×

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 83.8% สูงสุดในรอบ 18 ปี ถึงเวลาที่รัฐจะออกมาตรการแก้ปัญหาตรงจุดหรือยัง

01.10.2020
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ไตรมาส 2/63 หนี้ครัวเรือนไทยแตะ 83.8% สูงที่สุดในรอบ 18 ปี สาเหตุหลักเพราะ GDP หดตัวลงมากกว่ายอดเงินให้กู้ยืมที่ขยับเพิ่มขึ้น
  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยต้องมองหลายมิติ ทั้งสัดส่วนหนี้แต่ละประเภท เพราะไทยมีหนี้เพื่อกินใช้ถึง 34% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว แม้หนี้ครัวเรือนจะสูงแต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน
  • หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนปัญหาครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่อง ยิ่งต้องกู้หนี้มากขึ้น เพื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภค หนึ่งในทางแก้ต้องพึ่งมาตรการที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐให้เริ่มใช้ได้จริงและตรงจุด

ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงของไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันสองวัน แต่สั่งสมมาจากหลายปัจจัย ยิ่งเราอยู่ในวิกฤตโควิด-19 นานเท่าไร ภาพปัญหายิ่งชัดเจนขึ้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขเงินให้กู้ยืมภาคครัวเรือน หรือ ‘หนี้ครัวเรือน’ ไตรมาส 2/63 อยู่สูงถึง 83.8% ต่อ GDP และสูงสุดในรอบ 18 ปี

 

แต่หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในวันนี้มาจากไหน และเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่ 

 

สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะลุ 83.8% ธปท. แจง GDP หดตัว 

 

ข้อมูลจาก ธปท. พบว่าไตรมาส 2/63 หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ราว 13.49 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 83.8% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 18 ปี และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 80.2%

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาก มาจาก GDP ไทยที่หดตัวสูงเป็นหลัก แม้ว่ายอดเงินต้น (เงินให้กู้) จะเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ยอดเงินต้นไม่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้

 

ขณะเดียวกันช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2563 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังจะติดลบต่อไป ทำให้ ธปท. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

หนี้ครัวเรือน

ภาพ ฐานิส สุดโต

 

หนี้ครัวเรือนไทยสูง-ประเทศพัฒนาแล้วก็สูง ต่างกันอย่างไร 

 

เมื่อค้นหาข้อมูลในระดับโลก ประเทศที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร (89.5%) สหรัฐอเมริกา  (67.7%) ญี่ปุ่น (63.8%) นิวซีแลนด์ (96.9) ฯลฯ ซึ่งถ้าระดับหนี้ครัวเรือนสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 

 

ว่าง่ายๆ ถ้าคนก่อหนี้เพิ่ม และมีความสามารถในการจ่ายหนี้คืน เศรษฐกิจก็หมุนต่อไปได้ แต่ถ้าการก่อหนี้นั้นกลายเป็นหนี้เสีย ก็จะส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สถาบันการเงินอื่นๆ ฯลฯ

 

ในส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีอยู่ราว 13 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนหนี้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เมื่อดูข้อมูลจาก TMB  Analytics ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย ส่วนใหญ่ 40% เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อบ้าน แต่สัดส่วนหนี้ที่สูงไม่แพ้กันคือราว 34% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploans) ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ขณะที่ประเทศอังกฤษ สัดส่วนสินเชื่อบ้านสูงถึง 84% และมีสินเชื่อบัตรเครดิตและ Ploans อยู่ที่ราว 4% เท่านั้น ด้านสิงค์โปร์ มีสินเชื่อบ้านที่ 74% สินเชื่อบัตรเครดิตและ Ploans ที่ 3%

 

หนี้ครัวเรือน

อ้างอิง: TMB Analytics

 

จากข้อมูลนี้จะเห็นว่าไทยมีหนี้บัตรเครดิต Ploans สูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในไทยยังมี SMEs หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้วงเงินสินเชื่อ 2 ประเภทนี้เพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ โดยนายธนาคารและ Non-Bank หลายแห่งในไทยให้เหตุผลว่า คนไทยบางส่วนยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อธุรกิจ อาจเพราะเงื่อนไขเรื่องหลักประกัน หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ SMEs ยอมจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่าในการทำธุรกิจด้วย 

 

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่อาจทำให้ไทยมีหนี้ครัวเรือนเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและ Ploans สูงกว่าประเภทอื่น เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และปัจจุบันเป็นสินเชื่อในระบบที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ขณะที่สินเชื่อบ้านอาจยังไม่กระจายถึงคนไทยอย่างทั่วถึง เพราะปัจจัยเรื่องรายได้ เป็นต้น

 

ดังนั้น ทั้งตัวเลขและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจกำลังแสดงปัญหาพื้นฐานของไทยให้ยิ่งเห็นชัด

 

หนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูง 83.8% กระทบอะไรบ้าง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจุดที่ต้องจับตามองในการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนครั้งนี้ ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/63 ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 9.22 หมื่นล้านบาท มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคารรัฐ) และธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยยอดคงค้างฯ ที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจขาลง กำลังตอกย้ำภาระหนี้สูงในช่วงที่ฐานะทางการเงินและครัวเรือนอ่อนแอลงในวงกว้าง

 

และแม้ว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น บางส่วนแสดงให้เห็นว่ามีลูกหนี้รายย่อยสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ แต่ปัญหาคือกลุ่มครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่อง เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ รายได้ที่ลดลง ยิ่งทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้อาจต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อดำรงชีพ 

 

ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฉพาะระยะแรกที่สิ้นสุดลงไปแล้วมีลูกหนี้รายย่อยเข้าโครงการกว่า 11.5 ล้านบัญชี คิดเป็น 33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด และคิดมูลค่าหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วน 28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าหนี้ครัวเรือนปี 2563 มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น 88-90% ของ GDP เพราะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังหดตัว แต่สินเชื่อรายย่อยในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อยังเติบโตได้บ้าง

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องเริ่มที่ตรงไหน

 

หนทางในการแก้หนี้ครัวเรือนยังบอกได้ยากว่าจะเริ่มจากจุดไหนก่อน เพราะ ธปท. พยายามแก้ไขในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางของ ธปท. จะมุ่งเน้น 3 มิติ คือ 1. การกำกับสถาบันการเงินให้มีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกไป 2. ช่วยลูกหนี้ที่มีหนี้ล้น จึงเห็นโครงการอย่างคลินิกแก้หนี้ออกมา และ 3. การให้ความรู้ วางแผน และวินัยทางการเงินกับประชาชน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 ปีมานี้ เห็นทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ หันมาให้ ‘ความรู้ทางการเงิน’ กับประชาชนมากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังต้องดูผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายผลักดันในระยะยาว 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ทว่าหากมองให้ลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับหนี้ครัวเรือน ยังต้องดู ‘สาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้’ ว่าเกิดจากอะไรบ้าง

 

เฉกเช่นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะความสามารถในการชำระหนี้ของคนลดลง จากเศรษฐกิจชะลอตัว การตกงาน หรือรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้บางกลุ่มขาดสภาพคล่อง และบางส่วนต้องก่อหนี้เพิ่ม หากกู้ยืมหนี้ในระบบไม่ได้ อาจต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ และสร้างปัญหาด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น 

 

แต่การที่ภาครัฐจะออกมาตรการที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อาจต้องตั้งต้นด้วยคำถามว่า ภาครัฐมี ‘ข้อมูล’ ที่ชี้ปัญหา และเห็นภาพรวมปัญหาต่างๆ ที่คนไทยต้องเจอได้ชัดเจนหรือยัง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

*บทความนี้มาจากการรวบรวมข้อมูลจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมุมมองของผู้เขียน

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising