×

ไทยพร้อมแค่ไหน รับมือ ‘โอไมครอน’

โดย THE STANDARD TEAM
04.12.2021
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์​โอไมครอน

มาเลเซียและอินเดียเป็นประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ต่อจากจีน (ฮ่องกง) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้สายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) และตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีกว่า ‘โอไมครอน’ ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ (Imported Case) ท่ามกลางมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวด

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยรับมือการระบาดของโอไมครอนในต่างประเทศอย่างไร และมีความพร้อมมากเพียงใดหากเกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในประเทศ?

 

มาตรการ 1 ควบคุมพรมแดน 

มาตรการแรกที่ถูกนำมาใช้คือ การควบคุมพรมแดน จำกัดการเดินทางจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่าจะไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงสูงเข้าประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว โดยเริ่มตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้จะให้กักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

 

สำหรับการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะ\มีผู้เดินทางเข้ามา 3 รูปแบบหลัก คือ

1. Test & Go ไม่กักตัว เดินทางได้ทุกพื้นที่

2. Sandbox พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือพื้นที่สีฟ้า

3. Quarantine Facility กักตัว 7-10 วัน

 

รูปแบบแรกเฉพาะผู้เดินทางจาก 63 ประเทศในรายชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศประกาศ ซึ่งไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกาอยู่แล้ว แต่ 2 รูปแบบหลังสามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้

 

   ▪  ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยง ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน แบบ Sandbox จะถูกคุมไว้สังเกต (ในทางปฏิบัติคือการสังเกตอาการตนเองหรือ Self-monitoring) 14 วัน และตรวจหาเชื้อ ส่วนแบบ Quarantine จะต้องกักตัวจนครบ 14 วัน 

  • ผู้เดินทางตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน ไม่ว่าแบบใดจะต้องกักตัว 14 วัน ในขณะที่ตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป จะไม่อนุญาตให้เข้าไทย 
  • แต่เนื่องจากสายพันธุ์นี้ถูกตรวจพบย้อนหลังในแอฟริกาใต้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน จึงมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะเดินทางเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน 

 

ปกติการเดินทางเข้าประเทศแบบ Sandbox จะตรวจหาเชื้อครั้งแรกเมื่อเดินทางมาถึงประเทศ และอีกครั้งด้วย ATK ในวันที่ 6-7 ส่วนแบบ Quarantine ถ้าได้รับวัคซีนครบจะกักตัว 7 วัน แต่ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนจะกักตัว 10 วัน และได้รับการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งเช่นกัน ข้อมูลที่ นพ.โอภาสแถลงระบุว่า ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีผู้เดินทางจากทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา 1,007 คน ผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ (0%) ทั้งนี้หากผู้ติดเชื้อมีระยะฟักตัวนานกว่า 7 วันก็อาจยังตรวจไม่พบ

 

ภาพที่ 1 มาตรการจำกัดการเดินทางจากทวีปแอฟริกา

 

มาตรการ 2 ตรวจหาเชื้อผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง

มาตรการที่ 2 คือ การตรวจหาเชื้อในผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่าตั้งแต่วันที่ 15-27 พฤศจิกายน มีผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงสูง ซึ่งเข้ามาในแบบ Sandbox 255 คน เดินทางกลับแล้ว 3 คน คงเหลือในประเทศ 252 คน ติดตามได้ 11 คน จึงขอให้ผู้เดินทางที่เหลือรายงานตัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการติดตามผู้เดินทางจากประเทศอื่นในทวีปแอฟริกาด้วย

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เผยแพร่ตารางสรุปข้อมูลผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 15-27 พฤศจิกายน ระบุว่ามีผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง 8 ประเทศ จำนวน 333 คน คงเหลือในประเทศ 272 คน ติดตามได้แล้ว 44 คน (16%) และผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำจำนวน 453 คน ทั้งหมดยังอยู่ในประเทศ ติดตามได้แล้ว 20 คน (4%) ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เท่ากับว่าผ่านมาแล้ว 3 วันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

 

การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นเครื่องมือทดสอบระบบการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศว่าสามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันหมอชนะที่บังคับให้นักท่องเที่ยวติดตั้งในโทรศัพท์ การตรวจหาเชื้อด้วย ATK ด้วยตัวเองแล้วรายงานในแอป และการติดตามตัวมาตรวจเพิ่มเติมอย่างในกรณีนี้ที่ต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงมาตรฐานพลัสต่างๆ เช่น SHA+, TSC++ ว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมการระบาดเพียงใด

 

ภาพที่ 2 ผลการติดตามตัวและตรวจหาเชื้อผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา 

(ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564)

 

มาตรการ 3 ตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัส

มาตรการต่อมายังไม่ค่อยมีผู้พูดถึงมากนักคือ การตรวจรหัสพันธุกรรมของไวรัส (Whole Genome Sequencing) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ว่าจะมีการประสานกับโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาที่รักษาผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ (ประมาณ 100 ราย) เพื่อนำตัวอย่างมาตรวจรหัสพันธุกรรมว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ และจะเข้มงวดในการตรวจมากขึ้น แสดงว่าจะมีการสุ่มตรวจในกลุ่มนักเดินทางมากขึ้น 

 

การตรวจรหัสพันธุกรรมของไวรัสเป็นการตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามปกติ ต้องใช้ห้องฏิบัติการที่มีศักยภาพสูง (ซึ่งหมายถึงค่าตรวจที่ตามมาด้วย) เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อตรวจแล้วมักจะรายงานในฐานข้อมูล GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลระดับโลกที่นักวิทยาศาสตร์แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมามีการรายงานทั้งหมด 3,001 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.3% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

 

ถึงแม้สัดส่วนนี้จะใกล้เคียงกับมาเลเซียซึ่งรายงาน 2,330 ตัวอย่าง (0.3%) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนแล้วในขณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา 519,289 ตัวอย่าง (5.8%) ญี่ปุ่น 13,005 ตัวอย่าง (7.0%) เกาหลีใต้ 4,789 ตัวอย่าง (2.4%) สิงคโปร์ 3,461 ตัวอย่าง (1.7%) ถือว่าไทยยังตรวจได้ต่ำกว่า และที่น่าประหลาดใจคือกัมพูชารายงานมากถึง 709 ตัวอย่าง (2.8%) ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบสายพันธุ์ใหม่ไทยจะต้องสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมเพิ่มขึ้น

 

ภาพที่ 3 สัดส่วนการรายงานรหัสพันธุกรรมของไวรัสในฐานข้อมูล GISAID ของแต่ละประเทศ

(สียิ่งเข้มแสดงว่ายิ่งรายงานมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ)

 

มาตรการ 4 ล็อกดาวน์? 

มาตรการที่ 4 คือ กระแสข่าวการล็อกดาวน์ที่หลายคนตกใจ! สะท้อนถึงปัญหาการสื่อสารของรัฐอีกครั้ง เพราะข่าวนี้ไม่ได้มาจากการแถลงข่าวตามปกติ และอาจบ่งบอกถึงความไม่ชัดเจนของแผนรับมือว่าหากตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศแล้วจะมีมาตรการอย่างไร โดย สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงเสนอให้ใช้วิธี RT-PCR ในการตรวจหาเชื้อตามเดิม เพราะก่อนหน้านี้ ศบค. มีมติเปลี่ยนให้ใช้การตรวจ ATK แทนสำหรับการเดินทางแบบ Test & Go 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการหากตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ นายสาธิตกล่าวว่า “เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี” เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าจะล็อกดาวน์ใช่หรือไม่ นายสาธิตระบุว่า “ก็ต้องรายงาน พล.อ. ประยุทธ์ทันที และการตัดสินใจก็เป็นของนายกรัฐมนตรี” (อ้างอิงสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์) สื่อมวลชนจึงนำคำตอบแรกไปนำเสนอข่าว แต่ภายหลังนายสาธิตให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ว่า “ยืนยันว่าไม่จริง” จะไม่มีการล็อกดาวน์แต่อย่างใด

 

ผู้เขียนเห็นด้วยว่ายังไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ตั้งแต่แรก แต่ควรสอบสวนโรคก่อนว่าผู้ติดเชื้อรายนั้นเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือผู้ติดเชื้อหลังจากมีการระบาดภายในประเทศ (Local Transmission) ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาทางอากาศ ไทยมีมาตรการควบคุมโรคค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาทางบกหรือช่องทางธรรมชาติจะค่อนข้างมีปัญหาเหมือนกับสายพันธุ์อัลฟา-เดลตา (สถานบันเทิง-แคมป์ก่อสร้าง) และเบตา (ชายแดนภาคใต้) เมื่อช่วงกลางปี

 

มาตรการ 5 ฉีดวัคซีน

สุดท้ายมาตรการที่ 5 คือ การฉีดวัคซีน ข่าวการตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนที่แอฟริกาใต้ตรงกับช่วงที่ไทยจัดสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่าง 27 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 พอดี ซึ่งมีการรณรงค์ผ่านสื่อ การฉีดวัคซีนเชิงรุก และหลายจังหวัดมีการจูงใจด้วยการเสนอสูตรวัคซีน Pfizer และวัคซีน Moderna ทำให้ประชาชนสนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะถึงแม้ไวรัสจะกลายพันธุ์มาก แต่วัคซีนน่าจะยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้

 

ข้อมูลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิดสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 ธันวาคม 2564 จากกรมควบคุมโรคพบว่า ในภาพรวมมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 41,732,668 คน คิดเป็น 57.9% ของประชากรทั้งหมด (รวมประชากรแฝง) ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 6,804,504 คน (62.4%) และผู้ที่มีโรคประจำตัวมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 4,278,331 คน (67.4%) ทั้งที่ 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงควรได้รับวัคซีนใกล้เคียง 100% แล้ว

 

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ทั้ง Sinovac และ Sinopharm) ที่จะต้องฉีดกระตุ้นเร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA ปัจจุบันคำแนะนำเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายของประเทศไทยยังลักลั่น เพราะถ้าจองวัคซีน Moderna กับโรงพยาบาลเอกชนไว้จะเว้นระยะห่าง 1 เดือนหลังจากเข็มที่ 2 แต่ถ้าจองวัคซีนของรัฐจะเว้นระยะห่าง 4 เดือน เนื่องจากปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ

 

ภาพที่ 4 แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

ความท้าทายในสัปดาห์หน้าคือสายพันธุ์โอไมครอนจะเริ่มระบาดนอกทวีปแอฟริกา ขณะนี้ประเทศที่น่าจะมีการระบาดภายในประเทศแล้วคือสหรัฐอเมริกา (เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 รัฐมินนิโซตาพบผู้ติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางไปประชุมที่นิวยอร์ก และมีรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเพิ่มขึ้นอีก 6 รัฐ) ออสเตรเลีย (ซิดนีย์) และยุโรปบางประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงน่าจะพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศเร็วๆ นี้ และเมื่อผู้เดินทางแบบ Test & Go มีการตรวจเชื้อเฉพาะภายในสัปดาห์แรกก็มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดต่อได้

 

ความน่ากังวลของสายพันธุ์โอไมครอนในขณะนี้คือการที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงและประสิทธิผลของวัคซีน มาตรการควบคุมพรมแดนในขณะนี้จึงเป็นการ ‘ซื้อเวลา’ เพื่อรอข้อมูลการศึกษาในแอฟริกาใต้ แต่ไม่ว่าข้อมูลจะออกมาเป็นอย่างไร มาตรการที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และการเฝ้าระวังโรคด้วยการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เพื่อตรวจจับคลัสเตอร์ และการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อตรวจจับสายพันธุ์ใหม่ที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X