วันนี้ (19 ตุลาคม) เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวันสุดท้ายว่า ตนรู้สึกพอใจกับการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งตนก็รับฟังทั้งหมด สิ่งไหนที่เป็นเรื่องดีก็จะนำไปบูรณาการ ทั้งนี้งบประมาณของแต่ละกระทรวงได้มากน้อยลดหลั่นกันไป ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ
เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการและนำปัญหาที่ใหญ่ที่สุดมาจัดการ บางครั้งต้องใช้งบประมาณบูรณาการ หรืองบของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ และถ้ามีปัญหาเร่งด่วนก็สามารถดึงงบกลางมาใช้ได้
ทั้งนี้งบกลางจำนวน 4 แสนล้านมองดูเหมือนจะมาก แต่ก็ใช้ในภาระต่างๆ จำนวนมาก ทั้งเรื่องเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ยังไม่รวมถึงการช่วยเหลือน้ำท่วม ซึ่งใช้งบหลายหมื่นล้าน ตลอดถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาต่างๆ
“ยืนยันว่าการใช้งบกลางไม่ได้ใช้จ่ายไปเรื่อยเปื่อย ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ทุกจังหวัดก็มีการเสนอโครงการเร่งด่วนเข้ามา ก็ต้องนำมาดูว่าสามารถปรับใช้งบประมาณตรงไหนได้บ้าง โดยเน้นในเรื่องแผนงานต่างๆ ถ้างบประมาณยังไม่เพียงพอ ก็จะนำงบกลางเติมลงไปให้”
นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ซึ่งวันนี้อาจไม่ทราบกันว่าทหารทำอะไรบ้าง เฉพาะกองทัพบกมีถึง 7 กองกำลังที่อยู่ตามชายแดน จำนวนหลายหมื่นคนที่ต้องทำงานทุกวัน ทั้งเรื่องการสกัดกั้นสินค้าผิดกฎหมาย นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ ซึ่งเราให้ความสำคัญ โดยได้แยก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมา และย้ำว่าจะต้องมีโครงการลงไปในพื้นที่
ดังนั้นการทำแผนงบประมาณครั้งนี้ เราเน้นว่าทำอย่างไรให้เกิดความทั่วถึง พื้นที่ไหนเร่งด่วนก็ทำก่อน เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้เรามีแผนงานและโครงการกว่า 2,000 โครงการ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากติดปัญหาหลักอยู่ที่งบประมาณและที่ดินของประชาชน
ซึ่งตามหลักการแล้วตนก็ยอมรับในความคิดเห็นของทุกคนว่าแต่ละคนต้องการสิ่งต่างๆ เพราะเข้าใจว่าความขาดแคลนมีเยอะ แต่ก็ทยอยดำเนินการแก้ปัญหา ขณะที่งบประมาณมีจำกัด ต้องบูรณาการจัดสรรไป ซึ่งปัจจุบันนี้ภารกิจมีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ยอมรับว่าที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้ไปกับการรักษาพยาบาล การแก้ไขปัญหาสินค้าการเกษตรมีเป็นจำนวนมาก และในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องคิดคือ เราจะหาเงินเข้าประเทศอย่างไร การลงทุนภายในประเทศของเราเองก็ติดขัดเรื่องกฎหมาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้การลงทุนหลายคนก็มาบอกว่าเอื้อประโยชน์ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะภาษีเราก็ได้มาจากเขา จึงจะต้องสนับสนุนให้มีการลงทุน ดังนั้นต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศของเราเอง โดยยึดกฎหมายทุกฉบับ
“ยืนยันว่านายกฯ ไม่มีสนิทสนมกับใคร ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น จะให้สิทธิพิเศษใครไม่ได้ ทุกอย่างต้องผ่านการประมูล ซึ่งงบประมาณตรงนี้เรามีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ก็จะไปช่วยเสริม ไปช่วยเรื่องการลงทุนอย่างต่ำ 20% ตามที่กฎหมายระบุไว้ ซึ่งเราก็จัดสรรได้มากที่สุดในขณะนี้ จะเห็นว่า 20% ตรงนี้พร้อมที่จะลงทุน ทั้งในเรื่องรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน รถไฟรางเดี่ยวในต่างจังหวัด ซึ่งต้องทำให้ทั่วถึง โดยเงินลงทุนทั้งหมดมาจากภาคเอกชน จากเดิมที่เป็นการลงทุนของภาครัฐอย่างเดียว โดยการกู้เงินก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่จำนวน 41% ซึ่งไม่น่ากังวล หากมองตัวเลขอาจจะดูน่ากลัว แต่ก็สูงตามค่า GDP ไม่อยากให้มากังวลตรงนี้ เพราะเรามีขีดความสามารถในการใช้หนี้ ในส่วนของหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ขณะที่หนี้ระยะยาวก็ผ่อนชำระไป เมื่อหาเงินได้มากขึ้น เราก็ผ่อนเงินต้น แล้วก็น่าจะกู้ใหม่ได้อีกประมาณ 19% ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้จะต้องไม่เกิน 60% ขณะที่ต่างประเทศมีหนี้สาธารณะ 200% แต่เขามีขีดความสามารถในการผ่อนชำระ รวมถึงมีอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งของเราก็กำลังจะเดินไปตรงนี้ แต่ต้องใช้เวลา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ ยังกล่าวยืนยันอีกว่า ตนไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า แต่หากมาบอกว่ารัฐบาลไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ไม่น่าจะได้ ซึ่งตนเกรงว่าประชาชนจะไม่เข้าใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างการรับรู้ของประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ หากทุกคนเรียกร้องพร้อมกันทั้งหมด ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาได้ การนำหลักการของประเทศต่างๆ มา ตนก็นำมาใช้ ตนรู้และผ่านการศึกษามา และตนก็เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง เอกสารหรือโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ ตนก็กลับมาดูว่าสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศของเราได้หรือไม่ แต่ปัญหาของประเทศเราติดอยู่ที่งบประมาณและความเข้าใจของประชาชน ปัญหาในปัจจุบันมันมีมากกว่าสิ่งที่เราคิดทำ และบางอย่างก็ติดปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งตนก็โทษใครไม่ได้
และยืนยันว่าไม่ได้ทิ้งประชาชน อย่ามาแยกแยะว่ากลุ่มนี้รวย กลุ่มนี้จน เพราะคนรวยก็มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ในขณะที่รัฐบาลก็ดูแลเรื่องการแข่งขันให้เกิดความเท่าเทียมกัน ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร และสิ่งที่ตนจะเตือนเพราะการพูดจาในสภาฯ ถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชน และบางครั้งประชาชนเขาไม่ได้รับฟังในสิ่งที่รัฐบาลชี้แจง เขาฟังสิ่งที่ฝ่ายค้านพูด ซึ่งฟังแล้วก็ดูดีหมด ในส่วนของตนก็คิดว่าดีทุกเรื่อง แต่ต้องมาดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า