หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ รายงานว่า อุณหภูมิพื้นผิวของมหาสมุทรทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ที่ทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้นกว่าเดิม
รายงานจาก Copernicus Climate Change Service (C3S) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านสภาพภูมิอากาศ เผยว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเฉลี่ยรายวันทั่วโลก (SST) อยู่ที่ 20.96 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมที่ 20.95 องศาเซลเซียส ซึ่งทำไว้เมื่อปี 2016
สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีแนวโน้มที่อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรจะร้อนขึ้นทำลายสถิติล่าสุดนี้อีก เพราะโดยปกติแล้วอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรทั่วโลกจะอุ่นที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม ไม่ใช่เดือนสิงหาคมอย่างที่เกิดขึ้น
ดร.ซาแมนธา เบอร์เกส (Samantha Burgess) จาก C3S กล่าวว่า “การที่ได้เห็นตัวเลขอุณหภูมิในระดับนี้ทำให้ฉันรู้สึกกังวลว่ามหาสมุทรจะอุ่นมากขึ้นเพียงใดในระหว่างช่วงนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า”
ทั้งนี้ การที่อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้นทำสถิติสูงสุดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่หวนกลับมาเยือนโลกอีกครั้งในปีนี้ เพราะหากดูสถิติสูงสุดครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2016 ก็เป็นปีที่โลกเผชิญกับภาวะเอลนีโญด้วยเช่นเดียวกัน แต่นอกเหนือจากเอลนีโญแล้ว นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้มหาสมุทรร้อนนั้นยังมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกรวน รวมถึงชั้นบรรยากาศโลกที่ร้อนขึ้น
“ยิ่งเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไร ความร้อนส่วนเกินก็จะถูกมหาสมุทรดูดซับไว้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามนุษย์จะต้องใช้เวลาอีกนานในการทำให้อุณหภูมิกลับมาเสถียรอย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง” เบอร์เกสกล่าว
แฟ้มภาพ: Dmitry Polonskiy Via Shutterstock
อ้างอิง: