อินเดียเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดหลายระลอกของโรคโควิด โดยสถานการณ์พลิกไปมา จากในปี 2020 ที่เริ่มระบาดด้วยผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวันไปสู่หลักหมื่น จนเฉียดแสนในช่วงเดือนกันยายน ก่อนจะเริ่มลดลงต่อเนื่องจนกลับมาแตะหลัก 8,000 คนต่อวัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ และกลับมาระบาดรุนแรงหนักขึ้นอีกเป็นระลอกที่ 2 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ยอดผู้ติดเชื้อทะยานไปแตะจุดพีกที่กว่า 400,000 คนต่อวัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกและเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก ก่อนที่กราฟตัวเลขจะไต่ระดับลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่หลัก 30,000-40,000 คนต่อวัน ณ ปัจจุบัน
คำถามคืออะไรที่ทำให้อินเดียพลิกกลับจากสถานการณ์ระบาดของโควิดที่รุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม กลับมาสู่ภาวะที่เรียกได้ว่า ‘เกือบสงบ’ ในตอนนี้ ต้องย้อนไปดูเรื่องราวกันตั้งแต่เริ่มต้น
การระบาดระลอกแรก (มกราคม 2020 – กุมภาพันธ์ 2021)
- อินเดียเผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกแรก โดยพบผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2020 ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มต่อเนื่องจนทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศช่วงกลางเดือนมีนาคม ในขณะที่ผู้ติดเชื้ออยู่ที่ราว 500 คนต่อวัน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนกว่า 1.3 พันล้านคน
- ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่ลดลงและเมืองใหญ่ทั่วประเทศกลายเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการแพร่ระบาดสูง ทำให้รัฐบาลตัดสินใจขยายการล็อกดาวน์ต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม
- รัฐบาลอินเดียตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมิถุนายน แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงต่อเนื่องจนทะลุหลัก 10,000 คนต่อวัน โดยอนุญาตให้เปิดโรงงานและร้านค้า และผ่อนคลายกฎระเบียบในการรักษาระยะห่างในหลายรัฐ
- ยอดผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกแรก เพิ่มสูงสุดเกือบ 98,000 คน ในกลางเดือนกันยายน ก่อนที่จะเริ่มลดลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2021
- รัฐบาลอินเดียประกาศชัยชนะหลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงมาต่ำสุดที่ประมาณ 8,900 คน ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แสดงความมั่นใจและประกาศความสำเร็จในการรับมือการแพร่ระบาด ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศ ‘จบเกม’ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด
- ความมั่นใจในการรับมือสถานการณ์ระบาด ทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจเพิ่มการส่งออกวัคซีนโควิดที่ผลิตในประเทศ โดยส่งออกไป 193 ล้านโดส ในขณะที่ผ่อนคลายการล็อกดาวน์การเดินทางทั้งในและนอกประเทศ อนุญาตให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และอนุญาตให้ประชาชนรวมกลุ่มในพิธีทางศาสนาหรืองานแต่งงานได้
การระบาดระลอกสอง (มีนาคม 2021 – ปัจจุบัน)
- การปล่อยให้การ์ดตก ด้วยการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ท่ามกลางคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว จากราว 10,000 คน ไปถึงกว่า 70,000 คนต่อวัน ในเดือนมีนาคม และทะลุหลักแสนคนไปจนถึงกว่า 300,000 คนต่อวัน ในเดือนเมษายน ก่อนจะพุ่งถึงจุดพีกกว่า 414,000 คน ในวันที่ 6 พฤษภาคม
- หนึ่งในคลัสเตอร์แพร่ระบาดแบบกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และพบการระบาดแบบ Super Spreader หรือการแพร่เชื้อในวงกว้าง คืองานเทศกาลกุมภเมลา ที่มีผู้แสวงบุญชาวฮินดูกว่า 4 ล้านคน ไปร่วมอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ที่เมืองหริทวาร รัฐอุตตราขัณฑ์
- นอกจากนี้ในหลายรัฐ เช่น อัสสัม เบงกอลตะวันตก เกรละ และทมิฬนาฑู ยังอนุญาตให้มีการจัดปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้เกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดในกลุ่มประชาชนที่ไปร่วมรับฟังการปราศรัย
- หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้การแพร่ระบาดระลอกสองในอินเดียทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากเชื้อโควิดกลายพันธ์ ทั้งสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในอังกฤษ และสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย
- ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงในระลอกที่สอง ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศประสบภาวะผู้ป่วยล้นและขาดแคลนออกซิเจน จนถึงขั้นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนิวเดลี ต้องร้องขอต่อศาลให้ช่วยเหลือ เพราะมีออกซิเจนเหลือสำหรับผู้ป่วยโควิดเพียง 3 ชั่วโมง ในขณะที่มีผู้ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตหากไม่ได้รับออกซิเจนกว่า 400 คน
- แผนดำเนินการรับมือการแพร่ระบาดระลอกสองเริ่มต้นหลังการเลือกตั้งระดับรัฐเสร็จสิ้น โดยรัฐบาลร่วมมือกับรัฐบาลในแต่ละรัฐหาหนทางรับมือวิกฤต โดยปฏิเสธตัวเลือกล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่อาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน และหันไปใช้วิธีควบคุมการระบาดในจุดเล็กๆ หรือล็อกดาวน์เฉพาะบางรัฐที่พบการแพร่เชื้อในระดับสูง ขณะที่เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการรักษาระยะห่างและบังคับให้สวมหน้ากากอนามัย
- เป้าหมายสำคัญในการยับยั้งวิกฤตแพร่ระบาด คือการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ โดยทางการอินเดียระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึง 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสเพียงประมาณ 12.6% ของจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน
- ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียเร่งจัดหาวัคซีน โดยสั่งระงับการส่งออกวัคซีนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนกว่าอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศจะสูงพอ ซึ่งวัคซีนหลักที่ผลิตในประเทศคือ Covishield ของ AstraZeneca ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และวัคซีน Covaxin ที่บริษัท Bharat Biotech พัฒนาขึ้นเอง
- งานวิจัยจากสภาวิจัยทางการแพทย์ของอินเดียที่เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ บ่งชี้ว่าปัจจุบันมีชาวอินเดียกว่า 2 ใน 3 ที่มีภูมิคุ้มกันโควิด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อและหายดีแล้ว และส่วนหนึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีน
- สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมา เฉลี่ยอยู่ที่ราว 30,000-40,000 คนต่อวัน แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการผ่อนคลายมาตรการด้วยการอนุญาตให้ทานอาหารในร้าน เปิดร้านกาแฟหรือฟิตเนส ยังคงต้องชะลอออกไปก่อนเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง และจำเป็นต้องคงมาตรการรักษาระยะห่าง งดการรวมกลุ่ม และบังคับสวมหน้ากากอนามัยต่อไป
- ขณะที่อินเดียยังเตรียมความพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในอนาคต โดยมีการจัดตั้งสมาคมพันธุกรรม SARS-CoV-2 ของอินเดียขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีแล็บ 10 แห่ง เข้าร่วมเพื่อทำการศึกษาวิจัยลำดับพันธุกรรมของไวรัส
- หากแยกปัจจัยสำคัญในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สอง จะเห็นได้ว่าวิกฤตที่บรรเทาลงเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด มีแบบแผนและลำดับขั้นตอน ในขณะที่ประชาชนเองก็พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างมีระเบียบวินัย
ภาพ:Photo by Sanjeev Verma/Hindustan Times via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/how-india-covid-19-wave-controlled-flattened-curve-infections-15301986
- https://en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_pandemic_in_India#First_wave:_Nation-wide
- https://www.worldometers.info/coronavirus/country/india/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-06-19/india-to-hold-off-vaccine-exports-until-domestic-demands-met-ap?sref=CVqPBMVg