×

ไม่ใช่แค่รัสเซีย! แต่ ‘จีน’ ก็กำลังทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงเช่นกัน โดยเฉพาะ ‘ปุ๋ย-เนื้อหมู-เหล็ก’ ที่ราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง

02.05.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

Peterson Institute for International Economics (PIIE) ระบุว่า ก่อนหน้านี้รัสเซียคือผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร และวิกฤตพลังงานแพง จากการทำสงครามกับยูเครน ในขณะเดียวกัน ‘จีน’ นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นผู้ผลักให้เงินเฟ้อพุ่งสูงเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าจะได้รับการพูดถึงน้อยกว่า 

 

Chad Bown และ Yilin Wang นักวิเคราะห์ของ PIIE กล่าวว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดการช็อกในภูมิภาค ทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหารทั่วโลก โดยรัสเซียได้ห้ามการส่งออกปุ๋ยไปทั่วโลก ขณะที่ยูเครนซึ่งเป็นเหมือนตะกร้าขนมปังสำหรับแอฟริกาและตะวันออกกลางก็ถูกกระทบอย่างหนัก

 

แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงสำคัญที่เกิดขึ้นจากประเทศจีนจากมาตรการคุมเข้มและการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าสำหรับปุ๋ยและเนื้อหมู ขณะเดียวกันการคุมเข้มยังรวมไปถึงเหล็ก ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก 

 

“ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ จีนทำตัวเป็นเหมือนประเทศเล็ก นโยบายของจีนมักจะส่งผลต่อตัวเอง เลือกนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยการส่งผ่านต้นทุนไปยังประเทศอื่นแทน” 

 

ในส่วนของปุ๋ย ราคาในจีนและทั่วโลกเริ่มพุ่งขึ้นตั้งแต่ปีก่อน จากความต้องการที่มากขึ้นและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น ซึ่งราคาได้เพิ่มขึ้นสูงอีกหลังจากสงครามรัสเซียและยูเครน 

 

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 จีนได้สั่งห้ามบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ส่งออก เพื่อให้แน่ใจว่าปุ๋ยจะมีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และการควบคุมยังมีมาต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นฤดูร้อน

 

“มาตรการที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปุ๋ยจากจีนลดลงอย่างมาก และทำให้ราคาปุ๋ยในจีนลดลง ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปีก่อน” 

 

สำหรับเหล็ก ราคาทั้งในจีนและทั่วโลกต่างเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนประกาศลดกำลังการผลิตในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

 

และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หน่วยงานกำกับของจีนได้ห้ามการนำเข้าเศษเหล็ก รวมทั้งเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการส่งออกและเพิ่มภาษีการส่งออกในกลุ่มเหล็ก 5 ประเภท

 

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่ามมา ราคาเหล็กในจีนต่ำกว่าช่วงก่อนจะมีมาตรการควบคุมราว 5% แต่คล้ายกับกรณีของปุ๋ย คือราคาเหล็กในประเทศอื่นๆ ยังคงสูงกว่าในจีน 

 

ทางด้านเนื้อหมู สถานการณ์ที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เมื่อประเทศจีนในฐานะผู้ผลิตเนื้อหมูราวครึ่งหนึ่งของอุปทานทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ส่งผลให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงไป 40% และทำให้ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นเท่าตัวในช่วงปลายปี 2562 ขณะที่ราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 25% หลังจากจีนนำเข้าเนื้อหมูและดึงอุปทานจากตลาดโลก 

 

“จีนได้ลดแรงกดดันต่อราคาเนื้อหมูในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยนำเข้าเนื้อหมูอย่างมากก่อนจะปิดกั้นประเทศ นโยบายนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก” 

 

รัฐบาลจีนยังได้ลดภาษีนำเข้าเนื้อหมูในปี 2563 ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเผชิญกับราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นเนื่องจากอุปทานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับของจีนได้เพิ่มกำแพงภาษีอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูกลับมาระบาดอีกครั้ง 

 

“ด้วยสถานการณ์ที่ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นทั่วโลก การเพิ่มภาษีของจีนอย่างไม่คาดคิดจะช่วยให้อุปทานทั่วโลกสูงขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบต่อราคาเนื้อหมูในประเทศอื่นได้”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising