โควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ นับเป็นรอบที่สามต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างปีนี้กับปีก่อนคือ ‘วัคซีน’ ซึ่งถือเป็น Game Changer หรือจุดเปลี่ยนที่ทั่วโลกใช้เดินหน้าสู่ชีวิตปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะชีวิตด้านเศรษฐกิจ
ประเด็นสำคัญของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มี 2 ประเด็นคือ ความหลากหลายของวัคซีนเพื่อกระจายความเสี่ยง และการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ เมื่อเหลียวมองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เราพบว่า ประเทศไทยมีการกระจายความเสี่ยงในยี่ห้อวัคซีนต่ำที่สุด เพราะผูกกับ AstraZeneca มากกว่า 90% ขณะที่การกระจายฉีดก็ไม่ได้ดีแบบโดดเด่น
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สำหรับประเทศไทย หากฉีดวัคซีนวันละ 1 หมื่นโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน 30 ปี หากวัคซีนวันละ 1 แสนโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน 3 ปี และหากฉีดวัคซีนได้วันละ 3 แสนโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน 1 ปี
ดังนั้น นอกจากการกระจุกความเสี่ยงไว้กับวัคซีนยี่ห้อเดียวแล้ว แผนการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายรัฐบาลต่อไป เพื่อให้สอดรับกับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่วางไว้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบในปีหน้า
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ