เมื่อวันที่ 17 มกราคม ทางการจีนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ GDP ในปี 2023 ทั้งปี เศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.2% จึงชัดเจนว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไป ไม่ได้พังตามที่เล่าลือกัน และไม่จำเป็นต้องละเลงงบไปกระหน่ำอัดฉีด ‘บาซูก้าการคลัง’ หรือแจกเงินให้ประชาชนเอาไปใช้แบบฟรีๆ อย่างที่หลายประเทศชอบทำ
แล้วจีนทำได้อย่างไร?
ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ จีนไม่อัดฉีดบาซูก้าการคลัง ไม่แก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแหสะเปะสะปะ แต่จะเน้นมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศแบบมุ่งเป้า โดยยังคง ‘ยึดโยงกับเป้าหมายระยะยาว’ เช่น เป้าหมายด้านการฟื้นฟูชนบท (Rural Revitalization) และมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Development) เน้นพลังงานสะอาด
สำหรับตัวอย่างมาตรการส่งเสริมการบริโภคแบบมุ่งเป้าของรัฐบาลจีน มีดังนี้
- มาตรการส่งเสริมการซื้อและขยายการบริโภครถยนต์พลังงานใหม่ (รถยนต์ EV)
- สนับสนุนความต้องการบ้าน/ที่พักอาศัย
- กระตุ้นกิจกรรมตกแต่งบ้านและซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
- กระตุ้นการบริโภคการบริการด้านอาหาร
- กระตุ้นสร้างการบริโภคเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมระบบหยุดพักงานแบบไม่หักเงินเดือน
- ส่งเสริมการบริโภคเพื่อการบันเทิง การกีฬา งานนิทรรศการ
- เร่งขยายการบริโภคเพื่อบริการสุขภาพ
- ออกมาตรการส่งเสริมการบริโภคในชนบท
- ส่งเสริมการส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ชนบท
- ปรับปรุงระบบอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ในชนบท
- ผลักดันการส่งสินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษไปในระดับท้องถิ่น และพัฒนา ‘การท่องเที่ยวชนบท’ อย่างจริงจัง ฯลฯ
ที่สำคัญ ปี 2023 ที่ผ่านมา นายกฯ หลี่เฉียงได้ขึ้นรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนเป็นครั้งแรก จะไม่มีวันยอมให้พลาดเป้า จึงต้องการทุ่มเทสร้าง ‘ผลงานชิ้นโบแดง’ ในปีแรกให้ออกมาสวยงามเพื่อจารึกไว้
ในที่สุด ผลงานปีแรกของนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และดีกว่าเป้าหมายเล็กน้อย คือเติบโตได้ทะลุ 5.2%
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในช่วงต้นปี 2023 นายกฯ หลี่เฉียงเคยกล่าวยอมรับว่า “ไม่ง่ายที่จะให้จีนเติบโต 5% ตามเป้าหมาย แต่มั่นใจ และต้องทุ่มเทให้มากกว่าเดิม แม้จะต้องเหนื่อยกว่าเดิมเป็น 2 เท่า”
ทั้งนี้ โมเดลเศรษฐกิจจีนในยุคสีจิ้นผิง หรือ ‘สีโนมิกส์’ (Xinomics) ไม่เน้นเติบโตแบบฉาบฉวย ไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ แต่เน้นเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจตีโป่งเก็งกำไร แต่ส่งเสริมภาคเศรษฐกิจจริงที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และภาคการผลิตสินค้านวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ แนวทางสีโนมิกส์ของจีนในยุคนี้ ไม่ใช่แนวทางสู่การเป็นรัฐสวัสดิการที่เน้นการแจกเงินหรือแจกสิ่งของให้ประชาชนจนไม่ยอมทำงาน เฝ้ารอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ จนกลายเป็นการติดกับดักของรัฐสวัสดิการ (Trap of Welfarism)
สีจิ้นผิงเคยกล่าวว่า “ต้องระวังไม่ตกหลุมรัฐสวัสดิการที่เอื้อให้กลายเป็นคนขี้เกียจจนไม่ยอมทำงาน” ทุกคนจะต้องร่วมกันลงแรงทำงาน ห้ามหยุดนิ่งหรืออยู่สบายๆ ไม่ชอบงานหนัก ดังนั้น รัฐบาลจีนจะไม่ใช้วิธีละเลงงบอัดฉีดยิง ‘บาซูก้าการคลัง’ เพื่อแจกเงินให้ไปใช้แบบฟรีๆ
หากเป็นผู้ที่เดือดร้อนหรือผู้ด้อยโอกาส รัฐบาลจีนจะจัดหาบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเน้นการกระจายแบ่งปันเพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม เน้นแก้ปัญหาให้ชาวจีนในระดับรากหญ้า ผู้มีรายได้ต่ำ และคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม
ที่สำคัญ แนวทางสีโนมิกส์เน้นกระตุ้นการแข่งขันในภาคธุรกิจ ลดการครอบงำทางธุรกิจของทุนขนาดใหญ่ ภาครัฐจีนจะเปิดกว้างและส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันกันเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเปิดรับแรงกดดันจากภายนอก ภาคเอกชนจีนจึงต้องตื่นตัวและปรับตัวตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด และเอาชนะคู่แข่งจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในปีมังกร 2024 นี้ เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัญหาค้างคาอีกหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไขต่อไป ทั้งปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่จบ ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นจีนจากการใช้จ่ายเกินตัว มีการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และใช้นโยบายเร่งการเติบโตของตัวเลข GDP ในท้องถิ่นตนเองที่มากเกินไป ปัญหาธนาคารเงา รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดจนปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว เป็นต้น
ภาพ: FOTOGRIN via ShutterStock