มีหลายเรื่องราวที่น่าประทับใจสำหรับเกมฟุตบอลยุโรปในฤดูกาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตำนานคว้าแชมป์บุนเดสลีกาและลุ้นไร้พ่ายตลอดทั้งฤดูกาลของไบเออร์ เลเวอร์คูเซน, การผงาดของคิโรนา สโมสรเล็กๆ ในสเปนที่คว้าสิทธิ์ไปยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้สำเร็จ และการกลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งของเลสเตอร์ ซิตี้
แต่ยังมีอีกเรื่องราวน่าประทับใจที่อยากเล่าสู่กันฟัง คือการกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีของอิปสวิช ทาวน์ หรือที่แฟนฟุตบอลรุ่นเก๋าจะรู้จักกันในสมญานามแบบไทยๆ ว่า ‘ม้าขาว’ (ซึ่งตั้งตามสัญลักษณ์สโมสร และเรียกง่ายกว่า ‘เดอะ แทรกเตอร์ส บอยส์’ หรือ ‘เดอะ ทาวน์’ ที่เป็นสมญาจริงทางเมืองนอก)
เรื่องราวของอิปสวิชไม่ได้ถึงกับเป็นระดับเทพนิยาย แต่ก็เป็น Underdog Story (หรือเราควรจะเรียก Underhorse นะ?) ที่น่าประทับใจ
ทีมเล็กที่เพิ่งขึ้นมาจากลีกในระดับที่ 3 (ลีกวัน) แต่สามารถเลื่อนชั้นต่อเนื่องจนกลับสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ
พวกเขาทำได้อย่างไรกัน?
ย้อนหลังกลับไป 21 เดือนที่แล้ว อิปสวิชลงเล่นในเกมเปิดสนามฤดูกาล 2022/23 ของลีกวันด้วยการไปเยือนฟอเรสต์ กรีน สโมสรฟุตบอลรักษ์โลก ที่สนามนิวลอว์น สเตเดียมซึ่งมีความจุเพียงแค่ 4,000 คน
แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าพวกเขามีโอกาสจะได้ไปเยือนสนามของเหล่าสุดยอดสโมสรในพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นแอนฟิลด์, เอติฮัด สเตเดียม, เอมิเรตส์ สเตเดียม, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม รวมถึง ‘โรงละครแห่งความฝัน’ โอลด์แทรฟฟอร์ด ที่มีความจุถึง 74,000 คน
ใหญ่กว่านิวลอว์นแบบเทียบกันไม่ได้
จากจุดนั้นไม่มีใครคิดฝันว่าในอีก 21 เดือนต่อมาชาวเมืองอิปสวิชจะได้ลงมาฉลองความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เมื่อทีมคว้ารองแชมป์ของรายการเดอะแชมเปียนชิป ได้สิทธิ์ในการกลับขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง
นี่เป็นการกลับคืนลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกของพวกเขานับตั้งแต่ปี 2002 หรือกว่า 22 ปีทีเดียว ซึ่งสำหรับแฟนบอล Gen Z หรือ Gen Alpha อาจมีงงกันบ้างว่าอิปสวิชคือทีมอะไร
แต่ความพิเศษไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวตอนจบ
เพราะมันอยู่ในระหว่างทางมากกว่า
Thinking Out Loud
ความพิเศษใส่ไข่อย่างแรกที่ควรทึ่งสำหรับการกลับคืนพรีเมียร์ลีกอีกครั้งของอิปสวิชมาจากการที่พวกเขาใช้นักฟุตบอลชุดเดิมๆ ที่เริ่มต้นมาด้วยกันจากลีกวัน เช่น แซม มอร์ซีย์ กัปตันทีม, ลีฟ เดวิส, มาร์คัส ฮาร์เนสส์, คาเมรอน เบอร์เกสส์, เวส เบิร์นส์, คอเนอร์ แชปลิน และ จอร์จ เอ็ดมุนด์สัน
นักเตะ 7 คนนี้เล่นด้วยกันในลีกวันรวมกัน 265 นัด ก่อนที่จะขึ้นมาเล่นในแชมเปียนชิปด้วยกันอีก 242 นัด พูดง่ายๆ คือแทบจะเป็นนักเตะชุดเดิมๆ เลยทีเดียว
มีการประเมินมูลค่าของนักเตะอิปสวิชว่าพวกเขามีมูลค่ารวมกันเพียงแค่ 10 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก ซื้อไม่ได้แม้แต่นักเตะดาวรุ่งแววดีสักคนด้วยซ้ำไป
แล้วทำไมนักเตะเหล่านี้จึงมีส่วนในการช่วยพาทีมขึ้นชั้นได้?
เรื่องนี้เป็นความดีความชอบของ 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกเป็นหน้าที่ของ คีแรน แมคเคนนา ผู้จัดการทีม ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก พอล คุก ในเดือนธันวาคม 2021 (อิปสวิชอยู่อันดับที่ 12) ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนมากมาย เพราะก่อนหน้าจะรับงานนี้เขาเป็นหนึ่งในทีมงานของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่ช่วยงานโชเซ มูรินโญ ต่อมาจนถึงโอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า ‘จบไม่สวย’ ทั้งคู่
มีการพูดกันว่านักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดไม่ชอบแบบฝึกที่แมคเคนนาคิด เพราะรู้สึกว่าเป็นเหมือนแบบฝึกฟุตบอลสำหรับเด็กๆ มากกว่าสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ (ก็เลยพานไม่อยากซ้อมเอาดื้อๆ?)
แต่เรื่องนี้กลายเป็นระยะทางพิสูจน์ม้า (ขาว) กาลเวลาพิสูจน์คน เพราะกุนซือวัยกระเตาะ (ตอนที่รับตำแหน่งอายุ 35 ปี) ช่วยรีดขีดความสามารถของทีมออกมาได้อย่างเต็มที่ หรืออาจไปได้ไกลกว่าศักยภาพที่มีในตัวอีก
ไม่นับเรื่องของแท็กติกการเล่นที่ต้องบอกว่าอิปสวิชเป็นทีมที่มีสไตล์การเล่นทันสมัย สวยงาม การเซ็ตบอลจากแดนหลังมาข้างหน้าไหลลื่น เล่นกันแบบ ‘Pass and Move’ ให้แล้วขยับไป และกล้าที่จะต่อบอลสู้กับคู่แข่งไม่ว่าจะเจอกับใครก็ตาม
โดยที่ทั้งหมดนี้แมคเคนนาซึ่งเริ่มต้นงานสายโค้ชจากทีมเยาวชนของสเปอร์ส หลังต้องเลิกเล่นวัยอันควรเพราะบาดเจ็บตั้งแต่อายุ 21 ปี ขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องความรอบรู้ทางเกมลูกหนัง โดยเฉพาะแบบฝึกต่างๆ ขนาดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ห้องสมุดแบบฝึกฟุตบอลเดินได้’ เลยทีเดียว
Shape of You
แต่แมคเคนนาคนเดียวทำงานนี้ให้สำเร็จไม่ได้
ส่วนที่สองจึงเป็นงานของคนที่อยู่เบื้องหลังอย่าง มาร์ค แอชตัน ซีอีโอของสโมสรที่ถูกดึงตัวมาจากบริสตอล ซิตี้ ไม่นานหลังจากที่อิปสวิชมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรใหม่จาก มาร์คัส อีแวนส์ เจ้าของเก่าที่เป็นที่ชิงชังของแฟนๆ เพราะบริหารทีมอย่างเลวร้าย มาสู่กลุ่มเจ้าของชาวอเมริกัน Gamechanger 20 ที่เทกโอเวอร์สโมสรเมื่อเดือนเมษายน 2021 ด้วยเงิน 40 ล้านปอนด์ และการชำระหนี้สินที่ค้างอยู่อีก 100 ล้านปอนด์
สิ่งที่แอชตันทำคือการพยายามสร้าง ‘สิ่งแวดล้อม’ (Environment) ในการทำงานที่ดีที่สุดให้แก่แมคเคนนา
โดยหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งไม่นาน แอชตันได้มาชมสนามซ้อมของอิปสวิชและพบว่าต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เม็ดเงินที่ใส่ลงไปไม่ว่าจะเท่าไรก็ตามคือการลงทุนเพื่ออนาคตของสโมสร
แมคเคนนาได้ทุกอย่างที่เขาต้องการสำหรับการสร้างอิปสวิชให้กลายเป็นทีมฟุตบอลที่ดี โดยที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้คนนอกได้รู้ แม้แต่สถานี Sky Sports เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำบรรยากาศภายในสนามซ้อมอย่างเด็ดขาด (ทำให้ต้องใช้ฟุตเทจที่ถ่ายจากโดรนที่มองไม่รู้เรื่องว่าข้างล่างทำอะไร)
แต่ที่พอจะรู้ได้คือแอชตันลงทุนกับสนามซ้อม 2 สนามที่ใช้หญ้าไฮบริด Desso ที่จะมีสนามกลางแจ้งหนึ่ง และสนามในร่มอีกแห่ง ซึ่งแมคเคนนาจะใช้ซ้อมทั้ง 2 สนาม แล้วแต่แบบฝึกที่กำหนดไว้
Perfect
นอกจากสนามฝึกซ้อมแล้ว แอชตันยังสนับสนุนแผนการทำทีมของแมคเคนนาที่ไม่ได้เรียกร้องให้ซื้อผู้เล่นระดับสตาร์ในราคาแพงเข้ามา แต่ใช้วิธีการเสริมทีมแบบชาญฉลาดแทน
อิปสวิชใช้เงินแค่ 4 ล้านปอนด์สำหรับช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 2023/24 แต่ใช้วิธีการดึงนักเตะดีๆ มาแบบยืมตัวแทน เช่น โอมารี ฮัตชินสัน จากเชลซี หรือ คีฟเฟอร์ มัวร์ กองหน้าตัวเป้าดีกรีทีมชาติเวลส์ที่เข้ามาทดแทน จอร์จ เฮิร์สต์ กองหน้าตัวหลักที่บาดเจ็บ เพราะนักเตะแบบนี้สำคัญมากในสไตล์การเล่นของแมคเคนนา
ที่สำคัญคือเขาและแอชตันทำงานร่วมกันในการแก้โจทย์ที่ยากขึ้น
เมื่อครั้งที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาจากลีกวัน แมคเคนนาและทีมสตาฟฟ์รู้ว่าหนึ่งในสิ่งที่แตกต่างกันที่สุดระหว่างลีกวันกับแชมเปียนชิปคือเรื่องของ ‘ความเร็ว’ หรือสปีดของเกม
ดังนั้นพวกเขาต้องหาวิธีที่จะทำให้ทีมรับมือกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีคือการหานักเตะที่เร็วกว่าที่มีอยู่
อิปสวิชยังลงรายละเอียดถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น จำนวนเวลาที่บอลอยู่ในการเล่น ซึ่งลีกวันเฉลี่ยต่อเกมจะเล่นกันแค่ 48 นาที แต่ในแชมเปียนชิป จำนวนนาทีที่บอลอยู่ในการเล่นเพิ่มเป็น 67 นาที เรียกว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
และมันสำคัญจริงๆ สำหรับอิปสวิช เพราะพวกเขาเป็นทีมที่เล่นบอลกับพื้นเป็นหลัก ดังนั้นถ้าสนามแข่งไม่อยู่ในสนามที่พร้อม ทีมจะมีปัญหาในการเล่นแน่นอน ว่าแล้วแอชตันจึงเซ็นงบให้ทีมปรับปรุงสนามครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องของการระบายน้ำไปจนถึงการติดตั้งเครื่องทำความร้อนใต้สนาม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อิปสวิชได้ทำในช่วง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา
แน่นอนว่าคีแรน แมคเคนนา กุนซือคนหนุ่ม คือผู้ที่เป็นสายลมของความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อิปสวิชกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องให้เครดิตกับฝ่ายบริหารชุดใหม่ สตาฟฟ์โค้ชทุกคน นักเตะทุกคน แฟนบอล รวมถึงแฟนบอลและสปอนเซอร์กิตติมศักดิ์อย่าง เอ็ด ชีแรน ที่เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ยื่นมือมาช่วยสโมสรยามลำบากในช่วงโควิดที่ผ่านมา
ทุกอย่างจึงดูสวยงามเหมือนภาพของความฝัน ต่างกันตรงที่นี่คือความจริงที่อยู่ตรงหน้า
When you said you looked a mess
I whispered underneath my breath
But you heard it
Darling, you look perfect tonight
อ้างอิง: