×

‘กรณ์’ แนะรัฐฯ ปฏิรูประบบภาษีให้ก้าวหน้า เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2019
  • LOADING...
กรณ์ จาติกวณิช

วันนี้ (18 ตุลาคม 2562) กรณ์ จาติกวณิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยแสดงความกังวลในส่วนของรายได้ ซึ่งกว่า 90% ของประมาณการรายได้รัฐบาลมาจากการเก็บภาษีจากประชาชน 

 

ซึ่งระบบภาษีในแต่ละประเทศสะท้อนค่านิยม ยุทธศาสตร์ และปรัชญาความคิดของผู้นำของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยรายได้ภาษีที่คาดการณ์ไว้คิดเป็นสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ 15-15.3% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 35% ของ GDP แต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

 

ซึ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีของไทยเทียบกับรายได้ประเทศถือว่าอยู่ในระดับคงที่ 98% รายได้ของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีฐานรายได้ของประชาชน ระบบภาษีในแต่ละประเทศต่างกัน ซึ่งสะท้อนค่านิยม ยุทธศาสตร์ ปรัชญาความคิดผู้นำประเทศ

 

ทั้งนี้ กรณ์กล่าวว่า หากนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน งบประมาณของปี 2563 ที่กำลังพิจารณานี้มีการตั้งงบโดยรวมเพื่อดูแลผู้สูงอายุไว้ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท 70% ของจำนวนนี้เป็นการดูแลประชาชนที่เป็นข้าราชการ 2 ล้านคน ซึ่งเฉลี่ยจะได้รับเงินบำนาญคนละ 20,000 บาทต่อเดือน โดยไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาล ส่วน 30% ดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ 11 ล้านคน เป็นการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เฉลี่ยจะได้รับคนละ 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ภายใน 15 ปี จะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน

 

หากจะต้องดูแลคน 20 ล้านคนด้วยราคาสินค้า ณ วันนี้ ก็จะต้องมีงบประมาณสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ามีความคิดว่าจะให้ทุกคนมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับเดียวกันจะต้องใช้งบ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเม็ดเงินภาษีรายได้ 2.9 ล้านล้าน 

 

กรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า หากเราต้องการดูแลคนสูงอายุทุกคน ก็เท่ากับว่าเราต้องเพิ่มสัดส่วนภาษีจากรายได้ของประเทศโดยรวมจาก 15% เป็น 30% ซึ่งจะยังต่ำกว่าอัตราของหลายๆ ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยทำเช่นนั้นทันทีไม่ได้ แต่สามารถตั้งไว้เป็นเป้าหมายได้ 

 

ทั้งนี้ ปัญหาของระบบภาษีของไทยคือ 98% ของรายได้โดยรวมมาจากรายได้ของประชาชน ส่วน 2% มาจากทรัพย์สิน และในยามเกษียณคนไทยมีความคาดหวังในการพึ่งรัฐบาลเป็นหลักถึง 60% ดังนั้น ความจำเป็นของรัฐบาลที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเพิ่มรายได้ภาษีนั้นมีแน่นอน

 

“ปัญหาระบบภาษี 98% มาจากรายได้ของประชาชน 2% มาจากทรัพย์สิน ซึ่งคนไทย 60% คาดหวังจะพึ่งรัฐบาลเป็นหลักในการดูแลยามเกษียณ ต่างกับคนเกาหลีที่ 60% จะดูแลตัวเอง รัฐบาลจึงควรเพิ่มรายได้ภาษีจากทรัพย์สินจากกลุ่มคนเพียง 1% ที่มีทรัพย์สินเทียบเท่าคน 66.9% ของประเทศ” กรณ์กล่าว 

 

การจัดเก็บภาษี จึงควรที่จะมาจากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น นอกจากนี้จากการประเมินพบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลแทบไม่เก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้เลย ขณะที่รัฐบาลที่แล้ว มีการผลักดันภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยภาษีนี้จะเริ่มมีการเก็บในวันที่ 1 มกราคม 2563

 

สำหรับภาษีมรดกนั้นได้เริ่มจัดเก็บมาแล้ว 3 ปี และเก็บได้จากประชาชนเพียง 200 คน หากรวมเม็ดเงินทั้งหมดจะได้เพียง 770 ล้านบาทเท่านั้น เรื่องภาษี ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ แทนที่ภาษีนี้จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยซ้ำไป ซึ่งต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

 

“ที่ผมบอกว่ามีผู้เสียภาษีมรดกไม่ถึง 200 คนนี้ อย่าลืมว่าผู้เสียภาษีนี้เป็นผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้ตาย หากนับผู้ตาย 1 คน จะมีผู้รับมรดกโดยเฉลี่ย 3-4 คน หมายความว่าเราเก็บภาษีมรดกจากผู้เสียชีวิตในรอบ 3 ปีนี้ได้เพียง 40 คน และ 40 คนนี้ไม่มีรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตไปในช่วงนั้น ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้ที่หลบไม่เป็น หรือไม่ได้รวยจริง แทนที่ภาษีนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำไป” กรณ์กล่าว 

 

สำหรับภาษีที่ดินที่รัฐจะเริ่มจัดเก็บนี้ กรณ์แสดงความกังวลว่าประชาชน และหน่วยราชการจะมีความพร้อมในการประเมินราคาที่ดินได้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นธรรม แล้วหรือยัง รัฐบาลได้ประเมินรายได้ที่จะได้จากภาษีใหม่นี้เพียง 40,000 ล้านบาท น้อยกว่ารายได้รวมของภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งภาษีที่ดินจะมาทดแทน ดังนั้นปี 2563 รายรับภาษีที่มาจากทรัพย์สินจะยังน้อยมาก ซึ่งก็จะไม่เป็นธรรม และไม่ตอบโจทย์ความต้องการระยาวของประเทศ 

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นนโยบายปฏิรูปภาษี หากรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ก็จะทำให้รายได้ของรัฐบาลสูญหายไปอีกเกือบ 1.8 แสนล้านบาท หากต้องการลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลาง มีสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ภาษีนิติบุคคล ดูได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (599 บริษัท) โดยรวม ปีที่แล้ว เสียภาษีเพียง 17.6% ของกำไร หากเพียงเราสามารถเก็บภาษีนิติบุคคลส่วนนี้ได้ตามอัตราฐาน ก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีภาษีอีกหลายชนิด เช่น ภาษีกำไร (Capital Gain Tax) เศรษฐีที่ดินควรเสียภาษีกำไรส่วนเทียบราคาขายกับราคาทุนที่แท้จริง ณ ปัจจุบันยังเสียภาษีบนราคาที่ดินที่เป็นราคาประเมิน ภาษีตลาดทุน (Transaction Tax) อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ภาษีบริษัท Big Tech ข้ามชาติ ก็มีการพูดกันมาก แต่ยังไม่เห็นประมาณการในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 

 

“สิ่งที่อยากเห็นคือแนวคิดที่จะปฏิรูประบบภาษี เพื่อเตรียมการรองรับความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเสียจากรัฐบาลจะบอกว่าระดับการดูแลประชาชนในวันนี้เพียงพอแล้ว ดีแล้ว เชื่อว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดคิดอย่างนั้น

 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาจริงกับการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคตได้” กรณ์ กล่าวในท้ายที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X