การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ ในวันนี้ (28 พฤษภาคม) เป็นวันที่สองของการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563
ภาพรวมตลอดทั้งวันในวันแรก (27 พฤษภาคม) เป็นไปด้วยความราบรื่น โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการออก พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ จากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับนี้ เพราะเห็นว่าบางเรื่องไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แผนงานโครงการบางส่วนขาดความชัดเจน และการเยียวยาประชาชนยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ตลอดจนเป็นไปด้วยความล่าช้า ขณะที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ต่างอภิปรายสนับสนุนแผนงานโครงการใน พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ที่เห็นว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจให้ฟื้นตัวกลับมาได้
ขณะที่ สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยภาพรวมการอภิปราย พ.ร.ก. กู้เงินในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ว่า เป็นการอภิปรายภาพรวมคร่าวๆ ของทุกฝ่าย โดยคลาดเคลื่อนไปประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้ (28 พฤษภาคม) ต้องบริหารเวลาชดเชยส่วนเนื้อหาสาระของการอภิปรายนั้น รู้สึกพอใจ แต่ยังไม่มีประเด็นอะไรที่โดดเด่น ขณะที่การชี้แจงของรัฐบาลยังไม่มีเนื้อหาอะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้รับรู้มากขึ้น เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานแนบท้ายที่ให้ข้าราชการชี้แจงแทน จึงขอฝากไปยังรัฐบาลให้ใช้เวลาที่เหลืออธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น การฟื้นฟูการเกษตรแหล่งน้ำ โดยตอบเพียงว่าได้ทำแล้ว ซึ่งยังไม่พอ ต้องตอบให้ได้ว่าทำได้ผลอย่างไรบ้าง
สุทินระบุว่า สมาชิกหลายคนสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการบริหารงบประมาณตาม พ.ร.ก. ซึ่งจะรายงานต่อสภาฯ ปีละครั้ง แต่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุก 3 เดือน ซึ่งแปลกใจว่าเหตุใดจึงไม่รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาเช่นเดียวกับการรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ ต้องขอความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีที่โครงการของรัฐบาลไม่ใช้ระบบ E-Bidding ในการจัดซื้อจัดจ้างเจตนาเปิดช่องทุจริตหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันการทุจริตในส่วนนี้
ขณะที่บรรยากาศเวลานี้ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงรัฐมนตรีบางส่วน ได้ทยอยเดินทางมายังอาคารรัฐสภาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจคัดกรองบุคคลที่จะเข้าภายในอาคารรัฐสภา การจัดที่นั่งเว้นระยะห่างในห้องประชุมของสมาชิก และการลดจำนวนผู้ติดตามของ ส.ส.
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum