นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเหล่า ‘Culers’ ในรอบหลายปี เพราะนอกจากที่บาร์เซโลนาจะล้างแค้นบาเยิร์น มิวนิก ในแชมเปียนส์ลีกได้อย่างสะใจด้วยสกอร์ 4-1 แล้ว พวกเขายังบุกไปถล่มคู่ปรับตลอดกาลอย่างเรอัล มาดริด ในศึก ‘เอลกลาซิโก’ แบบขาดลอยถึง 4-0
ความมหัศจรรย์ของบาร์ซาคือ การที่ทีมชุดนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์ค่าตัวมหาศาลล้นทีม เพราะบาร์ซาประสบปัญหาทางการเงินอย่างแสนสาหัส และยังมีปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นอีกหลายคน ทำให้ในทีมที่ส่งลงสนามมีนักเตะดาวรุ่งอยู่ร่วมครึ่งทีม
โดย 3 คนในนั้นอายุแค่ 21 ปี และอีก 2 คนที่เป็นดาวรุ่งอายุเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้น!
สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ ฮันซี ฟลิก ทำอย่างไรถึงสามารถคืนชีพบาร์เซโลนาให้กลับมาเป็น ‘ซูเปอร์ทีม’ ได้อีกครั้ง?
นั่นสิ…
แค่ปัดฝุ่น อารมณ์ก็เปลี่ยน
หนึ่งในปัญหาของบาร์เซโลนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา – โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มี ลิโอเนล เมสซี ราชาลูกหนัง เป็นเสาหลักค้ำยันอีกต่อไป – คือการที่นักเตะระดับสตาร์ค่าตัวแพงระยับกลับเล่นได้ไม่ดีตามความคาดหวังนัก
โดยเฉพาะในฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งแม้แต่สายเลือดแท้ของสโมสรอย่างชาบี เอร์นานเดซ เองก็หมดปัญญาที่จะกอบกู้ฟอร์มของผู้เล่นหลายๆ คนให้กลับมาอย่างที่ควรจะเป็นได้
แต่ในฤดูกาลนี้ ฮันซี ฟลิก บอสใหญ่อดีตโค้ชทีมชาติเยอรมนี สามารถทำให้ผู้เล่นหลายคนค้นพบฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมได้อีกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็น เปดรี ที่กลับมาเป็นเสาหลักในแดนกลาง, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ที่คืนฟอร์มโคตรดาวยิงจอมถล่มประตูได้อีกครั้งในวัย 36 ปี และอีกคนที่น่าประทับใจที่สุดอย่าง ราฟินญา ปีกทีมชาติบราซิล ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะทุ่มเทและเล่นได้ดีแค่ไหนก็ไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น
ตอนนี้ราฟินญากลายเป็นซูเปอร์สตาร์อีกคนในทีมของฟลิกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นอกจากนี้ยังมี แฟรงกี เดอ ยอง และ ดานี โอลโม ที่บาดเจ็บในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเพิ่งกลับมาและอยู่ในระหว่างการเรียกฟอร์มด้วย
ในเรื่องนี้สิ่งสำคัญคือ การที่ฟลิกมองขาดถึงจุดเด่นของผู้เล่นแต่ละคนและพยายามส่งเสริมในด้านนั้น เช่น ราฟินญาเป็นปีกที่มีความเร็วและมีร่างกายที่ยอดเยี่ยม มีความเป็นนักกีฬาสูง ก็จะหาทางดึงศักยภาพส่วนนี้ออกมาและส่งเสริมด้วยการปรับวิธีการเล่นของทีมให้เหมาะสม
เรียกว่าของดีมากมายในทีมที่ฝุ่นจับก่อนหน้านี้ ฟลิกกำลังค่อยๆ ปัดฝุ่นให้กลับมาใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้เรไรอีกครั้ง
การกลับมาของนักเตะบ้านทุ่ง
‘บ้านทุ่ง’ หรือลามาเซีย เคยเป็นหนึ่งในตักศิลาลูกหนังที่ดีที่สุดของโลก และเคยเป็นความภาคภูมิใจของบาร์ซาที่เคยครองโลกด้วยสายเลือดของสโมสรอย่างเมสซี, ชาบี, อันเดรส อิเนียสตา, การ์เลส ปูโยล และอีกมากมาย
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สายเลือดจากลามาเซียไม่ได้เปล่งประกายอย่างที่ควรจะเป็นนัก แม้แต่นักเตะที่เคยเป็นความหวังใหม่อย่าง อันซู ฟาติ ก็เจอโชคชะตาเล่นงาน (และอีกส่วนหนึ่งคือการดูแลที่ดีไม่พอจากสโมสร) ทำให้กลายเป็นดาวดับไปอย่างน่าเศร้า
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ดูเหมือนสายเลือดลามาเซียจะกลับมากอบกู้ศักดิ์ศรีได้อีกครั้ง โดยไม่เพียงแค่รายของ ลามีน ยามาล ที่กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของสเปนไปแล้วด้วยวัยเพียง 17 ปี ยังมีนักเตะอีกหลายคนที่ได้โอกาสแจ้งเกิดในฤดูกาลนี้
ไม่ว่าจะเป็น มาร์ก คาซาโด กองกลางวัย 21 ปี, เปา คูบาร์ซี ปราการหลังดาวรุ่งวัย 17 ปีที่กลายเป็นการค้นพบใหม่ ไม่นับ อเลฮานโดร บาลเด แบ็กซ้ายวัย 21 ปี และ กาบี มิดฟิลด์อัจฉริยะวัย 20 ปีที่หายเจ็บกลับมาลงสนามได้อีกครั้งแล้ว
ในเกมเอลกลาซิโกที่ผ่านมาจึงมีสายเลือดลามาเซียลงสนามถึง 5 คนด้วยกัน
อายุ 17 ปี 2 คน และอายุไม่เกิน 21 ปีอีก 3 คน
สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นได้เลยถ้าฟลิกไม่เชื่อมั่นในตัวเด็กเหล่านี้ และมองวิกฤตของการขาดผู้เล่นเสาหลัก โดยเฉพาะในแนวรับ ให้กลายเป็นโอกาสของเพชรเม็ดงามที่รอวันเปล่งประกายเหล่านี้
Super High-Line ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด
หนึ่งในแท็กติกลูกหนังที่ ฮันซี ฟลิก นำมาปรับใช้กับบาร์ซาในยุคนี้ และกำลังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากคือการยืนกองหลังสูง ที่สูงแบบซู้งงง สูง บางครั้งยืนกันถึงเส้นครึ่งสนาม
ตอนนี้ยังไม่มีการนิยามชื่อใดๆ ให้แท็กติกนี้จากสื่อต่างประเทศ จึงขออนุญาตเรียกเองก่อนว่า ‘Super High-Line’
แท็กติกนี้ของฟลิกถูกมองว่าเป็นการเล่นที่เสี่ยงอย่างมาก มีเดิมพันสูง เพราะการที่แนวรับยืนหลังสูงขนาดนี้หมายถึงโอกาสที่จะถูกจู่โจมจากคู่แข่งได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะหากคู่แข่งมีตัวรุกความเร็วจัดจ้านก็อาจหมายถึงมีโอกาสจะเสียประตูสูง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมคู่แข่งต่างประสบปัญหาในการรับมือกับแท็กติกแบบนี้ เพราะ ‘พื้นที่’ ในการเล่นของสนามถูกบีบให้แคบลงอย่างมาก เหลือระยะในแดนตัวเองแค่ 30-40 หลา ซึ่งนักเตะบาร์ซาซักซ้อมมาเป็นอย่างดีให้เพรสซิ่งบีบพื้นที่และชิงบอลกลับมาเล่นให้ได้โดยเร็ว ไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งมีพื้นที่และเวลาในการแก้เพรสซิ่งได้ถนัด
นอกจากนี้ยังวาง ‘กับดักล้ำหน้า’ ซ้อนเอาไว้อีกชั้น โดยหากเปิดบอลตัดแนวรับ แบ็กโฟร์ของบาร์ซาจะขยับขึ้นเพื่อดักล้ำหน้าทันที
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือในเกมเอลกลาซิโก ซึ่งเรอัล มาดริด ไม่เพียงแต่จะพลาดการได้ประตูจาก คีเลียน เอ็มบัปเป ที่โดนจับล้ำหน้าไปก่อน แต่ตลอดทั้งเกมนักเตะราชันชุดขาวโดนดักล้ำหน้ามากถึง 12 ครั้ง ทั้งๆ ที่เล่นในสนามซานติอาโกเบร์นาเบวของตัวเองที่คุ้นเคยระยะทำการเป็นอย่างดี ขณะที่ค่าเฉลี่ยตั้งแต่เปิดฤดูกาลจะมีทีมที่โดนบาร์ซาจับล้ำหน้าถึง 6.5 ครั้งต่อเกม
ในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ความบังเอิญอีกเช่นกัน เพราะฟลิกเปิดเผยว่า เขาศึกษากลยุทธ์การเล่นจากปรมาจารย์ลูกหนังผู้เป็นบิดาแห่งบาร์เซโลนาสมัยใหม่อย่าง ‘นักเตะเทวดา’ โยฮัน ครัฟฟ์ มาเป็นอย่างดี โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ชอบคือกับดักล้ำหน้านี่เอง
Machete ระห่ำ กระฉูด!
แต่ทีเด็ดของบาร์ซาไม่ได้มีแค่เรื่องของเกมรับเท่านั้น เพราะตัวตนและจิตวิญญาณของสโมสรคือฟุตบอลเกมรุก และฟุตบอลในแบบของฟลิกต้องบอกว่าเป็นบอลที่โคตรมันสะเด่าไปเลยไอ้น้อง
บาร์ซาอาจเคยขึ้นชื่อว่าเป็นฟุตบอลคอนโทรลที่ดีที่สุดในโลก ด้วยสไตล์การเล่นที่ถูกขนานนามว่า ‘Tiki-Taka’ ที่เริ่มในยุคของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และพยายามรักษาวิถีแบบนี้มายาวนานร่วมสิบปี
แต่ในยุคของฟลิกแล้ว บอลบาร์ซาเร็วและคมขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่จำเป็นต้องรำต้องม้วนอะไรมากมาย ใช้การประสานงานความเข้าใจกันระหว่างผู้เล่นและความรวดเร็วปานสายฟ้าฟาดเล่นงานคู่แข่ง ซึ่งที่ทำได้ก็เพราะมีตัวรุกสปีดเร็วกว่านรกอย่างยามาลและราฟินญาอยู่
ขณะที่เปดรีที่เคยเป็นกองกลางตัวคุมจังหวะของเกมได้รับบทบาทใหม่ให้ขยับขึ้นมาสูงขึ้นและมีอิสระในการทำเกมรุกมากขึ้น เพื่อคอยแจกจ่ายบอลให้ตัวรุกไม่ว่าจะเป็นยามาล ราฟินญา หรือเลวานดอฟสกี ที่มีความสุขมาก เพราะได้รับการเซอร์วิสจากเพื่อนร่วมทีมเป็นอย่างดี
ด้วยเกมรุกสุดมันแบบนี้ทำให้บาร์ซาทำไปแล้วถึง 47 ประตู จากการลงสนาม 14 นัดตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล
คิดแล้วเฉลี่ยเกมละ 3.3 ประตูเลยทีเดียว
เอาใจเราไปใส่ใจเขา
สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ฟลิกเปลี่ยนแปลงบาร์ซาได้คือความใส่ใจในทีม ที่รู้ว่าจะต้องบริหารจัดการความรู้สึกของลูกทีมอย่างไร จะดูแลกันแบบไหน เพื่อที่จะทำให้นักเตะทุกคนสามารถทำผลงานได้อย่างดีที่สุด
เลวานดอฟสกีบอกว่า “สิ่งที่ฟลิกทำมันน่าเหลือเชื่อมาก ไม่ใช่เฉพาะกับผม แต่กับเราทุกคน เขาทำให้เราเข้าใจกันโดยไม่จำเป็นต้องพูดสักคำก็ได้”
ล่าสุดหลังชัยชนะสวยหรูในเกมเอลกลาซิโก ฟลิกมอบรางวัลให้กับลูกทีมทุกคน
รางวัลนั้นไม่ใช่เงินโบนัสก้อนโตหรืออะไร แต่เป็นการบอกว่า “ทุกคนจะได้พัก 3 วัน” ทำให้นักเตะบาร์ซากระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจกันทั้งทีม ซึ่งแม้ในเชิงของการคุมทีมฟุตบอลแล้วการให้พักถึง 3 วันค่อนข้างจะเยอะเกินไปสักหน่อย แต่ฟลิกน่าจะมองว่าเป็นรางวัลตอบแทนความพยายามของทีมที่เจอเกมหนักมาต่อเนื่องและทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มีผลต่อกำลังใจของทีมอย่างมาก และถือเป็น ‘ศิลปะของผู้นำ’ ที่สามารถเรียนรู้ได้เลย
ขณะที่ตัวของเขาเองแม้จะถูกปรามาสไม่น้อยในตอนเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็เลือกจะพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานมากกว่าคำพูด
ที่สำคัญคือการมีความสุขกับการทำงาน ทำงานด้วยความรัก
เหมือนที่เขาเคยถูกทีมงานของบาร์ซาถามในคลิปสัมภาษณ์วันเปิดตัว
“ขอหนึ่งคำที่จะแทนความรู้สึกของคุณในตอนนี้”
ฟลิกยิ้ม ก่อนตอบว่า
“ความสุข” 🙂
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/athletic/5875691/2024/10/27/barcelona-real-madrid-yamal-cubarsi/
- https://www.barcablaugranes.com/2024/10/28/24280760/what-hansi-flick-is-doing-at-barcelona-is-incredible-robert-lewandowski
- https://theanalyst.com/2024/10/barcelona-prepared-first-clasico-test-hansi-flick-la-liga
- https://www.nytimes.com/athletic/5868632/2024/10/24/raphinha-barcelona-bayern-hat-trick/