ทุกวันนี้เราอาจคุ้นชินกับพายุลูกต่างๆ ที่มีชื่อเรียกให้จดจำ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในสหรัฐอเมริกานั้น แม้แต่ไฟป่าก็มีการตั้งชื่อให้เรียกขานเช่นกัน
ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการตั้งชื่อเรียกตัวต้นเหตุของภัยธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกในการออกข่าวและแจ้งเตือนให้ระวังภัย
ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนพร้อมกัน 2 ลูกขึ้นไป ถ้าไม่มีการตั้งชื่อให้เจาะจงแล้วก็ย่อมเป็นการลำบากและอาจสร้างความสับสนให้หน่วยงานกู้ภัย รวมทั้งสื่อมวลชนและประชาชนในการเฝ้าระวังว่าพายุลูกไหนจะขึ้นฝั่งที่ไหนก่อนกัน และเคลื่อนตัวไปทางไหน เวลาไหน
และแม้พายุได้เคลื่อนผ่านและสลายตัวไปแล้ว ชื่อของพายุก็ยังจำเป็นต้องใช้ในการอ้างอิงเพื่อทำเอกสารด้านประกันภัยและชดเชยความเสียหาย รวมทั้งขั้นตอนการเยียวยาต่างๆ
แต่โดยทั่วไปในเกือบทุกประเทศ ‘ไฟป่า’ เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่นิยมตั้งชื่อเรียกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เนื่องจากไม่ได้เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ หรืออาจเกิดเป็นพื้นที่เล็กๆ เป็นบริเวณไม่กว้างขวางนัก รวมทั้งมักเกิดเป็นเวลาไม่นาน
แต่สำหรับสหรัฐอเมริกากลับไม่เป็นเช่นนั้น หลายรัฐแถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศมีไฟป่าเกิดบ่อยมากในทุกปี และมักเผาไหม้เป็นพื้นที่กว้าง รวมทั้งเกิดเป็นระยะเวลายาวนาน หรือบางครั้งอาจเกิด 2-3 แห่งพร้อมๆ กัน และมักสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ดังนั้นคนอเมริกันจึงนิยมตั้งชื่อเรียกไฟป่าที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนแตกต่างกันไป และเนื่องด้วยไม่มีระบบการกำหนดชื่ออย่างเป็นแบบแผน ไฟป่าของสหรัฐอเมริกาจึงมักตั้งชื่อตามชื่อภูมิประเทศที่ศูนย์กลางของไฟป่าครั้งนั้นได้ก่อตัวขึ้น
ในยุคก่อนอาจเป็นชื่อของภูเขา แม่น้ำ หรือทะเลสาบ แต่ในสมัยนี้มักตั้งชื่อไฟป่าตามชื่อถนน ชุมชน
ยกตัวอย่างเช่น ไฟป่า Carr ที่เผาไหม้บ้านเรือนประชาชนไปกว่า 1,000 หลังและคร่าชีวิตผู้คนไป 8 ราย ช่วงเดือนกันยายนถึงสิงหาคม ปี 2018 ได้ชื่อมาจากชื่อถนน Carr Powerhouse และเลือกใช้ชื่อนี้โดยสื่อ San Francisco Chronicle
ไฟป่า Camp ที่ก่อตัวทางเหนือของแคลิฟอร์เนีย และเผาไหม้พื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้างกว่า 109,000 เอเคอร์ บ้านเรือนประชาชนตกอยู่ในกองเพลิงกว่า 6,453 หลัง คร่าชีวิตผู้คนไป 23 ราย ก็ถูกตั้งชื่อตามชื่อถนน Camp Creek โดยสื่อมวลชน KXTV
ส่วนไฟป่า Woolsey ในลอสแอนเจลิสที่กินบริเวณกว้างกว่า 83,275 เอเคอร์ คร่าชีวิตประชาชนไป 2 ราย และเผาผลาญบ้านเรือน 177 หลัง ตั้งชื่อตามชื่อถนน Woolsey Canyon โดย Los Angeles Daily News
หรือชื่อไฟป่า Dude ในเดือนมิถุนายน ปี 1990 ซึ่งคร่าชีวิตนักผจญเพลิงไปหลายนายก็มีที่มาจากยอดเขา Dude Creek ในแอริโซนา ไฟป่า Pumpkin ที่เผาผลาญพื้นที่ป่ากว่า 14,757 เอเคอร์แถบภูเขา Kendrick ก็ได้ชื่อมาจากชื่อชุมชน ขณะที่ไฟป่า Museum มาจากชื่อพิพิธภัณฑ์ Museum of Northern Arizona ใกล้ที่เกิดเหตุ
หรือหนึ่งในไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างไฟป่า Cedar ในซานดิเอโก ปี 2003 ที่คร่าชีวิตนักผจญเพลิงไป 1 ราย ประชาชน 14 รายก็ตั้งชื่อตามป่าบริเวณน้ำตก Cedar Creek ที่เป็นจุดก่อกำเนิดไฟ ตั้งโดยหน่วยงานผจญเพลิงและผู้บัญชาการเหตุการณ์
แต่กระนั้นก็มีหลายครั้งที่การตั้งชื่อจะเน้นความรวดเร็วเป็นหลักเพื่อการอ้างอิงในการบรรเทาสถานการณ์ ดังนั้นจึงมีการตั้งชื่อตามหน่วยงานแรกที่เข้าไประงับเหตุ เช่น ชื่อนักผจญเพลิงคนแรกหรือกลุ่มแรก จากผู้บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันภัย หรืออาจเป็นการตั้งชื่อจากสื่อมวลชนรายแรกที่นำเสนอข่าวไฟป่าครั้งนั้น
บางครั้งไฟป่าก็มีชื่อที่ออกแนวแปลก เช่น มีชื่อเป็นตัวเลขล้วนๆ อย่างชื่อของไฟป่า 416 ในอุทยานแห่งชาติซานฮวน รัฐโคโลราโด ชื่อนี้มีที่มาจากหน่วยงาน Columbine Ranger District หมายถึงเหตุการณ์เตือนภัยครั้งที่ 416 ของอุทยานแห่งชาตินี้ (ไม่ใช่ไฟป่าครั้งที่ 416 เพราะนับรวมสัญญาณเตือนผิดพลาดและอื่นๆ ด้วย) ไฟป่าครั้งนั้นเผาผลาญพื้นที่ป่าไปกว่า 50,000 เอเคอร์ แต่โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต เพราะเกิดในป่าที่อยู่ห่างไกลบ้านเรือนประชาชน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อย่าง National Multi-Agency Coordinating Group (NMAC) ก็พยายามเข้ามาควบคุมดูแลการตั้งชื่อไฟป่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับสังคมในภายหลัง
ยกตัวอย่างเช่น ห้ามตั้งชื่อไฟป่าที่มีวลีทำนอง ‘Dead Man’ หรือ ‘Deadman’ ห้ามตั้งชื่อเกี่ยวกับทรัพย์สินของเอกชน ชื่อที่เป็นการโฆษณาสินค้า ห้ามตั้งชื่อออกไปในทางล้อเลียน หรือออกแนวน่ารัก หรือตลกขบขัน เพราะอาจมีความสูญเสีย และผู้ประสบภัยคงไม่มีอารมณ์ขันร่วมด้วยกับชื่อไฟป่านั้นๆ
นอกจากนี้ยังห้ามตั้งชื่อคล้องจองปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่าง ‘Eclipse’ (ที่ใช้กับสุริยคราสหรือจันทรคราส) หรือการแข่งกีฬาซูเปอร์โบวล์ เพราะอาจก่อความสับสน และหากชื่อไฟป่าซ้ำกับที่เคยตั้งไปแล้ว ให้พ่วงท้ายเป็นหมายเลขลำดับ เช่น Horseshoe ในปี 1996 และ Horseshoe-2 ในปี 2011 หรืออาจใช้เลขปีต่อท้ายไปตรงๆ ก็ได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: