×

ก้าวไกลค้านงบฯ ซื้อปืน-อาวุธสงคราม 7,000 กระบอกให้ตำรวจ ยกผลศึกษาสหรัฐฯ อาวุธในมือยิ่งมาก ยิ่งมีแนวโน้มใช้กับประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
21.08.2021
  • LOADING...
house-of-representatives-meeting-210864

วันนี้ (21 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 2 วันที่สี่ งบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในมาตรา 27 โครงการจัดซื้ออาวุธสงครามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 โครงการ ได้แก่ ปืนเล็กสั้น 1,000 กระบอก ปืนเล็กยาว 2,000 กระบอก และปืนกลมือ 4,000 กระบอก รวมทั้งสิ้น 7,000 กระบอก 

 

“ในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบจากการสะสมอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่า นอกจากไม่ช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมแล้ว ยังมีแนวโน้มการใช้อาวุธสงครามและความรุนแรงกับประชาชน 

 

“สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าตำรวจสะสมอาวุธสงครามมากเกินไป จนเหมือนเป็นกองทัพเสียเอง และขึ้นชื่อเช่นกันในเรื่องของตำรวจทำร้ายประชาชน โดยสหรัฐฯ ซื้ออาวุธสงครามสำหรับตำรวจทั้งประเทศในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 78,000 กระบอก คิดเป็น 24 กระบอกต่อ 100,000 ประชากร หันมาดูรัฐบาลประยุทธ์ในช่วงปี 2561-2563 พบว่า ซื้ออาวุธสงครามให้ตำรวจไปแล้วจำนวน 73,000 กระบอก หากรวมอีก 7,000 กระบอกในปีนี้จะเป็น 80,000 กระบอก คิดเป็น 116 กระบอกต่อ 100,000 ประชากรเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ จึงสรุปได้ว่า ตำรวจไทยสะสมอาวุธสงครามมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า ด้วยระยะเวลาที่เร็วกว่า 5 เท่า โดยมีจำนวนการซื้ออาวุธมากกว่าถึง 25 เท่า” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การซื้ออาวุธสงครามสำหรับบางหน่วยถือว่ามีความจำเป็นจริง เช่น หน่วย SWAT แต่ที่เป็นปัญหาคือ จะเห็นว่าในปี 2553-2556 มีจำนวนการซื้ออาวุธสงครามให้ตำรวจแค่ 100 กระบอกเศษเท่านั้น เพิ่งจะมาช่วงรัฐบาลประยุทธ์ หรือหลังปี  2561 เป็นต้นมา ที่มีการซื้อเพิ่มมากกว่าเดิมถึง 632 เท่า ราวกับจะตั้งกองทัพให้ตำรวจ โดยความจำเป็นในการจัดซื้อยังเป็นคนละส่วนกับที่มีการจัดซื้อของหลายหน่วยงานไปแล้ว เช่น การซื้ออาวุธปืนของสันติบาลเพิ่งซื้ออาวุธเมื่อปี 2561 จำนวน 280 กระบอก, กองบังคับการปราบปรามซื้ออาวุธในปี 2561 และ 2563 จำนวน 268 กระบอก, สายตรวจและปฏิบัติการพิเศษเพิ่งซื้อไป 150 กระบอกในปี 2564 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ซื้อไป 84 กระบอกในปี 2564 และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่งซื้อไป 500 กระบอกในปี 2564

 

พิจารณ์ยังชี้ว่า เหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธสงครามเพิ่มอีก 7,000 กระบอก ถือว่ามากเกินไป จึงได้พยายามตัดลดตั้งแต่ในชั้นอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ โดยช่วงนั้นแม้จะตั้งงบฯ เข้ามาในปี 2564 แต่ยังไม่มีการลงนามกัน ตนจึงได้ให้ความเห็นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การตั้งงบครุภัณฑ์ต่อสิ่งที่ไม่ได้ใช้เวลาผลิตนานควรตั้งผูกพันปีเดียวก็พอ แต่โครงการนี้ตั้งงบผูกพันในลักษณะของบฯ ปี 2564 น้อยๆ เหมือนเอาเท้าแหย่ให้ได้งบฯ มาก่อน แล้วผูกพันก้อนโตในปี 2565 ที่สำคัญคือ ทั้ง 3 โครงการเดินหน้าไปรวดเร็วมาก หลังจากตั้งข้อสังเกตในอนุฯ ว่าลงนามล่าช้า ปรากฏว่าตอนนี้ได้มีการลงนามไปแล้ว จึงต้องตั้งคำถามว่า เพราะเห็นว่าถูกตรวจสอบจึงต้องรีบเพราะจะกลัวไม่ได้งบประมาณใช่หรือไม่

 

หลังจากนั้นพิจารณ์จึงได้เปิดคลิปเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของชุดควบคุมฝูงชนที่ตั้งด่านตรวจสอบประชาชนที่ขับรถผ่านไปมา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ในคลิปเป็นภาพตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่ที่ประชาชนผ่านไปมาโดยตรง   

 

“เหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของตัวเองว่า การปล่อยให้ตำรวจครอบครองอาวุธสงครามจะยิ่งถูกนำไปใช้กับประชาชน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เหตุการณ์ดังในคลิปนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น ตำรวจไทยไม่ควรหันปืนเข้าหาประชาชนในลักษณะนี้ และไม่ควรยิงใส่ประชาชน ขอยืนยันว่า งบฯ จัดซื้อปืน 7,000 กระบอก ไม่ควรผ่านสภาในวันนี้ เพราะในวันใดที่ปืนกระบอกใดกระบอกหนึ่งใน 7,000 กระบอกนี้หันเข้าหาประชาชน ในวันนั้นเลือดจะอยู่ในมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ทุกคนที่เห็นชอบให้งบประมาณนี้ผ่านไป” พิจารณ์กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X