×

ประชากรจีนอาจหดตัวระยะยาว จะส่งผลอย่างไรต่อโลกใบนี้

20.01.2023
  • LOADING...

“ตอนนี้แค่เอาตัวเองให้รอดก็ยากแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องว่าจะมีลูกเลย” 

 

เสียงจากชาวจีนคนหนึ่งที่ระบายความในใจของเธอออกมาบนแอปพลิเคชัน Weibo หลังจากที่โลกโซเชียลได้ถกเถียงกันถึงข่าวใหญ่ที่ออกมาในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า ‘จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี’ ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลสีจิ้นผิง ที่เข็นหลากนโยบายออกมาจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกกันมากขึ้น เพื่อผลักดันอัตราการเกิดให้กลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง

 

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยว่า เมื่อปี 2022 อัตราการเกิดในประเทศต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 6.77 ต่อประชากร 1,000 ราย ซึ่งลดลงจากปี 2021 ถึงราว 8.5 แสนราย ถือเป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ซัดถาโถมเข้าสู่จีน ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาแรงงานสูงวัย และเศรษฐกิจที่ยังบอบช้ำจากการใช้นโยบายสกัดโควิดที่เข้มงวดถึง 3 ปี

 

ข่าวดังกล่าวยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศการคาดการณ์ว่า อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นแชมป์ใหม่ที่แซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีนี้ ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

 

ย้อนกลับไปในอดีต ครั้งสุดท้ายที่จำนวนประชากรจีนลดลงคือปี 1961 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารที่รุนแรงและเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ จนมีประชากรหลายสิบล้านคนต้องจากโลกนี้ไป

 

แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่จีนพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ปัจจัยที่ทำให้ประชากรลดลงไม่ใช่ความอดอยากอีกแล้ว แต่เป็นเพราะหลายปัญหาสุมรวมกัน หนึ่งในนั้นก็เป็นผลพวงมาจากการที่จีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวมานานหลายทศวรรษ ประกอบกับว่าคนรุ่นใหม่ในจีนมีทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีครอบครัวที่แตกต่างไปจากในอดีต รวมถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่หยั่งรากลึกในสังคมจีน และความท้าทายในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางค่าครองชีพ ค่าเทอม และค่าเรียนพิเศษที่สูงลิบลิ่วจนทำให้ผู้ปกครองเลือดตาแทบกระเด็น

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากประชากรจีนส่อแววลดลงต่อเนื่องเช่นนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองก็เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

 

ทำไมประชากรจีนถึงลดลง

 

  • หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรจีนหดตัวลงนั้นคือ ‘นโยบายลูกคนเดียว’ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยจีนได้บังคับใช้นโยบายดังกล่าวเป็นเวลาถึง 35 ปีเต็ม หรือในช่วงปี 1980-2015 เพื่อชะลออัตราการเกิดของประชากรที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนภาคสังคมและเศรษฐกิจของจีนในขณะนั้นไม่อาจรับมือได้ทัน หากครอบครัวไหนฝ่าฝืนก็จะถูกปรับ และหลายครั้งก็เกิดกรณีที่สตรีมีครรภ์ถูกบังคับให้ทำแท้ง 

 

  • ขณะเดียวกันค่านิยมของชาวจีนสมัยก่อนที่อยากได้ลูกชายมาสืบสกุล ก็ส่งผลให้มีปัญหาการทำแท้งเพื่อเลือกเพศลูกเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย 

 

  • โดยจีนเคยเปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวสามารถป้องกันอัตราการเกิดได้ถึง 400 ล้านคน

 

  • แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเริ่มตระหนักได้ว่าการหดตัวของประชากรระยะยาวอาจสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจได้ จึงมีความพยายามที่จะกระตุ้นอัตราการเกิดให้มากขึ้น โดยในปี 2015 ทางการให้ได้อนุญาตให้คู่สามี-ภรรยาสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้ และต่อมาในปี 2021 เป็นอีกครั้งที่จีนได้ประกาศนโยบายให้คู่รักมีลูกคนที่ 3 ได้ พร้อมกับชุดมาตรการจูงใจต่างๆ มากมาย เช่น การลดหย่อนภาษีจากการมีลูก การให้เงินอุดหนุนลดต้นทุนที่อยู่อาศัย การคุมเข้มติวเตอร์ไม่ให้แสวงหากำไร และนโยบายในระดับเมืองหรือมณฑลอีกหลายขนาน แต่ถึงเช่นนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถโน้มน้าวให้คนอยากมีลูกได้มากนัก

 

  • ปัญหาหลักๆ เลยคือ ค่าครองชีพในจีนสูงลิบลิ่ว ส่วนค่าเทอมของเด็กๆ ก็แพงหูฉี่ ยังไม่นับรวมการแข่งขันทางการศึกษาที่ต้องผลักดันให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนกับติวเตอร์ที่ราคาก็ไม่ได้ถูก แถมราคาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่กว้างพอจะอยู่ได้เป็นครอบครัวใหญ่ก็หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะในเขตเมือง หลายคนเจอกับปัญหาค่าจ้างที่ไม่กระเตื้องขึ้น โอกาสในการหางานที่น้อยลง แต่ชั่วโมงการทำงานยังโหดเอาเรื่องเหมือนเดิม มวลปัญหาที่เล่ามานี้จึงทำให้ชาวจีนมองว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งนั้น ทั้งยาก ทั้งแพง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมี 3 คนเลย

 

  • แรงกดทับด้านเพศก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยในสังคมจีน ผู้หญิงมักจะถูกวางบทบาทให้เป็นทั้งแม่บ้านที่ต้องดูแลบ้านช่องให้เรียบร้อย รวมถึงต้องรับบทหนักในการเลี้ยงดูอบรมบุตร แต่ในโลกสมัยใหม่ ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น รวมถึงสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาฝ่ายชาย ทำให้ผู้หญิงยุคใหม่เริ่มมีมุมมองที่ไม่อยากรับภาระที่พวกเธอมองว่าไม่เท่าเทียมกันอีกแล้ว

 

  • นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมักเจอปัญหาการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะหากแต่งงานหรือมีลูกแล้ว เพราะนายจ้างมักลังเลที่จะจ่ายเงินให้พวกเธอในช่วงลาคลอด หรืออาจมีปัญหาต้องลางานเพื่อดูแลลูก ขณะที่ผู้ชายถึงแม้จะมีลูกแล้วก็ไม่ได้เจอกับสถานการณ์เดียวกัน

 

  • อย่างไรก็ตาม ในบางเมืองและมณฑลของจีนได้เริ่มบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนอยากมีลูก เช่น การให้สิทธิลาเพื่อดูแลบุตร และขยายบริการด้านการดูแลเด็กๆ มากขึ้น แต่ถึงเช่นนั้นบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและผู้หญิงจำนวนมากต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘แค่นี้ยังไม่พอ’

 

  • ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิดก็ยิ่งทำให้อัตราการเกิดน้อยลง เนื่องจากโรคระบาดทำให้คู่รักต้องเลื่อนการแต่งงานออกไป บางคู่ต้องเลื่อนการมีลูกเพราะกังวลเรื่องของสุขภาพ รวมถึงสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงเนื่องจากโควิดทำให้หลายคนต้องตกงาน 

 

จีนต้องเจอกับอะไรบ้าง

 

  • การที่ประชากรหดตัวลงนั้นมีแนวโน้มซ้ำเติมปัญหาด้านประชากรศาสตร์ที่จีนกำลังเผชิญอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันจีนกำลังเจอกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประชากรวัยแรงงานหดตัวลง ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับคนรุ่นใหม่อย่างมาก

 

  • ปัจจุบันสัดส่วนของผู้สูงอายุอยู่ที่เกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนได้เตือนว่า ในท้ายที่สุดจีนจะลงเอยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมาแต่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 1990 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้ก็สอดคล้องกับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น

 

  • สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนกำลังมีปัญหา โดยในปี 2022 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียงแค่ 3% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี เนื่องจากทางการจีนได้สั่งล็อกดาวน์และใช้มาตรการที่เข้มงวดสกัดโควิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย

 

  • ขณะเดียวกันจำนวนแรงงานที่หดตัวลงจะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น ในช่วงเวลาที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงยกเลิกมาตรการด้านโควิดที่เข้มงวดทั้งหมด

 

  • นอกจากนี้ ระบบประกันสังคมของจีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความตึงเครียด เนื่องจากเมื่อจำนวนแรงงานลดลง จำนวนเงินสมทบที่จะเข้าระบบก็จะลดลงตามไปด้วย สวนทางกับความต้องการเงินบำนาญและสวัสดิการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรสูงอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ

 

  • ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุก็จะน้อยลงด้วย โดยปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก เนื่องจากต้องทำงานเพื่อซัพพอร์ตพ่อและแม่ตัวเอง รวมถึงไปปู่ย่าตายายอีก

 

โลกจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

 

  • ในฐานะที่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การหดตัวลงของประชากรจึงสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดังที่เราเคยเห็นจากในช่วงโควิดมาแล้ว โดยในช่วงที่เกิดโรคระบาด ปัญหาที่เกิดในจีนก็ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าและการลงทุนโลก เนื่องจากการล็อกดาวน์และการควบคุมพรมแดนทำให้ซัพพลายเชนโลกหยุดชะงักลง

 

  • เฟรเดริก นอยมันน์ (Frederic Neumann) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคาร HSBC กล่าวว่า “เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถพึ่งพากำลังแรงงานที่มีจำนวนมากและมีต้นทุนต่ำเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการเติบโตของเศรษฐกิจได้อีกต่อไป” 

 

  • โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แรงงานต้นทุนต่ำของจีนนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก เพราะแรงงานจำนวนมหาศาลเหล่านี้ทำงานในโรงงานผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งในระยะยาวนั้น ปัญหาแรงงานหดตัวจะทำให้ต้นทุนสินค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างมาก

 

  • และด้วยความที่ค่าแรงของแรงงานจีนปรับตัวขึ้น ทำให้ตอนนี้หลายบริษัทได้โยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น เวียดนาม และเม็กซิโก

 

  • ขณะเดียวกันการที่ประชากรจีนลดลงก็หมายความว่ายอดการบริโภคจากชาวจีนจะลดลงด้วย ส่งผลให้ยอดขายของแบรนด์ระดับโลกที่ขายดีในจีนมีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์ของ Apple และรองเท้าของ Nike

 

  • นอกจากนี้ เป้าหมายอันทะเยอทะยานของจีนที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เสี่ยงไปไม่ถึงฝัน

 

  • ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ประเมินเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า หากจีนไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของประชากรศาสตร์นี้ได้ ก็มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในอีก 20-30 ปีข้างหน้า และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกกับสหรัฐฯ

 

  • นอกจากนี้ จีนยังเตรียมที่จะเสียแชมป์ประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย ซึ่งขณะนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและประชากร

 

  • อี้ฟู่เสียน (Yi Fuxian) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน กล่าวว่า ในอนาคตเศรษฐกิจอินเดียอาจโตก้าวกระโดดแซงหน้าสหรัฐฯ แต่ถึงเช่นนั้นหนทางข้างหน้าก็ยังมีอุปสรรคหลายประการที่อินเดียจะต้องฝ่าไปให้ได้ โดยปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 หลังเบียดขึ้นแซงอังกฤษได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่าอินเดียจะต้องเร่งสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เพียงพอ เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า ในวิกฤตที่เกิดขึ้นก็ยังมีโอกาสสำหรับจีนอยู่บ้าง เพราะท่ามกลางปัญหาโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ การมีประชากรน้อยลงก็อาจเป็นผลดีกับประเทศมากกว่า

 

  • ปีเตอร์ คาลมุส (Peter Kalmus) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของ NASA มองว่าการที่ประชากรลดลงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป เพราะการที่ยิ่งประชากรมาก ก็จะยิ่งทำให้โลกร้อนมากกว่าเดิม และยิ่งเร่งให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

 

รัฐบาลจีนทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้

 

  • ดังที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่ารัฐบาลจีนเองก็พยายามออกนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นอัตราการเกิด เช่น เพิ่มสิทธิในการลาคลอด การลดหย่อนภาษีจากการมีลูก และให้เงินอุดหนุนลดต้นทุนที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวใหญ่ รวมถึงชุดมาตรการอื่นๆ อีกมากมายเพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกมากขึ้น

 

  • ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศเมื่อเดือนตุลาคมว่า ทางการจีนจะเดินหน้ายกระดับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาประชากร โดยจะวางระบบนโยบายที่ช่วยกระตุ้นการเกิด และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ตั้งแต่การฝากครรภ์ ไปจนถึงการคลอดบุตร การเลี้ยงดู และการศึกษา ขณะเดียวกันก็จะวางแผนกลยุทธ์ระดับชาติในการรับมือกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผ่านการพัฒนาโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนบริการต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล

 

  • ขณะเดียวกันบางเมืองและมณฑลของจีนก็ได้ออกมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดด้วย เช่น เมืองเซินเจิ้นประกาศให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่มีลูก 3 คนขึ้นไป ปีละ 6,000 หยวน จนกว่าลูกจะอายุ 3 ขวบ ส่วนครอบครัวที่มีลูก 2-3 คนในเมืองจี่หนาน สามารถรับเงินช่วยเหลือเดือนละ 600 หยวน จนกว่าลูกจะอายุ 3 ขวบ ขณะบางเมืองประกาศมอบสิทธิซื้อบ้านเพิ่มสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน

 

  • อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจีนนั้นก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยผู้เชี่ยวชาญและประชาชนหลายคนพูดตรงกันว่า จีนยังต้องปฏิรูปนโยบายอีกมาก และที่สำคัญที่สุดคือ ทางการจีนจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้ก่อน เพราะในวันนี้หลายคนยังไม่เห็นโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้

 

“เงินเดือนเราน้อยเหลือเกิน ค่าเช่าบ้านก็แพงหูดับ สภาพการเงินเราง่อนแง่น ว่าที่สามีฉันต้องทำโอทีถึงตี 3 ทุกวันจนถึงสิ้นปีนี้” ผู้ใช้ Weibo คนหนึ่งเขียนระบายความในใจ 

 

“ตอนนี้แค่เอาตัวเองให้รอดก็ยากแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องว่าจะมีลูกเลย”

 

แฟ้มภาพ: VCG/VCG via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising