×

สุดยอดสโมสรอย่าง ‘บาร์เซโลนา’ บริหารอย่างไรให้ใกล้ ‘เจ๊ง’

22.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • บาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงที่สุดในโลก มีรายรับมากที่สุดในโลก เป็นแชมป์ลาลีกามากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่กลับประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง
  • ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้บาร์ซาต้องเสียรายได้มากถึง 154 ล้านยูโร และผลกระทบอาจจะรุนแรงไปอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้
  • รากของปัญหาในทีมบาร์ซาอยู่ที่ค่าเหนื่อยมหาศาลของผู้เล่นในทีมที่คิดเป็นสัดส่วน 69% ของรายจ่าย และยังลงทุนมหาศาลกับผู้เล่นที่ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังได้อย่างอุสมาน เดมเบเล หรือฟิลิปเป้ คูตินโญ

หากเอ่ยชื่อบาร์เซโลนาขึ้นมา ภาพจำของแฟนกีฬาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบาร์เซโลนิสตาหรือไม่ คือสุดยอดสโมสรฟุตบอลของโลกที่มีซูเปอร์สตาร์ระดับสุดยอดมากมายเต็มทีมไปหมด มีทีมที่มีมูลค่ารวมสูงที่สุดในโลก นำมาโดยนักเตะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ราชาลูกหนัง’ และเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดตลอดกาลอย่างลิโอเนล เมสซี

 

ในสนามพวกเขาเป็นแชมป์ 7 จาก 9 ฤดูกาลหลังสุด (นับจากฤดูกาล 2009-10) และยังมีโอกาสเต็มเปี่ยมในการคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้หากลาลีกากลับมาทำการแข่งขันต่อได้อีกครั้งโดยนำจ่าฝูง มีแต้มนำหน้าเรอัล มาดริด คู่ปรับสำคัญอยู่ 2 คะแนน

 

นอกสนามพวกเขาคือสโมสรที่มีรายได้มากที่สุดในโลก โดยเพิ่งจะเฉือนคู่แค้นตลอดกาลอย่าง ‘ราชันชุดขาว’ ได้ใน Deloitte Money League สำหรับฤดูกาล 2018-19 พวกเขามีรายได้ 840.8 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22% และมากกว่าเรอัล มาดริดถึง 83.5 ล้านยูโร 

 

ยากจะเชื่อนะครับว่าสุดยอดสโมสรในระดับนี้กำลังเสี่ยงที่จะ ‘เจ๊ง’

 

และเพราะมันเชื่อได้ยาก ดังนั้น เรามาลองดูรายละเอียดกันครับว่าทำไมสุดยอดสโมสรในระดับนี้ถึงกำลังพาตัวเองไปสู่วิกฤตขนาดนั้นได้อย่างไร

 

เหตุผลแรกเลย ‘โควิด-19 ปลิดชีพ’

 

เคยได้ยินสำนวนไทยว่า ‘ยักษ์ใหญ่ล้มดัง’ ไหมครับ? ในยามปกติแล้วบาร์เซโลนา เป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสนามฟุตบอลที่เป็นชามอ่างยักษ์จุผู้ชมได้เฉียดแสนต่อนัด มีแฟนฟุตบอลจากทั่วโลกที่ต้องการมาเยี่ยมเยือนพวกเขาตลอดทุกวันทั้งปี

 

เฉพาะรายได้จากค่าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของบาร์ซาก็ทำรายได้มหาศาลถึง 58 ล้านยูโรเมื่อปีที่แล้ว รายได้ส่วนนี้มากกว่ารายได้จากค่าบัตรเข้าชมเกมของหลายๆสโมสรตลอดทั้งปีเสียอีก

 

แน่นอนว่ารายได้จากค่าเข้าชมเกมในสนามคัมป์นู ไปจนถึงรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของสโมสรรวมกันแล้วได้มากมายกว่านั้นอีกเยอะมากครับ

 

แต่รายได้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้หายไปหมดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวจาก ลา บันกัวร์เดีย ประเมินผลกระทบจากโควิด-19 นั้นทำให้บาร์เซโลนาสูญเสียรายได้ไปแล้วถึง 154 ล้านยูโร

 

ย้ำว่าแค่ไม่กี่เดือนนะครับ เพราะที่สเปนเพิ่งจะมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งนั่นหมายถึงไม่มีใครเข้ามาชมเกมที่สนามคัมป์นูได้ ไม่มีใครทัวร์พิพิธภัณฑ์ของสโมสรได้ และไม่มีใครที่จะสามารถเข้าไปละลายทรัพย์กับ ‘ซูเปอร์สโตร์’ ของสโมสรในเมืองบาร์เซโลนา (ซึ่งเพิ่งจะเปิดสาขาใหม่ที่ลารัมบลาส ถนนคนเดินที่ดังที่สุดของเมือง) และตัวเลขน่าจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่ลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย

 

สิ่งที่ทีมบาร์เซโลนารู้คือ พวกเขามีโอกาสจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีกนาน โดยเฉพาะสนามคัมป์นู ที่อาจจะไม่สามารถเปิดต้อนรับแฟนบอลกว่า 99,000 คนต่อนัดได้อีกไปอย่างน้อยสิ้นปีนี้

 

สิ่งที่บาร์เซโลนาไม่รู้คือสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไรต่อ มันอาจจะดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่มันอาจจะเลวร้ายลงซ้ำแผลเก่าเข้าไปอีก โดยเฉพาะหากมีการระบาดระลอกสองซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

 

“ความเสี่ยงของโรคระบาดในครั้งนี้ คือการที่เกมฟุตบอลเองไม่เคยหยุดนานขนาดนี้มาก่อน (แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกก็มีการแข่งขันฟุตบอลต่อเนื่อง)” ไซมอน คูเปอร์ นักประพันธ์ร่วมของหนังสือ Soccernomics ที่กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับบาร์เซโลนาออกมาเผย

 

ความน่ากลัวคือการที่แฟนบอลอาจจะชินกับ ‘ความปกติใหม่’ ในการนั่งดูฟุตบอลอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องออกไปเสี่ยงข้างนอกที่สนามฟุตบอลเหมือนเก่า

 

เรายังไม่เห็นรายงานนะครับว่าบาร์เซโลนา มีการประเมินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา และทุกสโมสรเองก็ประสบปัญหาเหมือนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสโมสรใหญ่ที่ไม่ได้มีรายได้หลักจากค่าตั๋วชมเกมเป็นหลัก เหมือนกรณีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เตรียมปรับลดการคาดการณ์รายได้ในปี 2020 ลงจากเดิมจากผลกระทบของโควิด-19 

 

แต่เดาได้เลยว่าตัวเลขนั้นมหาศาลมากพอที่จะทำให้สโมสรตกอยู่ในความเสี่ยงได้ทันที

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ารายได้มหาศาลที่สโมสรทำได้นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของทีม หากแต่เป็นเพียงแค่เครื่องช่วยหายใจที่ประคับประคองไม่ให้สโมสรต้องมีอันเป็นไปเท่านั้น

 

ปัญหาใหญ่จริงๆ ของบาร์เซโลนาคือการบริหารงานของสโมสรที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งหลังสุดในปี 2015 ที่ได้ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว เข้ามาเป็นประธานสโมสร บาร์ซากลายเป็นทีมที่อ่อนแอในเชิงของการบริหารมากที่สุด เพียงแต่มันถูกกลบด้วยความสำเร็จของสโมสรในระดับภายในประเทศ

 

การบริหารงานที่ผิดพลาดของทีมงานชุดนี้ หลักใหญ่ใจความคือเรื่องของการจัดการบุคลากรภายในทีม

 

บาร์ซา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็น ‘เจ้าบุญทุ่ม’ ที่หน้ามืดจนเข้าทำนองจ่ายเป็นแสนแต่แขนไม่ได้จับ เพราะการลงทุนในการซื้อผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ล้มเหลวเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะ อุสมาน เดมเบเล และ ฟิลิปเป้ คูตินโญ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวขั้นสูงสุด โดยทั้งคู่ถูกดึงตัวมาเพื่อทดแทนการขาดหายไปของเนย์มาร์ ที่ตัดสินใจขอไปให้พ้นเงาของเมสซีด้วยการเลือกปารีส แซงต์ แชร์กแมง 

 

อองตวน กรีซมันน์ ก็เป็นอีกหนึ่งนักเตะที่ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในแนวรุกของทีมได้สมความคาดหวัง

 

ในเวลาเดียวกัน บาร์ซาก็เป็นทีมที่มีการจ่ายเงินให้กับนักฟุตบอลสูงที่สุดด้วย โดยค่าเฉลี่ยของรายได้ในทีมอยู่ที่ 11 ล้านยูโรต่อคนต่อปี 

 

สัดส่วนของรายจ่ายเรื่องค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลต่อรายได้ของสโมสรอยู่ที่ 69% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับทีมคู่แข่งอย่างเรอัล มาดริด ที่สัดส่วนรายจ่ายค่าเหนื่อยต่อรายรับอยู่ที่ 52%

 

หากเจาะลงไปในเรื่องค่าเหนื่อยมหาศาลที่สโมสรแบกรับนั้น ส่วนใหญ่มาจากนักฟุตบอลอายุมากที่มีค่าเหนื่อยสูงอย่างเช่น อาร์ตูโร วิดัล หรือ อิวาน ราคิติช ซึ่งบาร์ซาพยายามที่จะปล่อยตัวออกจากสโมสรมานานแต่ทำไม่สำเร็จ และยิ่งแย่ตรงที่กองกลางวัย 32 ปีไม่พอใจต่อการปฏิบัติของสโมสร และต้องการจะอยู่ในคัมป์นูต่อไปจนครบสัญญาในปี 2021

 

ตรงนี้เป็นจุดที่สะท้อนถึง ‘กึ๋น’ ของผู้บริหารที่ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้

 

แต่ก็มีจุดที่น่าเห็นใจอยู่ตรงที่ผู้บริหารชุดนี้ไม่มีอำนาจมากพอที่จะควบคุมนักฟุตบอลอย่างเมสซี ซึ่งใหญ่กว่าสโมสรได้ ปัญหาที่ผ่านมาคือบาร์ซาต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อรั้งตัวนักฟุตบอลที่เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรเอาไว้

 

มีการเปิดเผยว่าเมสซีมีสัญญาแบบการันตีเงินรายได้จากบาร์ซาจำนวนปีละ 106 ล้านยูโรเป็นระยะเวลา 4 ปี ในสัญญาฉบับล่าสุดที่ทำไว้เมื่อปี 2017

 

เงินที่ต้องจ่ายให้เมสซีนั้นคิดเป็น 40% ของรายจ่ายค่าเหนื่อยของสโมสร และมีโอกาสที่รายจ่ายจะสูงเพิ่มขึ้นอีกหากมีการต่อสัญญาฉบับใหม่

 

คิดแบบง่ายๆ บาร์ซามีโอกาสจะแก้ปัญหาด้วยการขายเมสซีออกจากทีม ซึ่งนอกจากจะได้เงินมหาศาลกลับคืนมาอย่างน้อย 200 ล้านยูโรขึ้นไป (เพราะต้องทำลายสถิติโลกเท่านั้น) พวกเขาจะลดรายจ่ายลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง สโมสรจะหายใจหายคอคล่องขึ้นอีกเยอะ

 

แต่จะทำจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น ซึ่งผมชอบมากครับกับความเห็นของ ซานติ กิเมเนซ  นักข่าวสเปนท่านหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้

 

“ถ้าสโมสรปล่อยให้เมสซีไป เขาจะได้รับการต้อนรับเสมอเมื่อกลับมาที่บาร์ซา แต่ผู้บริหารคนที่ปล่อยให้เขาย้ายออกไปนั้น อย่าว่าแต่จะต้องย้ายหนีออกจากบาร์ซาเลย พวกเขาต้องไปให้ไกลจากยุโรปด้วยซ้ำ”

 

สิ่งที่บาร์ซาทำคือการขอลดค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลลงชั่วคราว 72% ในระหว่างที่ยังพักการแข่งขัน (ซึ่งผู้บริหารก็ดันไปมีปัญหากับเมสซีและนักเตะในทีมอีก) และอาจจะมีการขอลดค่าเหนื่อยในระยะยาวหากปัญหาโควิด-19 ยังดำเนินต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่บาร์ซาจะขอปรับสัญญาค่าเหนื่อยของผู้เล่นใหม่ หากรายรับของสโมสรลดลงถึง 30%

 

นอกจากนี้สโมสรยังมีหนี้สินอีกเพียบ โดยตัวเลขที่เปิดเผยอยู่ที่ 460 ล้านยูโร แต่มีรายงานว่าหนี้สินอาจจะสูงกว่านั้นเกือบ 2 เท่าที่ 888 ล้านยูโร ซึ่งเรื่องนี้โจเซ ฟอนต์ หนึ่งในผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานสโมสรบอกว่า เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจได้ว่าทำไมสโมสรอย่างบาร์เซโลนา จึงไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขอย่างโปร่งใสได้ ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาถึงระบบและโครงสร้างของสโมสรแล้วทุกอย่างควรจะโปร่งใส

 

โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หนี้สินที่สูงขนาดนั้นมาจากโปรเจกต์ของการปรับปรุงสนามคัมป์นู ภายใต้โปรเจกต์ที่ชื่อว่า Espai Barca 

 

เล่ามาทั้งหมดนี้น่าจะพอเห็นภาพนะครับว่า ทำไมบาร์เซโลนาถึงถูกมองว่าใกล้เจ๊ง ซึ่ง ‘ราก’ ของปัญหาเกิดจากการบริหารงานที่ไม่รัดกุม และมีประสิทธิภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมาเจอมหาพายุโควิด-19 พัดถล่มจนหลังคาคัมป์นูแทบจะปลิวขึ้นไปบนอวกาศ

 

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญอย่างคูเปอร์ยังเชื่อว่า สโมสรในระดับบาร์ซาต่อให้เจอกับวิกฤตขนาดนี้ พวกเขายังน่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ครับ

 

ต่อให้สโมสรล้มละลายก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีหลายสโมสรที่เคยล้มละลาย แต่ยังดำเนินกิจการต่อได้ด้วยการตั้งบริษัทใหม่เข้ามาบริหารสโมสรเดิม (ง่ายๆ แบบนั้นเลย!) เหมือนซาลามังกา สโมสรเล็กๆ ในสเปน ที่ยุบสโมสรแล้วก็ตั้งสโมสรใหม่ทันทีในปี 2013 หรือฟิออเรนตินาที่ล้มละลาย แต่ก็ตั้งบริษัทใหม่มาสวมในปี 2002 และยังอยู่ดีถึงทุกวันนี้

 

บาร์ซาไม่ได้เป็นเพียงแค่สโมสร แต่พวกเขาคือ ‘สถาบัน’ เหมือนดังสโลแกนของสโมสร ‘Més que un Club’ การล่มสลายของบาร์ซาจึงเป็นเรื่องที่คนคาตาลันจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นเด็ดขาดครับ

 

เพียงแต่พวกเขาจะเอาตัวรอดในวิกฤตอย่างไร จะรอดด้วยลำแข้งตัวเอง หรือต้องให้คนอื่นมาต่อเครื่องช่วยหายใจ ตรงนี้ก็ต้องติดตามกัน

 

นำมาเล่าต่อเพื่อร่วมถอดบทเรียนไปด้วยกันนะครับ 

 

ขนาดสโมสรใหญ่อย่างบาร์ซายังอาการหนักขนาดนี้ ใครมีธุรกิจคงต้องคิดเยอะหน่อย เหนื่อยหนักหน่อยเพื่อประคองตัวให้พ้นวิกฤต ‘สงครามโรค’ ครั้งนี้ไปให้ได้

 

ไม่ไหวก็ต้องบอกไหวครับ 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

อ้างอิง:

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising