พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.33 แสนล้านบาท ว่าการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานไม่ได้สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
หากพิจารณาตามระดับ GDP ของปี 2563 ได้รับงบประมาณเท่ากับ 7.29 ต่อ GDP ขณะที่ค่าเฉลี่ยต่องบประมาณอยู่ที่ 1.3% และเมื่อพิจารณาตามอัตราการได้รับงบประมาณเฉลี่ยของกองทัพ ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับงบอยู่ที่ 2.2 ของระดับ GDP หรือคิดเป็น 12% ของวงเงินงบประมาณ แต่หลังจากที่มีภาวะปัญหาเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณลดลงตามลำดับ และต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่ได้รับเพียง 1.1 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับงบทหาร งบความมั่นคงและกลาโหมของกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าจะมีค่าเฉลี่ยสากลอยู่ที่ 2.2 ของ GDP แต่ของไทยอยู่ที่ 1.3 ต่อ GDP เท่านั้น
“ช่วงที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมไม่ได้รับงบประมาณที่สูงผิดปกติ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นปีนี้กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และซ่อมแซมรวมถึงจัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ขณะที่งบประมาณเพื่อซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์มีเฉพาะที่ปรับปรุงส่วนที่ล้าสมัย ขณะที่การซื้อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถหาชิ้นส่วนหรือซ่อมแซมได้เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพและเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 กองกำลังที่มีทั้งหมด” พล.อ. ชัยชาญ กล่าว
พล.อ. ชัยชาญ กล่าวด้วยว่ายุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีตได้รับสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และจัดหายุทโธปกรณ์บางส่วน เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปัจจุบัน อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป, รถถังบางชนิดมีอายุการใช้งาน 40-50 ปี, รถเกราะที่ใช้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 40 ปี, เครื่องบินขับไล่ F5 ที่กองทัพอากาศใช้ มีอายุการใช้งาน 41 ปี, เครื่องบินลำเลียง C130 มีอายุใช้งาน 40 ปี ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 30 ปี มียอดรวมคิดเป็น 58%
ดังนั้นในการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ชำรุด ไม่สามารถซ่อมได้ มีเพียง 1 ใน 3 ของสิ่งที่มีทั้งหมด โดยกองทัพยังเน้นการปรับปรุงและซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ต่อไป ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิดไม่ใช้แล้ว แต่จัดหาเท่าที่จำเป็นเพื่อสอดคล้องกับการใช้กำลัง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์