โควิด-19 ไม่ได้ทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงักหรือหลายอุตสาหกรรมถูกดิสรัปต์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เทรนด์การดูแลใส่ใจสุขภาพหรือ Wellness เข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ ทำให้หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ Wellness เพราะมั่นใจว่า Wellness จะเป็นเทรนด์สำคัญของผู้คนทั่วโลกในยุคหลังโควิด-19
เค้กก้อนโต
มาส่องตัวเลขดูมูลค่าอุตสาหกรรม Wellness ทั่วโลก จะพบว่า Wellness เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เพราะมีมูลค่าและอัตราการขยายตัวสูง โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute (GWI) ซึ่งทำวิจัยตลาด Wellness ทั่วโลก เผยตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรม Wellness ในปี 2561 ที่สูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 141.6 ล้านล้านบาท เติบโตจาก 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 132.1 ล้านล้านบาท ในปี 2560
อุตสาหกรรม Wellness ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 6.4% ต่อปีในช่วงปี 2558-2560 ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า GDP โลกถึงเกือบสองเท่า โดย GDP โลกเติบโตเพียง 3.6% ต่อปีจากตัวเลขของ IMF
เมื่อผ่าเค้กก้อนนี้ดูจะพบว่า ส่วนแบ่งตลาดที่สูงที่สุดอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Personal Care) ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม (Beauty) และผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย (Anti-Aging) โดยมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 31.4 ล้านล้านบาท
ตามมาด้วยกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) 8.28 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 26.0 ล้านล้านบาท, การกินเพื่อสุขภาพ โภชนาการและการลดน้ำหนัก 7 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 22.0 ล้านล้านบาท, Wellness Tourism 6.39 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 20.1 ล้านล้านบาท
การแพทย์เชิงป้องกัน การแพทย์ส่วนบุคคล และการแพทย์สาธารณสุข 5.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 18.1 ล้านล้านบาท, การแพทย์เสริมและแผนโบราณ 3.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 11.3 ล้านล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ด้าน Wellness 1.34 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 4.2 ล้านล้านบาท, สปา 1.19 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3.7 ล้านล้านบาท, บ่อน้ำแร่และน้ำพุร้อน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท และ Wellness ในที่ทำงาน 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท
สำหรับประเทศไทย Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2560 จาก GWI พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดนี้สูงถึง 12.5 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน
ส่วน Medical Tourism ที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลกหรือ World’s Medical Hub ผ่านการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในปี 2560-2569 นั้นก็ไม่น้อยหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคนครั้ง สร้างได้ราย 4.1 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 9,195 คน (ข้อมูลปี 2562 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
เมื่อนำตัวเลขสองตลาดนี้รวมกันเท่ากับว่า ไทยยังมีโอกาสการเติบโตของตลาด Health and Wellness Tourism อีกมาก เพราะกินส่วนแบ่งจากตลาดทั่วโลกเพียง 1% เท่านั้น
ขณะที่ชื่อเสียงของไทยติดอันดับ 6 ของโลกในด้านจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจัดอันดับโดย International Healthcare Research Center ในปี 2561 และได้คะแนนดัชนีความมั่นคงทางสาธารณสุข (Global Health Security Index) ในปี 2562 สูงสุดอันดับ 6
โรงแรมไม่พลาดเทรนด์
หลังเจอมรสุมโควิด-19 ที่ทำให้อัตราเข้าพักเหลือศูนย์ โรงแรมหลายแห่งทั้งระดับเชนใหญ่อินเตอร์และแบรนด์ไทยต่างเริ่มคิด Business Model ใหม่ โดยเพิ่มแพ็กเกจการดูแลสุขภาพเข้ามาให้บริการภายในโรงแรม หรือการนำเทคโนโลยีและติดตั้งอุปกรณ์ Telemedicine ในห้องพัก ผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อรองรับเทรนด์ Health and Wellness Tourism ที่คาดกันว่าจะเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ของโลกยุคหลังโควิด-19
มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป เจ้าของ ‘ตรีสรา ภูเก็ต’ โรงแรมหรูชื่อดังระดับโลก เป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมอีกรายที่เห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของ Wellness ทั้งในกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยกำลังพัฒนาโครงการใหม่ ‘ตรีวนันดา’ ในคอนเซปต์ Integrative Wellness Community แห่งแรกของเอเชีย ด้วยงบลงทุน 6.6 พันล้านบาท
ในเฟสแรกซึ่งจะอยู่บนเนื้อที่ 300 ไร่จากที่ดินทั้งหมด 600 ไร่ จะประกอบด้วย 3 โซนหลักคือ โซนที่พักอาศัย โดยเป็นพูลวิลล่า 70 หลัง ขายในราคา 16-108 ล้านบาท โซนรีสอร์ตเพื่อสุขภาพเป็นวิลล่าอีก 77 หลัง และโซน Wellness ที่จะเน้น Proactive Wellness เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพในอนาคต
“โซน Wellness จะมี ซู ฮาร์มสวอร์ธ (Sue Harmsworth) และ เอมี แมคโดนัลด์ (Amy McDonald) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Wellness ระดับโลกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยจะเริ่มเปิดให้บริการโปรแกรมด้านสุขภาพในเดือนกรกฎาคมนี้” กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานกรรมการบริหาร มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป กล่าว
Wellness Center จะมีบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ห้องกายภาพบำบัดที่จะทำการประเมินและรักษา แพทย์ทางเลือกด้วยวิธีการรักษาที่นำไปเสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ศูนย์สุขภาพที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาด้วยการแพทย์แบบบูรณาการ นอกจากนี้ยังมีศูนย์เจริญสติวิปัสสนา ซึ่งตั้งอยู่บนทะเลสาบสำหรับทำสมาธิ สร้างสมดุลของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
“เราจะมี Teenie Club สำหรับเด็กวัย 8-13 ปี เพื่อสร้างฐานความคิดและฝึกพัฒนาจิต รวมทั้งให้ความรู้ด้านโภชนาการกับเด็ก เพราะต้องการเน้นกลุ่มลูกค้าครอบครัว ซึ่ง Wellness Center ทั่วโลกเน้นลูกค้าที่มาใช้บริการคนเดียวหรือมาเป็นคู่เท่านั้น” กิตติศักดิ์กล่าว
อสังหาฯ โดดแจม
ด้านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็มีหลายรายเกาะเทรนด์ Wellness ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและใส่ Facilities ในโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม หรืออาคารสำนักงาน เพื่อให้การอยู่อาศัยหรือการใช้งานอาคารตอบสนองทั้งเรื่อง Wellness และเทรนด์ผู้สูงอายุ
เทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วง 2-3 ปีนี้ คือการจับมือกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อนำเสนอแพ็กเกจด้านการดูแลสุขภาพ และการร่วมทุนกับโรงพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาโครงการ Wellness
ล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา บมจ.เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จับมือกับ ดร.จุไรรัตน์ ศรีศิริ ผู้บริหารโรงเรียนเดอะแคร์การบริบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล และผู้บริหาร i Care Nursing Home สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ เปิดศูนย์ Wellness แห่งใหม่ ‘ศิริอรุณ เวลเนส’ ซึ่งเป็นสาขาที่ 3 ของบริษัท อยู่บริเวณถนนอรุณอมรินทร์ ใกล้โรงพยาบาลศิริราช
กลุ่มเป้าหมายมี 4 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่ต้องการบริการอย่างใกล้ชิด ผู้ที่รอพบแพทย์ตามนัด ผู้ที่สุขภาพดีแต่อยู่ในช่วงของการตรวจพิเศษหรือรักษาเฉพาะทาง และผู้ที่อยู่ในระยะพักฟื้น เพื่อให้ครอบครัวมีเวลาในการเตรียมความพร้อมดูแลต่อที่บ้านได้อย่างถูกต้องตามหลักทางการแพทย์
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บมจ.มั่นคงเคหะการ จับมือกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล พัฒนาโครงการ ‘รักษ’ บนพื้นที่ 200 ไร่ ใกล้คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยงบลงทุน 2 พันล้านบาท โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะเป็นผู้ให้การดูแลด้านการแพทย์ ขณะที่ไมเนอร์ฯ จะเป็นผู้บริหารที่พักอาศัยที่มีจำนวน 60 ยูนิต
ด้านบริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยเน้นที่จังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แอนด์ รีสอร์ต ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาล และรีสอร์ต บนเนื้อที่ 69 ไร่ บริเวณหาดนาใต้ จังหวัดพังงา โดยร่วมทุนกับ V Plast Medical Group ธุรกิจศัลยกรรมตกแต่งและความงาม ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.5 พันล้านบาท
โครงการประกอบด้วยโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 1 แห่ง และ 100 เตียง 1 แห่ง ศูนย์สุขภาพ โดยเริ่มจาก Anti-Ageing เป็นบริการแรกๆ โรงงานผลิตยาสมุนไพร กัญชาบำบัด เนอร์สซิ่งโฮม และโรงแรม ซึ่งมีอยู่เดิมภายใต้ชื่อนาใต้ รีสอร์ต ก่อนที่บริษัทเทกโอเวอร์โรงแรมและที่ดิน โดยบริษัทจะพัฒนาวิลล่าและบีชเฮาส์เพิ่มเติมรวมอีก 42 หลัง สำหรับผู้ซื้อและนักลงทุน
“ประเทศไทยกำลังเจอปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเตรียมฟื้นฟูด้วยการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาที่ภูเก็ตก่อน และคาดว่าจะเป็นกลุ่ม Medical Tourism เพราะเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวเป็นเงินที่เข้ามาเร็วที่สุด และการใช้จ่ายต่อหัวสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 80,000-120,000 บาท” อรรถนพ พันธุกำเหนิด CEO ซิซซา กรุ๊ป กล่าว