×

สว. ชุดใหม่ ต่างจากเดิมอย่างไร หรือแค่เปลี่ยนสี?

โดย THE STANDARD TEAM
24.07.2024
  • LOADING...
สว. ชุดใหม่

ช่วงหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์ของ มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ก่อนที่ประชุมจะทุ่มเสียงโหวตให้ถึง 159 เสียง เขาชวนสมาชิกทุกคนมาเดินหน้าให้วุฒิสภาบรรลุความเป็น ‘สภาสามัญชน’ เป็นสภาที่ประนอมอำนาจดับวิกฤตของสังคมไทย

 

“วุฒิสภาชุดปัจจุบันใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ปฏิรูปให้เป็นสภาของคนทุกหมู่เหล่า แบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน จึงขอให้ทุกท่านรักษาไว้”

 

เป็นความจริงที่วุฒิสภาชุดใหม่นี้เรียกได้ว่ามีประชาชน ‘พลเรือน’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ จากทั้งหมด 200 คน มีอดีตข้าราชการทหารเพียง 6 นาย ต่างจากวุฒิสภาชุดที่ คสช. แต่งตั้ง ที่มีนายทหารอยู่ถึง 90 คน ตลอดจนบรรดา ‘ผู้นำเหล่าทัพ’

 

แต่ขณะเดียวกัน จริงหรือไม่ที่สภาชุดใหม่อันประกอบไปด้วย ‘ประชาชนที่เข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน’ จะสามารถเป็นอิสระอย่างแท้จริง หรือเพียงแต่เปลี่ยนจากชุดลายพรางเป็นชุดน้ำเงิน (หรือชุดเหลือง) เท่านั้น? THE STANDARD ชวนหาคำตอบจากผลการเลือกประธานวุฒิสภา สังเวียนแรกของ สว. ชุดใหม่

 

 

“ดูเหมือนเสียงส่วนน้อยไม่มีค่าอะไรเลย”

 

ช่วงเย็นวานนี้ (23 กรกฎาคม) ที่ประชุมยังอยู่ระหว่างการนับคะแนนการเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ปรากฏว่า อังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในแคนดิเดตรองประธานวุฒิสภา ที่เสนอโดยกลุ่ม ‘สว. พันธุ์ใหม่’ กลับออกจากห้องประชุม เตรียมเดินทางกลับโดยไม่รอฟังผล ด้วยเหตุว่าคะแนนของ บุญส่ง น้อยโสภณ ที่เสนอโดยกลุ่ม ‘สว. สีน้ำเงิน’ นำลิ่วทิ้งห่างแคนดิเดตคนอื่น

 

“จะได้ถึง 20 คะแนนหรือเปล่าก็ไม่รู้” อังคณาพูดติดตลกกับสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์ถึงคะแนนที่ตนเองอาจจะได้ 

 

ท้ายที่สุดผลก็เป็นไปตามนั้น บุญส่งกวาดคะแนนไปมากถึง 167 เสียง ขณะที่อังคณาตามมาเป็นอันดับรองได้เพียง 18 คะแนน

 

ไม่ใช่เพียงบุญส่งเท่านั้น แต่แคนดิเดตที่คว้าตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาทุกคนล้วนได้รับคะแนนท่วมท้นจากที่ประชุม มงคลได้ 159 คะแนน และ พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ได้ 150 คะแนน 

 

ใช้คำว่า ‘ชนะขาด’ ยังอาจน้อยไป เพราะแม้จะมีผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งถึง 3-4 คน ซึ่งสำหรับการโหวตในสภาแล้วถือเป็นการแข่งขันที่น่าจะดุเดือด ทว่าเสียงข้างน้อยที่พ่ายแพ้นั้นกลับได้คะแนนของทุกคนรวมกันไม่ถึงครึ่งของผู้ชนะคนเดียวด้วยซ้ำ

 

 

อังคณาเปรียบเทียบการเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้ว่าไม่ต่างอะไรจากการเลือก สว. ระดับประเทศ ที่ใครมีคะแนนมาสูงก็สูงลิ่ว และเหมือนที่กำหนดมาให้เป็นแบบนี้ ก็ขึ้นอยู่กับคนที่กำหนดว่าจะชี้นำตลอดไปหรือจะรับฟังเสียงคนข้างนอกบ้างหรือไม่

 

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดในวันนี้อีกครั้งก็คือความไม่เป็นอิสระ” สว. อดีตนักสิทธิมนุษยชน ระบุ “เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คะแนนจะเทไปให้คนใดคนหนึ่งจนมากแบบนี้ จนทำให้ดูเหมือนว่าคนที่ได้คะแนนน้อยดูไม่มีค่าอะไรเลย”

 

อังคณาพยายามชี้ให้เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมชาติและไม่สมดุลของคะแนนเสียงเป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่าวุฒิสภาแห่งนี้น่าจะมี ‘ใบสั่ง’ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่เห็นชัดประจักษ์มายาวนานตั้งแต่ก่อนประชุมนัดแรกแล้ว แต่ผลการเลือกประธานฯ และรองประธานฯ ในวันนี้ก็เป็นการตอกย้ำให้ตราตรึงยิ่งกว่าเดิม

 

สว. ใหม่ แต่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ‘เปลี่ยนสี’?

 

เมื่อมองลึกลงไปถึงกระบวนการเสนอชื่อและลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภาในรอบนี้เทียบกับของวุฒิสภาชุดที่เพิ่งหมดวาระไป มีหลายจุดที่แตกต่างกันมาก ทว่าก็มองเห็น ‘ความเหมือน’ ในผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มว่าการทำงานของวุฒิสภาชุดเก่าและชุดใหม่จะต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง

 

 

การเลือกประธานวุฒิสภาชุดที่ผ่านมามีการเสนอชื่อแคนดิเดตเพียงคนเดียวทั้ง 3 ตำแหน่ง ตามข้อบังคับกำหนดไว้ว่า กรณีที่ไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลอื่นมาแข่งขัน จะทำให้บุคคลเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นได้รับตำแหน่งไปโดยปริยาย และอย่างที่ทราบกันว่าประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาชุดที่ 12 จึงประกอบด้วย

 

  • พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
  • พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
  • ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2

 

กลับมามองวุฒิสภาชุดปัจจุบัน นอกจากการเสนอชื่อแคนดิเดตของกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน และ สว. พันธุ์ใหม่ ที่ตรงตามโผการนำเสนอของสื่อมวลชนแล้ว ยังมีแคนดิเดตจากกลุ่ม ‘สว. อิสระ’ ที่นำโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ และแคนดิเดตที่ไม่เคยแสดงออกว่าสนใจจะลงชิงตำแหน่งมาก่อนด้วยอย่าง ปฏิมา จีระแพทย์ ที่ออกปากเองว่า เพิ่งรู้จากสมาชิกเมื่อช่วงเช้าว่าจะมีการเสนอชื่อตนเองในวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชัยชนะจะเป็นของแคนดิเดตทั้ง 3 คนจากกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน ที่สับเปลี่ยนเสนอชื่อกันเองเพื่อแสดงความโยงใยสู่กันอย่างเป็นเอกภาพ การเสนอชื่อแคนดิเดตที่หลากหลายก็ทำให้พอมองเห็นการต่อสู้ที่เกิดเป็นคลื่นใต้น้ำ ทว่าก็เบาแรงเกินกว่าจะต้านนาวาของ ‘บ้านใหญ่’

 

 

เมื่อถอยออกมาพิจารณาว่าวุฒิสภาชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. และวุฒิสภาจากการเลือกกันเองภายใต้กติกาพิสดาร ต่างกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่บริบทของสังคมและการเมืองค่อนข้างต่างกัน

 

กล่าวคือ วุฒิสภาสมัย คสช. แม้การเสนอชื่อตลอดจนการเลือกประธานจะมีเอกภาพสูง ไม่แตกแถว แต่ในช่วงท้ายปลายสมัยของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้งและโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คะแนนเสียงของ สว. ทั้ง 250 คนเริ่มขาดความเป็นปึกแผ่นและแบ่งแยกกันอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่าความเหนียวแน่นของวุฒิสภาชุดเดิมขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ด้วย

 

ขณะที่ สว. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสภาส่งตรงมาจากอาณาจักร ‘บุรีรัมย์’ ถึงจะมีสายอื่นกระเซ็นมาบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็รวมเสียงข้างมากได้อย่างไม่ยากเย็นนัก วัตถุประสงค์หลักของวุฒิสภาชุดนี้น่าจะเป็นการเสริมบารมีให้กับพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ และยังเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากในสภาล่างด้วย

 

ดังนั้นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ วุฒิสภาชุดใหม่มีการแบ่งฝักฝ่ายมาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่กลับเป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาคือ ฝ่ายที่กุมเสียงข้างมาก ‘ขาดความเป็นอิสระ’ อย่างชัดเจน ยิ่งทำให้ต้องติดตามต่อไปว่าความแตกต่างหลากหลายที่กำลังถูก ‘กดทับ’ และ ‘ดูดกลืน’ จะสามารถขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใดในวาระ 5 ต่อไปนี้

 

 

ประเมินขุมคะแนนเสียง สว. แต่ละสาย

 

ก่อนจะเข้าสู่การเลือกประธานวุฒิสภา เกิดข้อถกเถียงกันในที่ประชุมเรื่องการจำกัดเวลาให้แคนดิเดตแต่ละคนได้แสดงวิสัยทัศน์ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. กลุ่มสื่อฯ ในสาย ‘สว. พันธุ์ใหม่’ เสนอให้ใช้เวลาไม่เกิน 7 นาที ขณะที่ พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย สว. กลุ่มการกฎหมายฯ ซึ่งคาดว่าอยู่ในสาย ‘สว. สีน้ำเงิน’ เสนอให้ไม่เกิน 5 นาที ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติ

 

ดูเผินๆ อาจเหมือนเถียงกันด้วยเรื่องเล็กน้อย แต่การลงมติตั้งแต่ก่อนเลือกประธานวุฒิสภา ความจริงแล้วคือวิธีการเช็กเสียงของแต่ละฝ่ายว่ามีอยู่เท่าไร เสมือนเป็นการซักซ้อมให้สมาชิกแต่ละฝ่ายได้เตรียมตัวก่อนขึ้นชกจริง

 

ผลการลงมติครั้งแรกในวุฒิสภาชุดนี้ ฝ่ายที่โหวตเห็นด้วยกับญัตติของ พล.ต.ท. บุญจันทร์ มี 143 เสียง ซึ่งเดาได้ว่าเป็นสายสีน้ำเงิน และฝ่ายที่โหวตเห็นชอบกับญัตติของเทวฤทธิ์มี 54 เสียง คาดว่าเป็นกลุ่มอื่นๆ ที่มีทั้งกลุ่มพันธุ์ใหม่และกลุ่มอิสระ

 

เมื่อประมวลจากผลคะแนนในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ก็สามารถคาดการณ์จำนวนที่ สว. แต่ละสายมีอยู่ ดังนี้

 

สว. สีน้ำเงิน (และแนวร่วม) มากกว่า 150 เสียง

สว. พันธุ์ใหม่ 18-20 เสียง

สว. อิสระ ประมาณ 25-30 คน

สว. ไร้กลุ่ม ไม่เกิน 5 คน

 

อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงว่าผลดังกล่าวไม่ได้วัดตายตัวเหมือน สส. ที่สังกัดพรรคการเมือง เพราะ สว. 1 คนอาจสังกัดอยู่หลายกลุ่มหรือเปลี่ยนใจไปเรื่อยๆ ในการโหวตแต่ละครั้ง ทำให้จำนวนรวมอาจไม่เท่ากับ 200 คนพอดี

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X