วานนี้ (6 มีนาคม) สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาเกือบ 9 ชั่วโมงในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. จำนวน 3 ฉบับ จาก 3 ผู้เสนอ 2 พรรคการเมือง
ในที่สุดสภาก็ลงมติคว่ำร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดย เซีย จำปาทอง จากพรรคก้าวไกล และรับหลักการร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ คือ ฉบับพรรคก้าวไกลที่เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน ซึ่งมีสาระสำคัญคือการเพิ่มสิทธิวันลาคลอดเป็น 180 วัน และฉบับของพรรคภูมิใจไทยซึ่งเสนอโดย วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ที่เปิดโอกาสให้แบ่งสิทธิวันลาคลอดให้คู่สมรสได้ตามสัญญาจ้าง แต่ยังคงจำนวนวันลาเท่าเดิมคือ 98 วัน
โดยร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแรกเสนอโดย เซีย จำปาทอง สส. บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล อดีตผู้ใช้แรงงาน และอดีตประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์) ซึ่งมีสาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานในหลายประเด็น
และอีกหนึ่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน สส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นปีกแรงงานของพรรค สาระสำคัญคือการให้ลาคลอดได้ 180 วัน โดยแบ่งกับคู่สมรสได้ 90 วัน
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกัน โดย วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส. สตูล ซึ่งลุกขึ้นเสนอหลักการต่อที่ประชุม สาระสำคัญคือการให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานครอบคลุมไปถึงคนงานภาครัฐที่จ้างเหมาบริการโดยให้สิทธิไม่น้อยกว่ากฎหมายแรงงาน รวมถึงขยายสิทธิวันลาคลอดให้สามารถแบ่งคู่สมรสได้ตามสัญญาจ้าง แต่ยังคงวันลาเท่าเดิมคือ 98 วัน
เซีย จำปาทอง เสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ‘ต้องไม่มีคนทำงานหนักแต่จนลง’
เซีย จำปาทอง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้เวลา 25 นาทีอธิบายหลักการของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของตนเองที่เสนอต่อสภา โดยเขาเรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ‘กฎหมายเปลี่ยนชีวิตคนทำงาน’ ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า คือการทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิตของแรงงาน
เซียกล่าวถึงค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดของประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่มีจังหวัดใดแตะ 400 บาท ซึ่งไม่พอกับการดำรงชีวิต พร้อมระบุว่า หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราแบบที่ผ่านมาคือระดับ 2-16 บาท ต้องปรับอีกอย่างน้อย 24 ครั้ง หรือราวปีละ 8 ครั้ง ถึงจะแตะ 600 บาทในปี 2570 ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้
“เพราะค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงทำให้แรงงานต้องทำงานอย่างหนัก” เซียกล่าว พร้อมกล่าวต่อว่า ปัจจุบันแรงงานหากทำงานในบริษัทใดแล้วไม่มี OT หรือค่าล่วงเวลา เขาจะลาออกไปหางานใหม่ที่มี OT เพราะปัจจุบันเพียงแค่ค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องหาเงินให้ได้มากพอมาใช้จ่ายในครอบครัว
สำหรับประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น
- การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทุกปี
- ขยายความคุ้มครองไปถึงฟรีแลนซ์ ไรเดอร์ และลูกจ้างภาครัฐ
- เปลี่ยนการจ้างงานแบบรายวันเป็นรายเดือน
- กำหนดชั่วโมงการทำงานเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และวันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน
- ลาพักร้อนได้ 10 วันต่อปี สะสมวันลาได้ไม่เกิน 1 ปี
- ห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่ากรณีใด ทั้งเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ตั้งแต่การเริ่มคัดคนเข้าทำงาน
- ลาไปดูแลครอบครัวและคนใกล้ชิดได้ไม่เกิน 15 วันต่อปี
วรรณวิภาเสนอเพิ่มสิทธิวันลาคลอด 180 วัน
วรรณวิภา ไม้สน สส. บัญชีรายชื่อ ปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอีกหนึ่งฉบับ โดยมีสาระสำคัญ 2 ข้อหลักคือ เพิ่มการครอบคลุมของกฎหมายนี้ไปถึงหน่วยงานของรัฐ และการเพิ่มสิทธิวันลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน และแบ่งสิทธิให้คู่สมรสลาได้ 90 วัน
วรรณวิภากล่าวว่า สาเหตุที่ต้องยื่นแก้ไขเพิ่มสิทธิวันลาคลอดเป็น 180 วัน ก็มาจากองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำว่าทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะจะช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตทางสมองของทารกอย่างเต็มที่ และได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม เติบโตสมวัย มีภูมิต้านทาน ลดโอกาสการติดเชื้อ และลดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
วรรณวิภากล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่จะมีการเพิ่มสิทธิวันลาคลอดก็จะมีคนออกมาแสดงความเห็นต่างๆ นานา ทั้งบอกว่าลูกจ้างหญิงจะโดนเลิกจ้าง ย้ายฐานการผลิต หรือห่วงว่าคนจะแห่กันท้อง
“การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีลูก ไม่ใช่แค่เพิ่มวันลาคลอดแล้วจะแห่กันลา แห่กันมีลูก การตัดสินใจมีลูกสักคนประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง” วรรณวิภากล่าว
ก้าวไกลประสานเสียงสนับสนุน
ตลอดระยะเวลาการเปิดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ สส. ก้าวไกลต่างอภิปรายสนับสนุน ยกเหตุผลความจำเป็นที่ต้องผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยอัตราส่วนในการอภิปรายคือ สส. พรรคฝ่ายค้าน 3 คน ก่อนสลับมา สส. พรรคฝ่ายรัฐบาล 1 คน
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยเซีย ซึ่งจะครอบคลุมแรงงานสร้างสรรค์ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกคุ้มครองตามกฎหมายนี้
ขณะที่ ศิริโรจน์ ธนิกกุล สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล อดีตไรเดอร์ อภิปรายสนับสนุนถึงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวว่า จะทำให้พี่น้องเพื่อนไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งปัจจุบันไรเดอร์ถูกมองเป็นพาร์ตเนอร์ไม่ใช่ลูกจ้าง
ด้าน สหัสวัต คุ้มคง กล่าวถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ครอบคลุมแรงงานทุกคน แม้กระทั่งลูกจ้างแม่บ้านในรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด
“เราถูกค่อนขอดว่าวิธีคิดแบบนี้คือคนขี้เกียจ คนไม่รู้จักประหยัดอดออม วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่วิธีคิดที่ใหม่” สหัสวัตกล่าว
สหัสวัตกล่าวว่า การทำงานหนักหากเราอยากสร้างฐานะหรือความมั่นคงมันควรเป็นทางเลือก ไม่ใช่ข้ออ้างกดขี่แรงงาน แล้วหากมองว่าการทำงานหนักแล้วรวย แรงงานแบกหามและชาวประมงคงเป็นเศรษฐีไปหมดแล้ว
ภูมิใจไทยประสานเสียงถล่มร่างฯ เซีย จำปาทอง มองเป็น ‘ลูกกวาดอาบยาพิษ’
สส. พรรคภูมิใจไทยหลายคนอภิปรายคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ที่นิยามว่านี่อาจเป็น ‘ลูกกวาดอาบยาพิษ’
แม้กรวีร์จะมองว่าทุกพรรคการเมืองเห็นไม่ต่างกัน เราอยากจะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิ อยากเห็นสวัสดิการของแรงงานที่ดีมากขึ้น อยากเห็นคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีมากกว่านี้
กรวีร์กล่าวว่า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยม รัฐมีหน้าที่ในการสนับสนุน ในการกำกับดูแลเพื่อที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนและเดินไปตามกลไกของตลาด เราไม่ได้อยู่ในระบบสังคมนิยมที่รัฐนั้นเป็นเจ้าของ และเป็นผู้รับผิดชอบผลกำไรหรือขาดทุนของการผลิตทั้งหมดอยู่แต่เพียงรัฐเดียว
กรวีร์ชี้แจงว่า จากที่ฟังการนำเสนอทั้งหมดแล้ว อาจฟังแล้วดูดีเป็นประโยชน์กับลูกจ้างทั้งประเทศ แต่ข้อกังวลคือสิ่งเหล่านี้อาจเป็น ‘ลูกกวาดที่อาบยาพิษ’ เพราะหากมีกฎหมายฉบับนี้ อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย SMEs ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อมาตรการเหล่านี้ออกมาจะเป็นภาระและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ถ้าผู้ประกอบการไปต่อไม่ไหวแล้วถ้าเขาต้องปิดกิจการ และหากว่ากิจการเสียหายแล้วไม่สามารถที่จะจ้างแรงงานได้เลยแม้แต่คนเดียว กรณีวีร์ตั้งคำถามว่า ‘อะไรจะเกิดขึ้น’
ขณะที่ ธนยศ ทิมสุวรรณ สส. เลย พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิแรงงานฉบับของพรรคก้าวไกล จะทำให้เหลือวันทำงานลดลง 32% จากเดิม 289 วัน เป็นเหลือเพียง 218 วัน
ธนยศระบุว่า จำนวนวันทำงานที่ลดลงนี้จะส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะต้นทุนของนายจ้างที่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตได้เท่าเดิม
เพื่อไทยแจงเหตุไม่รับร่างเพราะต้องการสร้างสมดุลทุกภาคส่วน
แม้ในช่วงการอภิปราย สส. พรรคเพื่อไทยหลายคนอภิปรายมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทว่าเมื่อลงมติ กลับลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกลที่เสนอโดยเซีย
วันนี้ (7 มีนาคม) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปรัฐบาล ชี้แจงว่าการที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเซียนั้น ผู้แทนจากพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการอภิปรายชัดเจน ว่า ร่างดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและภาคการผลิตมากขึ้น 30% และอาจส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันล้มตายลง ซึ่งจะเกิดผลในทางกลับกัน
โดยอาจสร้างผลลบทำให้พี่น้องแรงงานจำนวนมากไม่สามารถหางานได้ หรือต้องถูกเลิกจ้างแทน กฎหมายที่คาดหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงแทน
“พรรคเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนทุกภาคส่วน เรามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันและสมดุลกับทุกฝ่าย ภายใต้เป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น จะเลือกคิดเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้นไม่ได้” ชนินทร์กล่าว