วันนี้ (19 กันยายน) ครบรอบ 16 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะ เข้ายึดอำนาจ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ระหว่างร่วมการประชุมที่องค์การสหประชาชาติ ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
รัฐประหารครั้งนั้นเกิดขึ้นครั้งที่ 12 ของการเมืองไทย ในรอบ 15 ปี โดยก่อนหน้าเป็นการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534
การรัฐประหารปี 2549 นำมาสู่การแต่งตั้ง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 พร้อมตั้ง ‘ครม.ขิงแก่’ บริหารราชการแผ่นดิน
ชะตากรรมทักษิณหลังยึดอำนาจ เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองมากมาย รวมถึงถูกถอดยศจาก พ.ต.ท. และต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชีวิตชายที่ชื่อ ‘ทักษิณ’ เปลี่ยนไปตลอดกาล
ทักษิณมีโอกาสกลับมาเหยียบแผ่นดินไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เขาเดินทางด้วยเครื่องบินจากฮ่องกงถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อมาถึงได้เข้าสวมกอดครอบครัวและทักทายบุคคลที่มารอต้อนรับ จากนั้นได้คุกเข่า ก้มกราบแผ่นดินไทย กลายเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ ขณะที่การกลับมาหนนั้นถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้กลับมาเหยียบมาตุภูมิ
ทักษิณพำนักอยู่ต่างประเทศและเดินทางเข้า-ออกในหลายประเทศ ทั้งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, กัมพูชา, มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
16 ปีที่ผ่านมา ทักษิณดึงคนในตระกูลชินวัตรเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทยหลายคน โดยคนในครอบครัวชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 นอกจากนั้นยังมี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 สามีของ เยาวภา (ชินวัตร) วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของทักษิณ
ล่าสุด อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว เดินเข้าสู่ถนนการเมืองตามรอยพ่อ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หลายคนจับตาว่า อุ๊งอิ๊งจะขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยหรือไม่ และมักถูกถามถึงอนาคตของพ่อเรื่องการกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทักษิณประกาศผ่านสื่อหลายครั้งว่า ‘อยากกลับบ้าน’
THE STANDARD รวบรวมมาให้ว่าตลอดปี 2565 เขากล่าวถึงการอยากกลับบ้าน กลับแผ่นดินเกิด มาแล้วกี่ครั้ง
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล