KKP เผย ภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าไทยจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย เช่น กระทบรายได้ของภาคธุรกิจไทย, อาจทำให้หนี้เสียในอุตสาหกรรมที่ไทยขาดดุลจีนเพิ่มขึ้น, กดดันค่าเงินบาท, ฉุดเงินเฟ้อไทยต่ำต่อเนื่อง และทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี
วันนี้ (19 กันยายน) KKP Research เปิดตัวรายงาน ‘เมื่อสินค้าจีนบุก ไทยควรรับมืออย่างไร’ โดยเตือนว่า ภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าไทยจะสร้างผลกระทบสำคัญตามมาอีกอย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่
- รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มถูกกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ยากกว่า
- หนี้เสียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้น เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า รวมถึงเหล็ก
- ดุลการค้ามีแนวโน้มพลิกเป็นขาดดุลระยะยาว และกดดันค่าเงินบาทจากการนำเข้าสินค้าจีนเพื่อทดแทนการผลิต
- เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากสินค้าราคาถูกจากจีน
- รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษีจากการชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มข้ามชาติ และถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ
KKP ระบุอีกว่า สาเหตุที่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นผลมาจากปัจจัยจากจีนและปัจจัยในประเทศ ดังนี้
ปัจจัยดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยจากจีน ได้แก่
- พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีน และธุรกรรมในประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก และยังมีการขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย e-Commerce ข้ามประเทศ (Cross-Border e-Commerce) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021 โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งสินค้าข้ามประเทศจากจีนประมาณ 24% ของมูลค่า e-Commerce ทั้งหมด
- เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
ปัจจัยในไทยมี 4 ประการหลักๆ ที่มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าหลายๆ ประเทศ ได้แก่
- ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน อาทิ การคิดอัตราภาษีสินค้าจากจีนในระดับต่ำ
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีจีนเป็นผู้นำ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า
- การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในประเทศไทย ซึ่งคนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยพิจารณาจากราคาและการไม่ยึดติดกับแบรนด์
- การให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย
“ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการส่งออกสินค้าจากจีน ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของ GDP ในปี 2012 เป็น 7.5% ของ GDP ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 p.p. ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ” รายงานระบุ
e-Commerce Platform คลื่นยักษ์ลูกใหม่ที่เร่งการทะลักของสินค้าจีนในไทย
KKP Research ย้ำอีกว่า หนึ่งในปัจจัยที่เร่งการส่งสินค้าจีนมายังไทยคือ การเติบโตของ e-Commerce Platform โดยข้อมูลชี้ว่า มูลค่า e-Commerce เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตเร่งขึ้นมากในช่วงโควิด ส่งผลให้ในปี 2023 ตลาด e-Commerce มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 50% เป็นธุรกิจประเภท Business-to-Consumer (B2C) คือการขายของออนไลน์จากธุรกิจไปยังผู้บริโภคโดยตรง ด้านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับแรกคือ e-Marketplace
สาเหตุที่ทำให้ e-Commerce ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้สูงเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 88% ซึ่งจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 66%
- สัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟนสูงถึง 77.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 69%
- การเข้าถึงช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (Online Payment) ที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์ให้มีความสะดวกในต้นทุนที่ต่ำติดอันดับต้นๆ ของโลก ในระยะข้างหน้าการแข่งขันในสมรภูมิ e-Commerce กำลังจะเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อมี e-Marketplace Platform เจ้าใหม่ที่เจาะตลาดไปแล้วถึง 51 ประเทศทั่วโลก และรุกก้าวเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้
เศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันจากสินค้าจีน
ในกรณีของประเทศไทย การเติบโตของ e-Commerce มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยผลจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่
- ผู้บริโภคมีแนวโน้มได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง
- ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือธุรกิจที่โตไปพร้อมกับ e-Commerce
- ผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกับสินค้าที่นำเข้าผ่าน e-Commerce มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้ามาทดแทนของสินค้าจีน อาทิ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
เมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce มายังประเทศไทย กลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะขาดดุลกับจีนมากขึ้นและมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับ e-Commerce คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากถึง 8.8% ของภาคการผลิตไทย เครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่ม 3.5% รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าที่มีมูลค่าประมาณ 3% โดยนับรวมเป็นมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยงนี้คิดเป็นประมาณ 18% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยเริ่มเห็นทิศทางการผลิตที่ชะลอลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้การเข้ามาของ e-Commerce ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคบริการแบบเก่าคือ กลุ่มค้าปลีกมีโอกาสได้รับผลกระทบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึงประมาณ 16% ของ GDP
ไทยควรรับมืออย่างไร?
การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนอาจมีข้อดีคือ ทำให้มีการซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง แต่ก็ตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ การออกมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีน อาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
KKP Research ประเมินว่า ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง หากแต่ควรพิจารณาออกแบบมาตรการรับมือที่เหมาะสมกับสถานการณ์และหลักการในมิติดังต่อไปนี้
- Fair Competition: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม
- Quality and Standards: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่
- Strategic Industry: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่มาแข่งขันกับการผลิตในประเทศและในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่
ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่างๆ
ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดที่จะใช้ในการตั้งรับกับการแข่งขันในสมรภูมิสินค้าที่ดุเดือดมากขึ้นนี้ ก็อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้พอมีเวลาปรับตัว
แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะในตลาดนี้จำเป็นต้องแข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้า, ประสิทธิภาพในการผลิต, ความคุ้มค่า รวมไปถึงการบริการที่ตอบโจทย์และได้รับความพึงพอใจจากผู้บริโภค นับเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ, พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต, สร้างนวัตกรรม และสร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาปรับปรุงการผลิต รวมถึงการบุกเบิกตลาดใหม่
อ้างอิง: