วันนี้ (3 เมษายน) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายข้อเท็จจริงในหัวข้อ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ซึ่งได้เซ็นสัญญากันไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562
สุรเชษฐ์กล่าวว่า โครงการนี้เอกชนได้สัมปทานในรูปแบบ PPP Net Cost มีกรอบเวลา 50 ปี โดยรัฐและเอกชนร่วมกันลงทุน มีการแบ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาของแต่ละฝ่าย โดยไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการเซ็นสัญญาแล้วรัฐจะต้องช่วยอุ้มอย่างไร้ข้อจำกัด และให้เอกชนต้องรับความเสี่ยงจากสิ่งที่ผันแปรตามภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติของการทำธุรกิจ เช่น แม้จะมีโอกาสที่จะได้กำไรมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะขาดทุนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เนื้อหาในสัมปทานนั้นมีการผูกงานผ่าน 2 อย่าง คือ 1. งานรถไฟ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. จากสถานีพญาไทไปยังสถานีสุวรรณภูมิ (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) 2. จากสถานีพญาไทไปยังสถานีดอนเมือง 3. ส่วนต่อขยายตะวันออก จากสถานีสุวรรณภูมิไปสถานีอู่ตะเภา ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) นำมาซึ่งปัญหาต้นทุนและโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ยังเป็นปัญหาไม่จบ
- ปัญหาการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณมักกะสัน 141 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีที่ดินในอำเภอศรีราชาอีก 25 ไร่ ซึ่งคู่สัญญาหลักอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายใต้การนำของกลุ่มซีพี ซึ่งมีเม็ดเงินการลงทุนจากเอกชน 110,000 ล้านบาท และมีรัฐร่วมลงทุนอีก 160,000 ล้านบาท
การลงทุนครั้งนี้จะสร้างเม็ดเงิน และคนไทยจะรวยกันหมด แต่วันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินผ่านมาแล้ว 5 ปี แต่ยังไม่มีการปักเสา ถูกขายฝันจนเกินจริงไปมาก ซึ่งในความเป็นจริงมีการดำเนินการไปเพียงเล็กน้อย เช่น การปรับปรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงมีการเวนคืนพื้นที่โดยรัฐไปแล้ว 6,787 ล้านบาท
แต่ไฮไลต์นั้นอยู่ที่สัมปทานนี้ยังมีการเลื่อน NTP ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน โดยล่าสุดระบุไว้ว่าอยู่ในเดือนมิถุนายน 2567 ในเงื่อนไขการออก NTP นั้นมี 3 ข้อ โดยในข้อ 3 ระบุว่า เอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ทำให้เอกชนสามารถประวิงเวลาการก่อสร้างได้ด้วยการส่งเอกสารช้าๆ ซึ่งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก็เช่นกัน ทำให้มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 5 ปี ยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เริ่มสร้าง มีความคืบหน้าเป็นศูนย์ และไม่สามารถหาคำตอบจากหน่วยงานใดได้ ตนเองจึงขอตั้งคำถามว่า นี่คือโครงการเมกะโปรเจกต์แสนล้านบาท รัฐบาลกำลังเล่นอะไรกันอยู่ ขณะนี้มีผู้ที่เดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน มีอาคารบ้านเรือนอย่างน้อย 370 หลัง ซึ่งรัฐบาลก็มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท
สุรเชษฐ์เชื่อว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างรู้ตัวดีว่าโครงการนี้มีปัญหา และอยู่ในสภาพที่ต่างคนต่างพูดไม่ออก ซึ่งเราก็สังเกตได้ไม่ยาก สัมปทานเซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2562 แต่วันนี้ยังไม่ได้เริ่มตอกเสาเข็ม มันต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ตนขอเสนอ 2 ทางเลือก ดังนี้
- เลิกกันวันนี้ เจ็บน้อยทั้งสองฝ่าย หากยอมรับว่าโครงการนี้ไม่เมกเซนส์ ไม่คุ้มค่า ยังสามารถกลับลำได้โดยไม่เจ็บเกินไป แต่หากมีการก่อสร้างจะยิ่งทำให้เจ็บหนัก
- หากยังไม่มีการล้มเลิกในวันนี้จะต้องมีคนที่เจ็บอีกมาก ทั้งผู้รับสัมปทานและภาครัฐอาจต้องฟ้องร้องไป
“หากรัฐบาลยังหลับหูหลับตาเดินต่อไปโดยไม่สนใจความคุ้มค่าของโครงการก็ขอให้นึกถึงตอม่อโฮปเวลล์ และมีโอกาสสูงที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่เราควรเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”
ทั้งนี้ สุรเชษฐ์ได้เสนอแนะจำนวน 3 ข้อ 1. รัฐบาลต้องเลิกยื้อเวลาและต้องกล้าตัดสินใจ ต้องมีเดดไลน์ และต้องออก NTP ให้จบภายในเดือนมิถุนายนนี้ 2. อย่าเอื้อประโยชน์ด้วยการแก้ไขให้เอกชนอย่างน่าเกลียด ซึ่งรัฐบาลกำลังจะแก้สัญญาเพื่อช่วยเหลือนายทุนด้วยการปรับงวดเงินเข้ากระเป๋านายทุนให้เร็วขึ้น เพราะหากบริษัทขาดสภาพคล่องเจ้าของควรจะเพิ่มทุน แต่รัฐบาลไม่ควรที่จะเทงวดเงินเพิ่ม และ 3. ขอให้ทบทวนแผนงานโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงให้ดี ควรจะพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของระบบรถไฟทางคู่และระบบมอเตอร์เวย์ที่มีแผนจะทำทั่วประเทศเช่นกัน รัฐบาลจะต้องจัดลำดับความสำคัญ อะไรที่ทำก่อนทำหลัง และแต่ละเส้นทางมีความสำคัญอย่างไร
พร้อมทั้งมีคำถามต่อคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 3 ข้อ 1. จะมีการเลื่อนออก NTP จากกำหนดการในปัจจุบันในเดือนมิถุนายน 2567 อีกหรือไม่ 2. จะมีการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมเมื่อปี 2562 อีกหรือไม่ 3. เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย รัฐบาลคิดว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ หรือแบ่งสายแบบที่ทำอยู่ปัจจุบันนั้นดีแล้ว
สุรเชษฐ์กล่าวว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เราจะได้ทราบว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ และใครคือผู้บงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นนายทุนหรือนายใหญ่ แต่ตนเองขอย้ำว่า ยิ่งยื้อยิ่งแย่ และขอให้ระวังว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้นอาจกลายเป็นค่าโง่ก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม