าก๊าซทั้งหมด ซึ่งปกติแล้วมาจากท่อส่งสำคัญ 4 ท่อ (Nord Stream, Yamal-Europe, Ukraine Pipeline และ Turk Stream) โดยท่อใหม่ล่าสุด Nord Stream 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำอุปทานก๊าซเพิ่มเติมจากรัสเซียไปยังยุโรปได้หยุดกระบวนการอนุมัติแล้วโดยรัฐบาลเยอรมนีเนื่องจากเหตุการณ์ในยูเครน ดังนั้นอุปทานก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปมีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดต่อเนื่องในกรณีที่สงครามยืดเยื้อ

 

มองไปข้างหน้า อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ราคาพลังงานโลกปรับลดลงสู่ระดับปกติหลังสงครามยุติ? 

สำหรับน้ำมัน ข้อสังเกตจากวิกฤตครั้งนี้ คือความไม่เคลื่อนไหวจากกลุ่ม OPEC (องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน) เนื่องจากกลุ่มฯ มีมติยึดข้อตกลงเดิม โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน สำหรับเดือนเมษายน แม้มีความวิตกเกี่ยวกับอุปทานตึงตัวท่ามกลางวิกฤตยูเครนก็ตาม ดังนั้นเรามองว่าความเคลื่อนไหวจากกลุ่ม OPEC ยังเป็นตัวแปรหลัก และปัจจัยอิหร่านจะเป็นตัวแปรเสริม 

 

โดยการเจรจาในกรุงเวียนนากำลังดำเนินเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถกลับมาขายน้ำมันในตลาดโลกได้อีก หากเป็นเช่นนั้น ภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวจะบรรเทาลงบางส่วน สำหรับก๊าซ เรามองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สหรัฐฯ จะมีศักยภาพจะกลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่มากในภูมิภาคแอปพาเลเชียนและเพอร์เมียน และส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดยุโรปได้ ทำให้ราคาก๊าซน่าจะทยอยปรับลงได้หากสงครามเริ่มคลายความรุนแรง

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงสั้น หากสงครามยังไม่ยุติ คงไม่มีทางออกที่รวดเร็วสำหรับวิกฤตราคาน้ำมันและก๊าซและราคาไฟฟ้าที่จะพุ่งสูงต่อไปโดยเฉพาะในยุโรป แต่การลงทุนเพิ่มเติมในตลาดพลังงานทางเลือกและตลาดการผลิตก๊าซทั่วโลกจะมีความจำเป็นในอนาคตเพื่อกระจายอุปทานออกจากรัสเซีย เพื่อลดภาวะอุปทานพลังงานชะงักงันสำหรับผู้ใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย อีกทั้งความจำเป็นในการลดการผลิตถ่านหินในประเด็นการลดภาวะโลกร้อนจะยังคงมีความสำคัญสูง เรามองก๊าซธรรมชาติจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นและเป็นบทเรียนสำคัญจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในรอบนี้ 

 

ทั้งนี้ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และเป้าหมายความเป็นอิสระด้านพลังงานในหลายประเทศ และประเด็นการเข้าถึงพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนจะอยู่แถวหน้าของการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงานทั่วโลกนับจากนี้เป็นต้นไป  

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X