×

กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม ประสานเสียงขจัดความขัดแย้ง นัดถกครั้งต่อไปหาข้อสรุปนิรโทษคดี ม.112 และคดีทุจริตหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2024
  • LOADING...
กมธ.ศึกษา กฎหมายนิรโทษกรรม ประสานเสียงขจัดความขัดแย้ง นัดถกครั้งต่อไปหาข้อสรุปนิรโทษคดี ม.112 และคดีทุจริตหรือไม่

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม โดยระบุว่า วาระหลักในวันนี้เป็นการขอฟังความเห็นกรรมาธิการทุกฝ่าย เพื่อแสดงเป้าหมายในการขอนิรโทษกรรม และเพื่อให้แสดงวัตถุประสงค์สำคัญในการนิรโทษกรรมในครั้งนี้คืออะไร ซึ่งได้รับฟังเกือบครบทุกคน ยกเว้นบางคนที่ไม่ได้มา

 

โดยความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุม เป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้คือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้อย่างเห็นต่าง หากมีความเห็นต่างก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต

 

ส่วนเหตุผลรองๆ ก็เช่นเพื่อทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทุกคนเห็นว่าผลการขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2549 เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา ไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็มีผลมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น

 

เมื่อถามถึงการขอนิรโทษกรรมความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่ามีคนเสนอเรื่องนี้หรือไม่นั้น ชูศักดิ์กล่าวว่า มีความเห็นทั้งสองส่วน บางส่วนบอกว่ายังไม่ควรจะมี มีบางส่วนก็เห็นด้วย บางส่วนก็เห็นด้วยแต่มีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก จึงมีเงื่อนไขบ้าง ขณะนี้รับฟังแต่ยังไม่ได้ตัดสินลงไปว่าจะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ระบุว่า คณะกรรมาธิการจะขอเปิดรับฟังกรรมาธิการที่เหลืออีก 4-5 ท่านที่ไม่ได้มาวันนี้ และจะจัดทำเป็นข้อสรุปว่าท้ายที่สุดจะมีความเห็นออกมาอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในหลักว่าการนิรโทษกรรมจะรวมการกระทำอะไรบ้าง

 

ขณะที่แนวโน้มความเห็นจากกรรมาธิการมีความเห็นในมาตรา 112 อย่างไรนั้น ชูศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะความเห็นยังไม่สามารถจำแนกได้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข หรือออกมาในรูปแบบมาตรการที่อาจไม่ใช่การนิรโทษกรรมก็ได้ ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่องนั้น ในวันนี้พิจารณาในส่วนของวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อนำไปสู่อะไรเท่านั้น

 

ส่วนจากการเปิดรับฟังความเห็นแล้วจะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาหรือไม่นั้น ชูศักดิ์กล่าวว่า กำลังหารืออยู่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำในระดับไหน ขณะนี้ก็มีความเห็นที่เป็นข้อยุติแบบพอสมควรแล้วเช่นกัน เช่น หน้าที่ของคณะกรรมาธิการก็น่าจะเพียงเสนอหลักการเท่านั้น บางท่านก็เสนอว่าให้เป็นทางเลือกหลายๆ แบบด้วยซ้ำ ให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจ ตอนนี้กำลังดูกันอยู่ แล้วจะตัดสินใจในครั้งหน้า

 

ทั้งนี้ ชูศักดิ์ยอมรับว่าการประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับใหม่ ส่วนจะมีโอกาสที่จะทำเป็นร่างกฎหมายควบคู่กันไปหรือไม่นั้น มองว่าถ้าคิดจะยกร่างไปด้วยก็ไม่น่าจะทันกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการ 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด บางครั้งเพียงมาตราเดียวก็ใช้เวลาถึง 2 วัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X