ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี และนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 ค่าเงินบาทเคยอ่อนค่าทะลุไปถึง 36 บาทต่อดอลลาร์เพียง 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2552 และปี 2558
โดยทั้งสองรอบที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก่อนจะฟื้นตัวได้หลังจากที่เงินบาทผ่านจุดพีคของแต่ละรอบไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยแตกต่างออกไปจากในอดีต เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในปัจจุบันอาจจะแตกต่างไปจากในอดีต โดยจุดสำคัญที่ต่างกันคือแรงกดดันต่อเงินบาท และหุ้นไทยในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากกระแสเงินทุนไหลออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
“การอ่อนค่าของเงินบาทรอบนี้เป็นผลจากหลายปัจจัย โดนเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากรายได้การท่องเที่ยวที่หายไป การส่งออกที่เคยเติบโตดีก็ชะลอตามเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานที่สูงมาก ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงตามไปด้วย”
ก่อนหน้าที่เงินบาทจะอ่อนค่ามาถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ในครั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยราว 26% และในอดีตเมื่อปี 2551 และปี 2556 ก่อนหน้าที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติเคยถือครองหุ้นไทยในระดับ 35%
“หากมองผลกระทบต่อหุ้นไทยอาจจะไม่มากเท่ากับในอดีต การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้กระทบต่อกำไรของตลาด ซึ่งปัจจุบันกำไรของกลุ่มพลังงานยังช่วยค้ำยันตลาดไว้ได้”
หุ้นที่อาจจะได้อานิสงส์จากบาทอ่อนรอบนี้
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วเมื่อเงินบาทอ่อน หุ้นกลุ่มส่งออกมักจะถูกพูดถึงขึ้นมา แต่นอกจากเรื่องค่าเงินแล้ว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกก็เป็นส่วนสำคัญ และหากเราประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง สินค้าส่งออกที่เป็นวัฏจักรก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ แต่ในส่วนของสินค้าเกษตรและอาหารอาจจะได้อานิสงส์ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอแต่ก็ยังจำเป็นต่อการบริโภค
อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจได้ผลบวกคือ กลุ่มการแพทย์ที่มีลูกค้าต่างชาติ ซึ่งอาจจะจูงใจให้มาใช้บริการมากขึ้นเมื่อเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มท่องเที่ยวปกติอาจจะยังไม่เด่นนัก เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีน ซึ่งคิดเป็น 15% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และขณะเดียวกันต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้นก็ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นสูงมาก รวมทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางออกไป
หุ้นกลุ่มส่งออกอาจจะดีแค่ช่วงสั้นตามกระแสเก็งกำไร
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เงินบาทที่อ่อนลงมักเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุน และมักจะไม่ค่อยมีผลย้อนกลับอีกครั้ง สำหรับเศรษฐกิจไทยเงินบาทอ่อนมักจะเป็นผลจากเหตุการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และส่งผลกระทบมาถึงไทย หรือความเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศ
“โดยปกติการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่ค่อยมีหุ้นที่ได้ประโยชน์มากนัก แต่ก็อาจจะมีไอเดียในกลุ่มนักลงทุนว่า เงินบาทอ่อนส่งผลดีต่อกลุ่มส่งออก ซึ่งเงินบาทอ่อนเป็นปัจจัยรองเท่านั้น ส่วนอีกปัจจัยที่สำคัญคือเศรษฐกิจโลกต้องดีด้วย”
การอ่อนค่าของเงินบาทครั้งนี้เผชิญกับอุปสงค์ที่ลดลง รวมถึงอุปทานที่ถูกกระทบ แม้บริษัทต่างๆ จะขายของได้ด้วยมาร์จิ้นสูงขึ้นแต่ปริมาณการขายลดลง ทำให้กำไรของกลุ่มส่งออกอาจจะไม่ดีอย่างที่คิด
“โดยปกตินักลงทุนไทยมักจะไม่ค่อยสลับไปลงทุนสินทรัพย์อื่น แต่จะเป็นการสลับกลุ่มลงทุนเมื่อปัจจัยเปลี่ยน กลุ่มส่งออกอาจมีแรงเก็งกำไรระยะสั้นจากไอเดียที่ฝังอยู่ ส่วนกลุ่มที่มักจะดีกว่าตลาดในช่วงเงินบาทอ่อนคือกลุ่มที่ผันผวนต่ำ เช่น สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง การแพทย์ และ REITs”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP