×

‘เซมิคอนดักเตอร์’ สำคัญกับสหรัฐฯ แค่ไหน? ทำไมเพโลซีต้องไปพบประธาน TSMC ขณะเยือนไต้หวัน

04.08.2022
  • LOADING...
เซมิคอนดักเตอร์

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้พบกับ มาร์ก หลิว ประธานบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC ระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ที่สหรัฐฯ เพิ่งผ่านการอนุมัติในสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวบัญญัติให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จัดหางบประมาณอุดหนุนวงเงิน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้แก่บริษัทชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ที่ลงทุนในสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสามารถในการผลิตชิปของประเทศขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ CHIPS Act ยังจำกัดการลงทุนในประเทศจีนสำหรับบริษัทที่ได้รับเงินอุดหนุนจากสหรัฐฯ ด้วย

 

ทำไมเพโลซีต้องพบซีอีโอ TSMC? 

TSMC ถือว่ามีความสำคัญด้านความมั่นคงของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ รายใหญ่หลายแห่ง ซึ่งรวมถึง Apple, Google, Qualcomm และ Nvidia เนื่องจากเป็นผู้ผลิตชิปตามสัญญาของบริษัทเหล่านี้

 

โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยแสดงท่าทีกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการจัดหาชิป และความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในเอเชีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จึงเห็นได้ว่าเพโลซีและคณะผู้แทนได้เดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเอเชียทันทีหลังเดินทางออกจากไต้หวัน

 

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สำคัญอย่างไร?

เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง ในการต่อสู้เพื่อตำแหน่งมหาอำนาจทางเทคโนโลยี

 

อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาจำนวนมากในสหรัฐอเมริกากำลังพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงในเอเชีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีของ TSMC ไม่ว่าจะเป็นโปรเซสเซอร์สมาร์ทโฟน เซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูล หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้เครื่องบินรบ F-35 ของอเมริกา ยังใช้ชิปของ TSMC ด้วย

 

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในสหรัฐฯ TSMC กำลังสร้างโรงงานชิปมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตขั้นสูงแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

จุดนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองสหรัฐฯ หลายคนแสดงความกังวลว่าจีนอาจยึด TSMC ในไต้หวัน เพื่อควบคุมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก

 

อย่างไรก็ตาม ประธาน TSMC ยืนยันว่า “ไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC ได้โดยใช้กำลัง หากคุณใช้กำลังทหารหรือการบุกรุก คุณจะทำให้โรงงาน TSMC ไม่สามารถทำงานได้ เพราะโรงงานการผลิตมีความซับซ้อน”

 

เซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อไต้หวันอย่างไร?

ตามรายงานของ TrendForce ระบุว่า ไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปตามสัญญารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยครองสัดส่วน 64% ของรายได้จากการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ขณะที่ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของไต้หวัน และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตชิปล้ำสมัยที่สุดให้แก่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น Apple, Qualcomm และ Nvidia ขณะที่เกาหลีใต้คือผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 รองจากไต้หวัน

 

หลังจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์จึงครองสัดส่วนเกือบ 40% ของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน และครองสัดส่วน 15% ของ GDP ไต้หวัน

 

ทำไมจีนถึงต้องการเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน?

จากมาตรการลงโทษทางการค้าต่างๆ ที่จีนประกาศออกมาล่าสุด จะเห็นได้ว่าจีนไม่ได้แตะต้องหรือสั่งระงับการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันเลย สะท้อนว่าจีนพึ่งพาการส่งออกส่วนประกอบสำคัญนี้อย่างมาก

 

ตามรายงานของ Congressional Research Service เมื่อปี 2020 ระบุว่า 60% ของความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมาจากจีน โดยมากกว่า 90% ของความต้องการดังกล่าว มาจากการนำเข้าและจากบริษัทต่างประเทศที่มีการผลิตในประเทศจีน แม้จะทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่บริษัทชิปของจีน นำโดย SMIC ก็ยังครองตลาดได้ไม่ถึง 10%

 

เจมส์ ลี ผู้ช่วยนักวิจัยจาก Academia Sinica ในไต้หวัน ระบุว่า จีนต้องพึ่งพาไต้หวัน เพราะบริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ของจีนมีกำลังการผลิตที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชิปขั้นสูง แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานว่า SMIC ได้พัฒนาความสามารถในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังตามหลัง TSMC และ Samsung อยู่

 

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เคยกล่าวถึงการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศว่าเป็น “อันตรายที่ซ่อนเร้นที่สุด” ที่จีนกำลังเผชิญ และให้คำมั่นที่จะจัดหาชิปให้เพียงพอ

 

โดยภายใต้โครงการริเริ่ม ‘Made in China’ ปักกิ่งได้ให้คำมั่นว่าจะทุ่มเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2020-2025 ในอุตสาหกรรมไฮเทค รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ โดยตามการวิจัยของ TechNode ในปี 2020 เพียงปีเดียว บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีนได้รับเงินลงทุนกว่า 2.27 แสนล้านหยวน นับเป็นการเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้า

 

เจมส์ ลี ยังมองว่า จีนไม่น่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ยังคงพึ่งพาบริษัทไต้หวันในการผลิต แต่สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากปักกิ่งสามารถพัฒนากำลังการผลิตให้แข็งแกร่งได้ แต่อาจใช้เวลานานอีกหลายปี

 

ทำไมไต้หวันถึงกลายเป็นจุดสนใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา?

เดล โคปแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศจาก University of Virginia และนักวิจัยอาวุโสของ Miller Center มองว่า แม้ไต้หวันจะเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ มายาวนานหลายทศวรรษ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่ง สีจิ้นผิง คาดว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 3

 

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้นำจีน สีจิ้นผิง พยายามสร้างชื่อเสียงด้านการฟื้นฟูชาติจีนให้แก่ตนเอง และในมุมมองของผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า สีจิ้นผิง จำเป็นต้องยึดไต้หวันกลับคืนมาไม่ช้าก็เร็ว เพื่อรักษาความชอบธรรมในการเป็นผู้นำไว้

 

นอกจากนี้หลายฝ่ายยังมองว่า การที่ สีจิ้นผิง กดดันและเข้มงวดต่อไต้หวันมากขึ้น เพราะกังวลว่าไต้หวันจะแยกห่วงโซ่ (Decoupling) เซมิคอนดักเตอร์ไฮเทคและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตออกจากจีน

 

เดล โคปแลนด์ ระบุอีกว่า ความกังวลดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากปักกิ่งรู้สึกว่าวอชิงตันมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในด้านอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

 

หลายปีที่ผ่านมาจีนพยายามลดการพึ่งพาการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าจำนวนมาก ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงพึ่งพาไต้หวันอย่างมากสำหรับชิปไฮเทคเกือบทั้งหมดและชิปพื้นฐานส่วนใหญ่ที่ใช้

 

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามอย่างหนักเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ผลิตชิปของไต้หวันบางแห่ง รวมถึง TSMC ย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตหากเกิดความขัดแย้ง

 

เดล โคปแลนด์ กล่าวอีกว่า เมื่อผู้นำประเทศเริ่มเชื่อว่าอีกฝ่ายกำลังพยายามลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตนเองผ่านข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ก็จะมีแนวโน้มหันไปใช้ท่าทีทางทหารมากขึ้น โดยจากมุมมองของจีน การตัดสินใจของ TSMC ในการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ถือเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการขัดขวางไม่ให้จีนพึ่งพาชิปจากไต้หวัน

 

ก่อนหน้านี้ความกังวลดังกล่าวปรากฏชัดในเดือนมิถุนายน เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนคนสำคัญแย้งว่า หากสหรัฐฯ คว่ำบาตรจีนแบบเดียวกับที่ทำกับรัสเซียในปีนี้ ปักกิ่งควรบุกไต้หวันเพื่อครอบครองโรงงานผลิตชิป

 

หนทางหลีกเลี่ยงสงคราม

เดล โคปแลนด์ แนะว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้สึกว่าเศรษฐกิจตนเสี่ยงจะพังทลายได้ ด้วยการให้ความมั่นใจแก่บรรดาผู้นำจีนว่า จีนจะยังคงได้รับเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันต่อไป แม้ว่า TSMC จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังสหรัฐฯ ก็ตาม


อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X