วานนี้ (20 สิงหาคม) กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอขอตัดลดงบประมาณกระทรวงมหาดไทยลงจากเดิม 10% เนื่องจากโครงการที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยมีมากมายที่คิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม มีความซับซ้อน ไม่มีความพร้อม และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้วิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่คือการแพร่ระบาดของโควิด เช่น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมาณในปี 2565 จำนวน 1.9 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันและโครงการใหม่ที่มีทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและการดำเนินโครงการใหม่รวม 12 โครงการ คิดเป็นงบประมาณเกือบ 150 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบฯ การศึกษาในความเป็นไปได้จำนวน 6 โครงการ 49 ล้านบาท และเพื่อดำเนินการใหม่ 6 โครงการ งบประมาณ 100 ล้านบาท แล้วก็จะกลายเป็นงบประมาณผูกพันในงบประมาณปีถัดไป หากผ่านการพิจารณางบประมาณในครั้งนี้
ดังนั้นตนจึงขอเสนอตัดงบประมาณในโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาด เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีผลการศึกษาออกมามากมายว่า ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งได้ทุกมิติ และจะส่งผลให้เกิดปัญหาในพื้นที่ข้างเคียงด้วย และท้ายที่สุดอาจจะเป็นโครงการที่ไม่มีที่สิ้นสุด และโครงการในลักษณะนี้ได้มีพี่น้องประชาชนยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองแล้วหลายคดี ซึ่งในบางคดีทางศาลปกครองได้มีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการชั่วคราวด้วย
ขณะเดียวกันบางโครงการมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกับโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว และมากไปกว่านั้นในบางโครงการยังไม่จบกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่า ท้ายที่สุดประชาชนเห็นควรว่าจะให้ดำเนินการหรือไม่ แต่กลับมีการนำเสนอโครงการเข้ามาในงบประมาณประจำปี 2565 นี้ เพื่อทำให้ผ่านการพิจารณาของสภาและให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปอ้างเพื่อดำเนินโครงการได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการมัดมือชกไปยังพี่น้องประชาชนหรือไม่ เช่น โครงการอ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีโครงสร้างป้องกันตลิ่งอยู่แล้ว จะทำให้เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนในโครงการเดิมหรือไม่ คณะกรรมาธิการวิสามัญจะต้องตอบประเด็นเรื่องนี้ให้ได้
ทั้งนี้ ในอีกหลายโครงการที่ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย แต่ได้มีการเสนอของบประมาณเข้าสู่สภาแล้ว เรื่องนี้ก็จะต้องได้รับคำอธิบายด้วย เช่น โครงการบ้านผาแดง หาดทรายรี, โครงการบางกะไชย แหลมสิงห์ และโครงการอ่าวดงตาล สัตหีบ ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้เพิ่งจะมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะถือเป็นโครงการที่ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการหรือไม่
นอกจากนั้นกัญจน์พงศ์ได้ยกตัวอย่างโครงการท่าขึ้น ท่าศาลา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า บริเวณดังกล่าวแทบจะไม่มีบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนอาศัยอยู่เลย มีเพียงหาดทรายและถนนเท่านั้น ท่านจะนำโครงการก่อสร้างกำแพงกัดเซาะชายฝั่งที่มีมูลค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท ไปปกป้องถนนที่มีค่าก่อสร้างเพียงกิโลเมตรละ 80 ล้านบาท ทั้งที่เบี้ยผู้สูงอายุของประเทศไทยในขณะนี้ได้เพียงเดือนละ 600 บาท หรืออาหารกลางวันที่เด็กและเยาวชนได้เพียงมื้อละ 21 บาท
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกัดเซาะชายฝั่งที่มีมูลค่า 100 ล้านบาทกับโควิด เราจะสามารถจัดซื้อวัคซีน Pfizer โดสละ 422 บาท ได้กี่โดส, จัดซื้อชุดตรวจ ATK ชุดละ 67 บาท ได้หลายชุด, ยาฟาวิพิราเวียร์เม็ดละ 125 บาท ที่ผู้ป่วย 1 เคส ต้องใช้ยา 50 เม็ด เคสหนึ่งใช้เงิน 6,250 บาท จะสามารถช่วยชีวิตคนได้ 16,000 คน
กัญจน์พงศ์กล่าวด้วยว่า ตนมีความกังวลในโครงการที่ไม่ได้จัดทำ EIA ในโครงการจัดทำกำแพงกัดเซาะชายหาดที่ได้รับข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2556 จากนั้นจึงเป็นการระบาดในหมู่การจัดทำกำแพงกันคลื่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานผลการศึกษา ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ชะลอโครงการในลักษณะนี้ออกไปก่อน เพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2556 และเพื่อให้โครงการในลักษณะนี้จะต้องผ่านการจัดทำ EIA ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการอภิปรายของกัญจน์พงศ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันชูแผ่นกระดาษที่มีข้อความว่า ‘กำแพงกันคลื่น ต้องทำ EIA’ #ปกป้องหาดดอนทะเล กลางห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่วันนี้ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในมาตรา 22 งบประมาณในส่วนของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานในกำกับ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส. จังหวัดลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายถึงการขอปรับลดงบประมาณกระทรวงแรงงาน ต่อมา นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นประท้วง โดยขอให้อภิปรายอยู่ในขอบเขตวาระที่ 2 ขณะเดียวกันได้ประท้วงประธานในที่ประชุมขณะนั้นคือ สุชาติ ตันเจริญ ให้ควบคุมการอภิปรายให้อยู่ในขอบเขต
จากนั้นอุบลศักดิ์ได้เสนอญัตติให้นับองค์ประชุม โดยมี ส.ส. รับรองตามข้อบังคับการประชุม โดยอุบลศักดิ์กล่าวว่า ตลอดทั้งวันในการพิจารณางบประมาณในวันที่สองนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันอยู่ประชุมพิจารณางบประมาณให้ครบองค์ประชุม ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ แต่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล กลับไม่อยู่เป็นองค์ประชุม จึงขอเสนอนับองค์ประชุม
สุชาติจึงขอให้อุบลศักดิ์ถอนญัตติในการเสนอให้นับองค์ประชุม และ วีรกร คำประกอบ ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นขอให้ประธานในที่ประชุมทำหน้าที่ไกลเกลี่ย เพื่อไม่ให้มีการนับองค์ประชุมและนำไปสู่การปิดประชุม
จากนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้ประธานพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที ก่อนประธานจะสั่งพักการประชุมในเวลาต่อมา