เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (25 พฤษภาคม) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยการออกคูปองลดค่าที่พัก 40-50% โดยให้รัฐบาลอุดหนุนส่วนต่างดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการ
รายละเอียดเบื้องต้น ททท. คาดว่ามาตรการนี้จะครอบคลุมระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2563 ทั้งนี้รายละเอียดของมาตรการนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดย ททท. จะต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาอนุมัติต่อไป
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้นกลุ่มโรงแรมปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น นำโดย
- ราคาหุ้น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เพิ่มขึ้น 10.34%DoD สู่ระดับ 19.20 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เพิ่มขึ้น 8.29%DoD สู่ระดับ 23.50 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) เพิ่มขึ้น 6.25%DoD สู่ระดับ 3.40 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) เพิ่มขึ้น 5.50%DoD สู่ระดับ 2.30 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า ปิดที่ระดับ 4.80 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดมาตรการแจกคูปองส่วนลดค่าที่พักจะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มโรงแรมที่มีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในประเทศ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวในประเทศให้ท่องเที่ยวมากขึ้น
จากการสำรวจของ SCBS พบว่า ERW น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในประเทศ 90% ของรายได้รวม และมีสัดส่วนรายได้ค่าห้องพักจากนักท่องเที่ยวไทย 20% ของรายได้ค่าห้องพัก
ขณะที่ AWC มีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมไทย 60% และมีสัดส่วนรายได้ค่าห้องพักจากนักท่องเที่ยวไทย 4%, CENTEL มีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมไทย 32% และมีสัดส่วนรายได้ค่าห้องพักจากนักท่องเที่ยวไทย 18% และ MINT มีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมไทย 9% และมีสัดส่วนรายได้ค่าห้องพักจากนักท่องเที่ยวไทย 11%
ทั้งนี้ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จากทางภาครัฐเพื่อพลิกฟื้นทิศทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเชิงบวกต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น รวมถึงติดตามความชัดเจนด้านการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 3 และ 4 ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้
มุมมองระยะยาว:
SCBS ยังคงมีมุมมองเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงแรม เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรงตลอดทั้งปี 2563 และคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังคงรุนแรง
ขณะเดียวกันแม้จะเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของการคิดค้นวัคซีนป้องโรคโควิด-19 แต่ยังคงใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้จริง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
%DoD คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์